×

สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยคัดค้านผลพิจารณา ให้เรต ฉ 20- กับหนัง ‘หุ่นพยนต์’ ชี้ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ ใช้ดุลยพินิจไม่กี่คน

โดย THE STANDARD TEAM
09.03.2023
  • LOADING...

วานนี้ (8 มีนาคม) สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยออกแถลงการณ์เรื่องผลการพิจารณาจัดเรตภาพยนตร์เรื่อง ‘หุ่นพยนต์’ ระบุว่า จากกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม ได้มีคำสั่งให้ภาพยนตร์เรื่องหุ่นพยนต์ ของ ภณธฤต โชติกฤษฎาโสภณ ต้องตัดทอนฉากต่างๆ ออก เพื่อให้ได้รับ เรท ฉ 20- มิฉะนั้นภาพยนตร์จะถูกห้ามฉาย 

 

ซึ่งคำสั่งที่เกิดขึ้นนอกจากจะส่งผลกระทบต่อผู้สร้างภาพยนตร์ คนทำงานแล้ว ก็ยังส่งผลกับผู้ชมภาพยนตร์ทั่วไปที่ถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการชมภาพยนตร์ ด้วยคำสั่งที่มาจากดุลยพินิจของคนเพียงไม่กี่คน เพราะแม้จะมีการจัดเรตติ้งภาพยนตร์แล้ว แต่คณะกรรมการก็ยังสามารถสั่งตัดทอนเนื้อหาภาพยนตร์ และสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ได้โดยยึดดุลยพินิจของคณะกรรมการเป็นหลัก

 

สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยเห็นด้วยกับการใช้ระบบเรตติ้งภาพยนตร์ เพื่อจัดระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์สำหรับผู้ชมภาพยนตร์ตามช่วงวัย แต่สมาคมฯ ขอคัดค้านการใช้อำนาจของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในการตัดทอนเนื้อหาของภาพยนตร์และการแบนภาพยนตร์ในทุกกรณี และขอคัดค้านผลการพิจารณาภาพยนตร์ในครั้งนี้ และจะร่วมมือกับผู้ผลิตภาพยนตร์และผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘หุ่นพยนต์’ ในการคัดค้านผลการพิจารณา และดำเนินการในขั้นต่อไป

 

สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยขอเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายภาพยนตร์ จากการที่พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ไม่เพียงแต่ไม่ก่อให้เกิดการสนับสนุนวงการภาพยนตร์ไทยอย่างเป็นรูปธรรมเท่านั้น ยังเน้นเพียงแต่ให้ภาพยนตร์ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของระบบราชการ จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปกฎหมายนี้เพื่อคืนสิทธิเสรีภาพในการผลิตและรับชมภาพยนตร์ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ และเพื่อให้กฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์กับวงการภาพยนตร์และประชาชนอย่างแท้จริง

 

ทั้งนี้ วาระการพิจารณา คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม มีมติที่ประชุม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 25 และ 26 แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีมติดังนี้ 

 

ให้แก้ไขตัดทอน โดยให้ผู้ยื่นคำขออนุญาตดำเนินการดังต่อไปนี้

 

  1. ตัดฉากชื่อวัดเทพหุ่นพยนต์
  2. ตัดฉากเณรชกต่อยในผ้าเหลือง และให้มีคำหยาบคายให้น้อยลงเท่าที่จะสามารถจะทำได้
  3. ตัดฉากคลุกอาหาร เหมือนรังแกให้เด็กชื่อเต๊ะกิน
  4. ตัดฉากเณรกอดผู้หญิงในการต่อสู้ฉากหนึ่งในภาพยนตร์
  5. ตัดฉากท่องศีล (ข้อที่ 2) ในขณะที่ฆ่าคนที่ขโมยของ

 

มีข้อสังเกตว่าพระหรือเณรในเมืองไทยต้องโกนคิ้ว แต่ทั้งเรื่องไม่มีพระหรือเณรที่โกนคิ้วเลย ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X