×

ชะตากรรมชาวนาไทยจะเป็นอย่างไร หลังไม่มีโครงการรับจำนำข้าว

07.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • สถานการณ์ปัจจุบันชาวนาทำนาเพื่อประคองชีวิต การทำนามีกำไรน้อยมาก และหากต้องเช่านาด้วยก็พูดได้เลยว่าขาดทุนแน่นอน ซึ่งนับตั้งแต่ยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว (2557-ปัจจุบัน) รายได้จากการทำนาไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในครัวเรือน
  • โครงการช่วยเหลือชาวนาของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา มาตรการที่ดูเป็นรูปธรรมที่สุด คือ โครงการช่วยลดปัจจัยการผลิตให้แก่ชาวนาที่ทำนาไม่เกิน 15 ไร่ ไร่ละ 1,000 บาท โครงการนี้ชาวนาได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยที่สุด แต่มีการดำเนินการเพียงครั้งเดียวเท่านั้น นอกเหนือจากนั้นกลับไม่มีผลลัพธ์ในเชิงปฏิบัติ
  • แนวทางที่รัฐบาล คสช. พยายามพูดถึงอย่างมากคือ การปรับไปทำเกษตรอินทรีย์เพื่อลดการผลิต และเพิ่มมูลค่าข้าว แต่เมื่อเกษตรกรมีความพยายามจะปลูกเกษตรอินทรีย์ แต่ปัญหาคือ โรงสีขนาดใหญ่มักจะนำข้าวอินทรีย์ไปปนกับข้าวอื่นๆ กันหมด ขณะที่ราคาระหว่างเกษตรอินทรีย์กับเคมีก็ไม่ต่างกันมาก

     แม้เรายังไม่ทราบผลคำพิพากษาในคดีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ของ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งศาลนัดอ่านคำพิพากษาอีกครั้งในวันที่ 27 กันยายนนี้

     แต่ชัดเจนแล้วว่า ‘นโยบายรับจำนำข้าวทุกเมล็ด’ ได้ถูกปิดประตูตายไปเรียบร้อยแล้ว เพราะคงไม่มีพรรคการเมือง หรือ ผู้นำ คนใดกล้าหยิบนโยบายนี้มาใช้อีก

     คำถามสำคัญที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงนักคือ แล้ว ‘อนาคตของชาวนาไทย’ ที่อย่างน้อยพวกเขาเคยได้รับประโยชน์จากโครงการนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

     ราคาข้าวในปัจจุบันมันคุ้มทุนหรือไม่? ถ้าไม่คุ้ม แล้วทำไมไม่ไปทำอย่างอื่น? แล้วแนวทางการช่วยเหลือของรัฐบาล คสช. ช่วยชาวนาได้มากน้อยแค่ไหน?

     เราพอจะหาคำตอบได้จาก รศ.ดร. ประภาส ปิ่นตบแต่ง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ‘ชาวนานักวิชาการ’ อาจารย์ที่ใช้วันว่างเป็นเกษตรกรปลูกข้าว กับ ผศ.ดร. ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์ ที่พานักศึกษาลงพื้นที่คุยกับชาวนา นานร่วม 6 เดือน (กันยายน 2559 – กุมภาพันธ์ 2560) ตะลอนไป 8 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ ซึ่งทั้งสองท่านได้ช่วยกันนำเสนอผลการวิจัยที่งานรัฐศาสตร์เสวนา ชุดไทยศึกษากับการเมืองและสังคมไทย หัวข้อ ‘ทิศทางข้าวและชาวนา หลังยุคจำนำข้าว’ เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา

 

Photo: PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP

 

ช่วงประกัน-จำนำข้าว ชาวนาขายข้าวได้เงินเท่าไหร่ ?

     รศ.ดร. ประภาส เกริ่นก่อนว่า เราควรเข้าใจว่าชาวนาทุกวันนี้ไม่เหมือนชาวนาในอดีตอีกต่อไป ปัจจุบันมีเครื่องมือการเกษตรมากขึ้น และชาวนาปัจจุบันเขาไม่ได้ขายข้าวอย่างเดียว เขามีช่องทางทำอาชีพอื่น และเขาควรมีชีวิตที่หลากหลายได้ ไม่ใช่เป็นชาวนาแล้วต้องนั่งทำนาทั้งวัน

     รศ.ดร. ประภาส อธิบายต้นทุนการทำนา ว่าปัจจุบันการทำนาสามารถจ้างได้ทั้งหมดเกือบทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมดิน หว่านเมล็ด พ่นยา และเก็บเกี่ยว

 

     ต้นทุนการทำนา ถ้าใช้วิธีการจ้างทั้งหมด (ไม่นับรวมค่าแรงเจ้าของนา) ประมาณไร่ละ 5,500-6,000 บาท ในกรณีไม่มีที่นาเป็นของตัวเองต้องบวกต้นทุนค่าเช่านาขั้นต่ำที่ไร่ละ 1,000 บาท

     ต้นทุนการทำนา หากลงมือทำเองทั้งหมด ต้องลงทุนเครื่องมือทำนา ราว 200,000-250,000 บาท

     ทั้งนี้ ชาวนาส่วนใหญ่มักใช้วิธีผสมผสานระหว่างการจ้างและการทำเองบางส่วน เช่น จ้างตีดิน แต่ทำเทือก พ่นยา และหว่านปุ๋ยเอง แต่สำหรับการเกี่ยวข้าวไม่มีใครเกี่ยวเองแล้ว จะใช้รถเกี่ยวข้าวทั้งหมด

     การใช้วิธีจ้างส่วนหนึ่ง ทำเองส่วนหนึ่ง ช่วยลดต้นทุนลงได้ และที่สำคัญสามารถขายข้าวได้กำไร ผ่านโครงการช่วยเหลือชาวนาของรัฐบาลที่ผ่านๆ มา

     – โครงการประกันราคาข้าวของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ราคาตันละ 12,000 บาท หักค่าความชื้นและต้นทุนอื่นๆ แล้ว ชาวนาจะได้กำไรไร่ละ 2,500-3,000 บาท

     -โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ราคาตันละ 15,000 บาท หักค่าความชื้นและต้นทุนอื่นๆ แล้ว ชาวนาจะได้กำไรไร่ละ 5,000 บาท

     จะเห็นว่าในช่วงเวลาดังกล่าวชาวนามีชีวิตที่พออยู่ได้ คำนวณคร่าวๆ หากมีพื้นที่นา 20 ไร่ ก็จะมีรายได้ต่อฤดูกาลทำนาราว 100,000 บาทในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และ 60,000 บาทในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์

 

Photo: LILLIAN SUWANRUMPHA/AFP

 

ชีวิตชาวนาหลังยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว

     รศ.ดร. ประภาส กล่าวว่า ราคาข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% ตั้งแต่เดือนมกราคม 2557-พฤศจิกายน 2558 อยู่ระหว่างตันละ 7,000-8,500 บาท ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ อยู่ระหว่าง 11,500-12,700 บาทต่อตัน

     แต่ในทางปฏิบัติ การเกี่ยวข้าวสดจากนาพื้นที่ภาคกลาง ค่าความชื้นจะอยู่ที่ 25-28% ราคาข้าวต่อตันที่ชาวนาขายได้จะอยู่ที่ราวๆ 6,000 บาทเท่านั้น และจากการติดตามราคาข้าวมาจนถึงปัจจุบัน (2560) ก็พบว่าไม่ได้มีสภาพผันแปรไปจากเดิม

     รศ.ดร. ประภาส สรุปว่า สถานการณ์ปัจจุบันชาวนาทำนาเพื่อประคองชีวิต การทำนามีกำไรน้อยมาก และหากต้องเช่านาด้วยก็พูดได้เลยว่าขาดทุนแน่นอน

     ลองคิดดูว่าการให้เงินลูกไปเรียนในเมือง เฉลี่ยตกวันละ 200 บาท ซึ่งยังไม่นับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งนับตั้งแต่ยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว (2557-ปัจจุบัน) รายได้จากการทำนาไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

 

2 ปี คสช. ทุ่มเฉียด 6 แสนล้านบาท ช่วยชาวนา (ไม่ได้บ้างหรือ?)

     ไทยพับลิก้า รวบรวมข้อมูลโครงการช่วยเหลือชาวนาของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วง 2 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2558 ผ่านการให้เงินอุดหนุนโดยตรง และสินเชื่อ รวมทั้งสิ้น 591,282 ล้านบาท ในที่นี้จะขอนำมาตรการสำคัญๆ มาวิเคราะห์ว่าสามารถช่วยเหลือชาวนาได้มากน้อยแค่ไหน

     – มาตรการที่ดูเป็นรูปธรรมที่สุด คือ โครงการช่วยลดปัจจัยการผลิตให้แก่ชาวนาที่ทำนาไม่เกิน 15 ไร่ ไร่ละ 1,000 บาท โครงการนี้ชาวนาได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยที่สุด แต่มีการดำเนินการเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

     – มาตรการลดต้นทุนปัจจัยการผลิต ค่าปุ๋ย ค่าเช่านา ค่ารถเกี่ยว และค่าเมล็ดพันธุ์ ลงมาไร่ละ 432 บาท พร้อมคุมราคาเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ปรับลดลงไร่ละ 122 บาท และคุมราคาเช่ารถเกี่ยวไม่เกิน 500 บาทต่อไร่

     นโยบายนี้ไม่ได้ผลในการปฏิบัติมากนัก เช่น รถเกี่ยวราคาไม่เกิน 500 บาทอยู่แล้ว ส่วนราคาเมล็ดพันธุ์ก็ลดลงมาตามราคาข้าว ขณะที่การคุมค่าเช่านาไม่มีมาตรการบังคับชัดเจนในการปฏิบัติ โดยจากการสอบถามชาวนา ได้คำตอบว่า ราคาค่าเช่านาไม่ได้ลดลง

     – นโยบายจำนำยุ้งฉางข้าวหอมมะลิ ฤดูกาลผลิต 2559/2560 ให้ราคาจำนำอยู่ที่ 8,730 บาทต่อตัน บวกค่าฝากเก็บ 1,500 บาทต่อตัน และเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวอีกไร่ละ 500 บาท ไม่เกินรายละ 10 ไร่ ทำให้ชาวนาจะได้เงินทันทีที่เข้าโครงการ 11,525 บาทต่อไร่ นอกจากนี้ยังมีเงินสนับสนุนต้นทุนการผลิตที่เคยให้ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ จำนวน 2,591 บาท รวมเป็นเงินตันละ 14,116 บาท แต่ปัญหาคือชาวนาส่วนใหญ่ไม่มียุ้งฉางเก็บข้าว จึงไม่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้

 

Photo: STR/AFP

 

เงินช่วยเหลือจากรัฐไม่ตกถึงมือชาวนาอย่างที่คิด

     ผศ.ดร. ธนพันธ์ เปิดเผยผลการศึกษาโครงการลดต้นทุนการเพาะปลูกไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ ว่าเงินที่ชาวนาจะได้มากสุดมีแค่ 10,000 บาท แต่การจะได้มาต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร โดยอาศัย ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น เป็นตัวกลางสำคัญในการขึ้นทะเบียน

     ปัญหาที่พบในบางพื้นที่มีปัญหาความสับสนในการขึ้นทะเบียนเกษตกร โดยเฉพาะชาวนาที่เช่าที่นาอยู่นอกเขตภูมิลำเนา ทำให้ยากต่อการตรวจสอบ การได้รับเงินช่วยเหลือก็ไม่พร้อมกัน บางรายได้เร็ว บางรายได้ช้า

     ขณะที่ปัญหาสำคัญคือ ความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงโครงการช่วยเหลือจากรัฐ โดยเฉพาะชาวนาที่เช่าที่นา ต้องขอสำเนาโฉนดจากเจ้าของที่ดิน ตรงนี้จะเกิดประเด็นการต่อรอง ถ้าเจ้าของที่ดินบอกว่า จะให้สำเนาโฉนดก็ต่อเมื่อนำเงินช่วยเหลือจากรัฐมาแบ่งเจ้าของที่ดิน

     ดังนั้นในเชิงปฏิบัติ เกษตรกรที่เช่าที่ดินทำกิน ต้องแบ่งเงินกับเจ้าของที่ดิน และบางพื้นที่ถือเป็นข้อกำหนดในสัญญาเช่า ส่วนใหญ่ที่ได้ยินคือจะแบ่งกันครึ่งๆ

     กลายเป็นว่าคนที่กำหนดการนำนโยายไปฏิบัติจริง ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ แต่เป็น เจ้าของที่นา ในความคิดของรัฐบาลคือทุกคนได้คนละหมื่นเท่ากัน แต่กลายเป็นว่า นโยบายนี้ไปสร้างโอกาสให้คนที่มีฐานะดีกว่ามีอำนาจต่อรองเหนือกว่าคนที่รายได้น้อยกว่า

 

Photo: PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP

 

ทำนาไม่คุ้มทุน แล้วทำไมไม่ไปทำอย่างอื่น ?

     แนวทางที่รัฐบาล คสช. พยายามพูดถึงอย่างมากคือ การปรับไปทำเกษตรอินทรีย์เพื่อลดการผลิต และเพิ่มมูลค่าข้าว แต่จากการลงพื้นที่ ผศ.ดร. ธนพันธ์  พบความจริงว่า เมื่อเกษตรกรมีความพยายามจะปลูกเกษตรอินทรีย์ แต่ปัญหาคือ โรงสีชุมชนกำลังสีน้อย ก็ต้องนำไปสีที่โรงสีในพื้นที่ ผลปรากฏว่าโรงสีขนาดใหญ่ก็นำข้าวอินทรีย์ไปปนกับข้าวอื่นๆ กันหมด ขณะที่ราคาระหว่างเกษตรอินทรีย์กับเคมีก็ไม่ต่างกันมาก

     รศ.ดร. ประภาส กล่าวเสริมว่า การทำนาเคมี มันดำเนินมายาวนานจนลงตัวแล้วในการทำให้ต้นทุนมันต่ำ แต่นาแบบใหม่เรามีเทคโนโลยีอะไรมาสนับสนุน รวมถึงระบบตลาดที่ทำให้ส่วนต่างระหว่างข้าวอินทรีย์กับข้าวเคมีมันคุ้มค่า

     ขณะที่ชาวนามีการปรับตัว อย่าไปเข้าใจว่าเขาทำนากันอย่างเดียว ปัจจุบันชาวนาลดต้นทุนโดยการลดสัดส่วนการจ้างทำนาลงและทำเองมากขึ้น ปรับที่บางส่วนมาปลูกพืชผักล้มลุก บางส่วนปรับไปทำนากุ้ง มีบางกลุ่มไปค้าขาย ขณะที่ส่วนใหญ่เข้ามาขายแรงงาน

     “การบอกให้ลดการปลูกข้าว ไม่ได้สักแต่ไล่เขาไปปลูกหรือทำอย่างอื่น คำถามคือ รัฐได้ใส่ใจลงรายละเอียดกับการรับประกันสวัสดิการ และรายได้ของอาชีพอื่นๆ มากน้อยแค่ไหนอย่างไร การขายแรงงานมีรายได้และสวัสดิการที่ดีพอแค่ไหน ส่วนสินค้าเกษตรอื่นๆ มีราคาคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ มีตลาดรองรับหรือเปล่า

     “การปรับตัวของชาวนา มันต้องการการหนุนเสริมในมิติต่างๆ ไม่ใช่ปล่อยไปตามยถากรรม”  รศ.ดร. ประภาส กล่าว

     ประเด็นสำคัญเมื่อพูดถึงนโยบายช่วยเหลือชาวนา รศ.ดร. ประภาส มองว่า การอุดหนุนให้ชาวนามีชีวิตที่พออยู่ได้ยังเป็นสิ่งจำเป็น ประเด็นอยู่ที่ว่าเราจะเลือกวิธีการอย่างไรไม่ให้เกิดต้นทุนของการบริหารจัดการ

 

     หลังหมดยุครับจำนำข้าว และวิเคราะห์ตามแนวทางการบริหารจัดการของคสช. ชาวนานักวิชาการผู้นี้ กล่าวว่า ชาวนาที่จะรอด คือชาวนาชนชั้นกลาง กับ นาที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่

     ส่วนชาวนาระดับล่าง ก็ต้องต่อสู้ในระดับปัจเจกกันต่อไป ในขณะที่กลุ่มก้อนชาวนาก็ไม่ได้เข้มแข็ง และไม่มีเอกภาพ การทำนาจากนี้คือเพื่อประคับประคองชีวิต และดิ้นรนไปหารายได้เพิ่มจากช่องทางอื่นๆ

 

Cover Photo: PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP

อ้างอิง:

  • เอกสารประกอบการเสวนา ‘ทิศทางข้าวและชาวนา หลังยุคจำนำข้าว’ โครงการรัฐศาสตร์เสวนา ชุดไทยศึกษากับการเมืองและสังคมไทย
  • thaipublica.org/2016/11/measures-to-help-farmers-prayuth
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising