แม้เรายังไม่ทราบผลคำพิพากษาในคดีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ของ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งศาลนัดอ่านคำพิพากษาอีกครั้งในวันที่ 27 กันยายนนี้
แต่ชัดเจนแล้วว่า ‘นโยบายรับจำนำข้าวทุกเมล็ด’ ได้ถูกปิดประตูตายไปเรียบร้อยแล้ว เพราะคงไม่มีพรรคการเมือง หรือ ผู้นำ คนใดกล้าหยิบนโยบายนี้มาใช้อีก
คำถามสำคัญที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงนักคือ แล้ว ‘อนาคตของชาวนาไทย’ ที่อย่างน้อยพวกเขาเคยได้รับประโยชน์จากโครงการนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป
ราคาข้าวในปัจจุบันมันคุ้มทุนหรือไม่? ถ้าไม่คุ้ม แล้วทำไมไม่ไปทำอย่างอื่น? แล้วแนวทางการช่วยเหลือของรัฐบาล คสช. ช่วยชาวนาได้มากน้อยแค่ไหน?
เราพอจะหาคำตอบได้จาก รศ.ดร. ประภาส ปิ่นตบแต่ง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ‘ชาวนานักวิชาการ’ อาจารย์ที่ใช้วันว่างเป็นเกษตรกรปลูกข้าว กับ ผศ.ดร. ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์ ที่พานักศึกษาลงพื้นที่คุยกับชาวนา นานร่วม 6 เดือน (กันยายน 2559 – กุมภาพันธ์ 2560) ตะลอนไป 8 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ ซึ่งทั้งสองท่านได้ช่วยกันนำเสนอผลการวิจัยที่งานรัฐศาสตร์เสวนา ชุดไทยศึกษากับการเมืองและสังคมไทย หัวข้อ ‘ทิศทางข้าวและชาวนา หลังยุคจำนำข้าว’ เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา
ช่วงประกัน-จำนำข้าว ชาวนาขายข้าวได้เงินเท่าไหร่ ?
รศ.ดร. ประภาส เกริ่นก่อนว่า เราควรเข้าใจว่าชาวนาทุกวันนี้ไม่เหมือนชาวนาในอดีตอีกต่อไป ปัจจุบันมีเครื่องมือการเกษตรมากขึ้น และชาวนาปัจจุบันเขาไม่ได้ขายข้าวอย่างเดียว เขามีช่องทางทำอาชีพอื่น และเขาควรมีชีวิตที่หลากหลายได้ ไม่ใช่เป็นชาวนาแล้วต้องนั่งทำนาทั้งวัน
รศ.ดร. ประภาส อธิบายต้นทุนการทำนา ว่าปัจจุบันการทำนาสามารถจ้างได้ทั้งหมดเกือบทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมดิน หว่านเมล็ด พ่นยา และเก็บเกี่ยว
ต้นทุนการทำนา ถ้าใช้วิธีการจ้างทั้งหมด (ไม่นับรวมค่าแรงเจ้าของนา) ประมาณไร่ละ 5,500-6,000 บาท ในกรณีไม่มีที่นาเป็นของตัวเองต้องบวกต้นทุนค่าเช่านาขั้นต่ำที่ไร่ละ 1,000 บาท
ต้นทุนการทำนา หากลงมือทำเองทั้งหมด ต้องลงทุนเครื่องมือทำนา ราว 200,000-250,000 บาท
ทั้งนี้ ชาวนาส่วนใหญ่มักใช้วิธีผสมผสานระหว่างการจ้างและการทำเองบางส่วน เช่น จ้างตีดิน แต่ทำเทือก พ่นยา และหว่านปุ๋ยเอง แต่สำหรับการเกี่ยวข้าวไม่มีใครเกี่ยวเองแล้ว จะใช้รถเกี่ยวข้าวทั้งหมด
การใช้วิธีจ้างส่วนหนึ่ง ทำเองส่วนหนึ่ง ช่วยลดต้นทุนลงได้ และที่สำคัญสามารถขายข้าวได้กำไร ผ่านโครงการช่วยเหลือชาวนาของรัฐบาลที่ผ่านๆ มา
– โครงการประกันราคาข้าวของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ราคาตันละ 12,000 บาท หักค่าความชื้นและต้นทุนอื่นๆ แล้ว ชาวนาจะได้กำไรไร่ละ 2,500-3,000 บาท
-โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ราคาตันละ 15,000 บาท หักค่าความชื้นและต้นทุนอื่นๆ แล้ว ชาวนาจะได้กำไรไร่ละ 5,000 บาท
จะเห็นว่าในช่วงเวลาดังกล่าวชาวนามีชีวิตที่พออยู่ได้ คำนวณคร่าวๆ หากมีพื้นที่นา 20 ไร่ ก็จะมีรายได้ต่อฤดูกาลทำนาราว 100,000 บาทในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และ 60,000 บาทในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์
ชีวิตชาวนาหลังยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว
รศ.ดร. ประภาส กล่าวว่า ราคาข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% ตั้งแต่เดือนมกราคม 2557-พฤศจิกายน 2558 อยู่ระหว่างตันละ 7,000-8,500 บาท ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ อยู่ระหว่าง 11,500-12,700 บาทต่อตัน
แต่ในทางปฏิบัติ การเกี่ยวข้าวสดจากนาพื้นที่ภาคกลาง ค่าความชื้นจะอยู่ที่ 25-28% ราคาข้าวต่อตันที่ชาวนาขายได้จะอยู่ที่ราวๆ 6,000 บาทเท่านั้น และจากการติดตามราคาข้าวมาจนถึงปัจจุบัน (2560) ก็พบว่าไม่ได้มีสภาพผันแปรไปจากเดิม
รศ.ดร. ประภาส สรุปว่า สถานการณ์ปัจจุบันชาวนาทำนาเพื่อประคองชีวิต การทำนามีกำไรน้อยมาก และหากต้องเช่านาด้วยก็พูดได้เลยว่าขาดทุนแน่นอน
ลองคิดดูว่าการให้เงินลูกไปเรียนในเมือง เฉลี่ยตกวันละ 200 บาท ซึ่งยังไม่นับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งนับตั้งแต่ยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว (2557-ปัจจุบัน) รายได้จากการทำนาไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในครัวเรือน
2 ปี คสช. ทุ่มเฉียด 6 แสนล้านบาท ช่วยชาวนา (ไม่ได้บ้างหรือ?)
ไทยพับลิก้า รวบรวมข้อมูลโครงการช่วยเหลือชาวนาของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วง 2 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2558 ผ่านการให้เงินอุดหนุนโดยตรง และสินเชื่อ รวมทั้งสิ้น 591,282 ล้านบาท ในที่นี้จะขอนำมาตรการสำคัญๆ มาวิเคราะห์ว่าสามารถช่วยเหลือชาวนาได้มากน้อยแค่ไหน
– มาตรการที่ดูเป็นรูปธรรมที่สุด คือ โครงการช่วยลดปัจจัยการผลิตให้แก่ชาวนาที่ทำนาไม่เกิน 15 ไร่ ไร่ละ 1,000 บาท โครงการนี้ชาวนาได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยที่สุด แต่มีการดำเนินการเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
– มาตรการลดต้นทุนปัจจัยการผลิต ค่าปุ๋ย ค่าเช่านา ค่ารถเกี่ยว และค่าเมล็ดพันธุ์ ลงมาไร่ละ 432 บาท พร้อมคุมราคาเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ปรับลดลงไร่ละ 122 บาท และคุมราคาเช่ารถเกี่ยวไม่เกิน 500 บาทต่อไร่
นโยบายนี้ไม่ได้ผลในการปฏิบัติมากนัก เช่น รถเกี่ยวราคาไม่เกิน 500 บาทอยู่แล้ว ส่วนราคาเมล็ดพันธุ์ก็ลดลงมาตามราคาข้าว ขณะที่การคุมค่าเช่านาไม่มีมาตรการบังคับชัดเจนในการปฏิบัติ โดยจากการสอบถามชาวนา ได้คำตอบว่า ราคาค่าเช่านาไม่ได้ลดลง
– นโยบายจำนำยุ้งฉางข้าวหอมมะลิ ฤดูกาลผลิต 2559/2560 ให้ราคาจำนำอยู่ที่ 8,730 บาทต่อตัน บวกค่าฝากเก็บ 1,500 บาทต่อตัน และเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวอีกไร่ละ 500 บาท ไม่เกินรายละ 10 ไร่ ทำให้ชาวนาจะได้เงินทันทีที่เข้าโครงการ 11,525 บาทต่อไร่ นอกจากนี้ยังมีเงินสนับสนุนต้นทุนการผลิตที่เคยให้ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ จำนวน 2,591 บาท รวมเป็นเงินตันละ 14,116 บาท แต่ปัญหาคือชาวนาส่วนใหญ่ไม่มียุ้งฉางเก็บข้าว จึงไม่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้
เงินช่วยเหลือจากรัฐไม่ตกถึงมือชาวนาอย่างที่คิด
ผศ.ดร. ธนพันธ์ เปิดเผยผลการศึกษาโครงการลดต้นทุนการเพาะปลูกไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ ว่าเงินที่ชาวนาจะได้มากสุดมีแค่ 10,000 บาท แต่การจะได้มาต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร โดยอาศัย ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น เป็นตัวกลางสำคัญในการขึ้นทะเบียน
ปัญหาที่พบในบางพื้นที่มีปัญหาความสับสนในการขึ้นทะเบียนเกษตกร โดยเฉพาะชาวนาที่เช่าที่นาอยู่นอกเขตภูมิลำเนา ทำให้ยากต่อการตรวจสอบ การได้รับเงินช่วยเหลือก็ไม่พร้อมกัน บางรายได้เร็ว บางรายได้ช้า
ขณะที่ปัญหาสำคัญคือ ความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงโครงการช่วยเหลือจากรัฐ โดยเฉพาะชาวนาที่เช่าที่นา ต้องขอสำเนาโฉนดจากเจ้าของที่ดิน ตรงนี้จะเกิดประเด็นการต่อรอง ถ้าเจ้าของที่ดินบอกว่า จะให้สำเนาโฉนดก็ต่อเมื่อนำเงินช่วยเหลือจากรัฐมาแบ่งเจ้าของที่ดิน
ดังนั้นในเชิงปฏิบัติ เกษตรกรที่เช่าที่ดินทำกิน ต้องแบ่งเงินกับเจ้าของที่ดิน และบางพื้นที่ถือเป็นข้อกำหนดในสัญญาเช่า ส่วนใหญ่ที่ได้ยินคือจะแบ่งกันครึ่งๆ
กลายเป็นว่าคนที่กำหนดการนำนโยายไปฏิบัติจริง ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ แต่เป็น เจ้าของที่นา ในความคิดของรัฐบาลคือทุกคนได้คนละหมื่นเท่ากัน แต่กลายเป็นว่า นโยบายนี้ไปสร้างโอกาสให้คนที่มีฐานะดีกว่ามีอำนาจต่อรองเหนือกว่าคนที่รายได้น้อยกว่า
ทำนาไม่คุ้มทุน แล้วทำไมไม่ไปทำอย่างอื่น ?
แนวทางที่รัฐบาล คสช. พยายามพูดถึงอย่างมากคือ การปรับไปทำเกษตรอินทรีย์เพื่อลดการผลิต และเพิ่มมูลค่าข้าว แต่จากการลงพื้นที่ ผศ.ดร. ธนพันธ์ พบความจริงว่า เมื่อเกษตรกรมีความพยายามจะปลูกเกษตรอินทรีย์ แต่ปัญหาคือ โรงสีชุมชนกำลังสีน้อย ก็ต้องนำไปสีที่โรงสีในพื้นที่ ผลปรากฏว่าโรงสีขนาดใหญ่ก็นำข้าวอินทรีย์ไปปนกับข้าวอื่นๆ กันหมด ขณะที่ราคาระหว่างเกษตรอินทรีย์กับเคมีก็ไม่ต่างกันมาก
รศ.ดร. ประภาส กล่าวเสริมว่า การทำนาเคมี มันดำเนินมายาวนานจนลงตัวแล้วในการทำให้ต้นทุนมันต่ำ แต่นาแบบใหม่เรามีเทคโนโลยีอะไรมาสนับสนุน รวมถึงระบบตลาดที่ทำให้ส่วนต่างระหว่างข้าวอินทรีย์กับข้าวเคมีมันคุ้มค่า
ขณะที่ชาวนามีการปรับตัว อย่าไปเข้าใจว่าเขาทำนากันอย่างเดียว ปัจจุบันชาวนาลดต้นทุนโดยการลดสัดส่วนการจ้างทำนาลงและทำเองมากขึ้น ปรับที่บางส่วนมาปลูกพืชผักล้มลุก บางส่วนปรับไปทำนากุ้ง มีบางกลุ่มไปค้าขาย ขณะที่ส่วนใหญ่เข้ามาขายแรงงาน
“การบอกให้ลดการปลูกข้าว ไม่ได้สักแต่ไล่เขาไปปลูกหรือทำอย่างอื่น คำถามคือ รัฐได้ใส่ใจลงรายละเอียดกับการรับประกันสวัสดิการ และรายได้ของอาชีพอื่นๆ มากน้อยแค่ไหนอย่างไร การขายแรงงานมีรายได้และสวัสดิการที่ดีพอแค่ไหน ส่วนสินค้าเกษตรอื่นๆ มีราคาคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ มีตลาดรองรับหรือเปล่า
“การปรับตัวของชาวนา มันต้องการการหนุนเสริมในมิติต่างๆ ไม่ใช่ปล่อยไปตามยถากรรม” รศ.ดร. ประภาส กล่าว
ประเด็นสำคัญเมื่อพูดถึงนโยบายช่วยเหลือชาวนา รศ.ดร. ประภาส มองว่า การอุดหนุนให้ชาวนามีชีวิตที่พออยู่ได้ยังเป็นสิ่งจำเป็น ประเด็นอยู่ที่ว่าเราจะเลือกวิธีการอย่างไรไม่ให้เกิดต้นทุนของการบริหารจัดการ
หลังหมดยุครับจำนำข้าว และวิเคราะห์ตามแนวทางการบริหารจัดการของคสช. ชาวนานักวิชาการผู้นี้ กล่าวว่า ชาวนาที่จะรอด คือชาวนาชนชั้นกลาง กับ นาที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่
ส่วนชาวนาระดับล่าง ก็ต้องต่อสู้ในระดับปัจเจกกันต่อไป ในขณะที่กลุ่มก้อนชาวนาก็ไม่ได้เข้มแข็ง และไม่มีเอกภาพ การทำนาจากนี้คือเพื่อประคับประคองชีวิต และดิ้นรนไปหารายได้เพิ่มจากช่องทางอื่นๆ
Cover Photo: PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP
อ้างอิง:
- เอกสารประกอบการเสวนา ‘ทิศทางข้าวและชาวนา หลังยุคจำนำข้าว’ โครงการรัฐศาสตร์เสวนา ชุดไทยศึกษากับการเมืองและสังคมไทย
- thaipublica.org/2016/11/measures-to-help-farmers-prayuth