×

ละครไทยแห่งปี 2017: ไม่เพียงแต่ให้ความบันเทิง ยังส่องสะท้อนและช่วยขับเคลื่อนสังคม

28.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

12 Mins. Read
  • ปี 2560 มีละครที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง ถือเป็นปีที่คนทำละครปล่อยของกันอย่างเต็มกำลัง และนี่คือบางส่วนของละครไทยในปี 2560 ที่ควรค่าแก่การยกย่องในทางใดทางหนึ่ง
  • ซีนเดียว แต่ แอนดริว เกร็กสัน เผยให้เห็นทั้งความอ่อนแอ ความโกรธแค้น ความน้อยใจ ความเสียใจ ความโหยหาไร้ที่พึ่ง ความหมดอาลัยตายอยาก ความรักพ่อ ฯลฯ ซึ่งถ้าไม่ได้นักแสดงที่เก่งระดับแอนดริว การไล่กราฟทางอารมณ์ขึ้นสุดลงสุดคงไม่สะเทือนใจเราขนาดนี้
  • ถึงจุดนี้ต้องยืนปรบมือให้ อั้ม-พัชราภา ไชยเชื้อ จริงๆ ต้องเรียกว่ามีการระเบิดแสนยานุภาพทางการแสดงให้เห็นกันทุกฉาก แม้กระทั่งฉากที่ต้องปะทะกับพี่เหมียว-ชไมพร จตุรภุช ก็ไม่โดนฆ่าตายคาจอ
  • บท ‘ใจเริง’ จะเป็นเพียงแค่ผู้หญิงเลวที่แย่งสามีเพื่อนโดยไม่มีมิติอะไรเลยถ้านักแสดงเล่นไม่ถึง แต่ใจเริงของ เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ เหมือนการนำเอาประสบการณ์ชีวิตและการทำการบ้านอย่างหนักหน่วงมาตีความตัวละครใหม่ ใจเริงของเจนี่จึงทั้งร้าย น่ารังเกียจ น่าสมเพช และน่าสงสารในเวลาเดียวกัน

หนึ่งในความบันเทิงที่หล่อเลี้ยงคนไทยมาอย่างยาวนานคือละคร แต่ละปีมีละครออกมามากมาย ปี 2560 ที่กำลังจะผ่านไปก็เช่นกัน เป็นปีที่วงการละครดุเดือดมาก หลายเรื่องยังตราตรึงในความทรงจำ และอีกหลายเรื่องเราแทบจะไม่รู้ว่ามีละครเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อไร

 

มองอย่างผิวเผิน ละครดูจะเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่ได้สลักสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่แต่อย่างใด แต่แท้จริงแล้วละครไทยเป็นมากกว่าแค่ความบันเทิง เพราะคือผลงานศิลปะที่เป็นเบ้าหลอมความคิดให้กับคนดู เป็นนิทรรศการที่พาเราไปสำรวจมิติความเป็นมนุษย์ในรูปแบบต่างๆ เป็นตำราชีวิต สะท้อนสังคม และบางเรื่องไปไกลถึงการวิพากษ์สังคม ที่สุดแล้วละครหนึ่งเรื่องจึงไม่ได้ทำหน้าที่เพียงความบันเทิง แต่กำลังขับเคลื่อนสังคมอยู่ด้วย นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงควรมีละครดีๆ เพราะพลังของการเล่าเรื่องมันสามารถเข้าไปอยู่ในใจคน และเพาะรากทางความคิดบางอย่างให้กับคนเพื่อไปเปลี่ยนแปลงชีวิตได้

 

ปี 2560 มีละครที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง ถือเป็นปีที่คนทำละครปล่อยของกันอย่างเต็มกำลัง และนี่คือบางส่วนของละครไทยในปี 2560 ที่ควรค่าแก่การยกย่องในทางใดทางหนึ่ง

 

เหมือนคนละฟากฟ้า (ช่อง 3)

เหมือนคนละฟากฟ้า สะท้อนให้เห็นถึงความผุพังของสถาบันครอบครัวที่พ่อได้สร้างแผลไว้กับลูกชาย ทำให้ลูกชายมีปมและส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของคนรอบข้าง ถ้าดูเนื้อเรื่องโดยผิวเผิน ปมพ่อแม่รังแกฉันแล้วพาลให้ลูกชายกลายเป็นคนก้าวร้าวเกลียดนางเอก ทำร้ายนางเอก และบางเรื่องไปไกลถึงการข่มขืนนางเอก (แต่สุดท้ายก็รักกัน เออ…ดี!) มีให้เราเห็นในละครหลายเรื่อง แต่สิ่งที่ทำให้ เหมือนคนละฟากฟ้า ในเวอร์ชันนี้ไปไกลกว่าละครแนวนี้เรื่องอื่นคือ การสะท้อนให้เห็นความรู้สึกของลูกชายที่ขาดพ่อ และความรุนแรงที่เขาแสดงออกมานั้นล้วนมาจากความโหยหาเบ้าหลอมจากคนเป็นพ่อ จนต้องใช้ความรุนแรงเพื่อเรียกร้องความสนใจจากพ่อ เพราะมันคือช่วงเวลาเดียวที่เขาจะได้อยู่ในสายตาของพ่อ

 

 

ฉากที่น่าจดจำที่สุดคือฉากที่ ชัช ลูกชาย (แสดงโดย แอนดริว เกร็กสัน) ไปหาพ่อ (สันติสุข พรหมศิริ) หลังประสบอุบัติเหตุแล้วระเบิดอารมณ์ของลูกที่ขาดพ่อออกมา ซีนเดียว แต่แอนดริวเผยให้เห็นทั้งความอ่อนแอ ความโกรธแค้น ความน้อยใจ ความเสียใจ ความโหยหาไร้ที่พึ่ง ความหมดอาลัยตายอยาก ความรักพ่อ ฯลฯ ซึ่งถ้าไม่ได้นักแสดงที่เก่งระดับแอนดริว การไล่กราฟทางอารมณ์ขึ้นสุดลงสุดคงไม่สะเทือนใจเราขนาดนี้ ยิ่งถ้าลองดูคำพูดในฉากนี้จะเห็นว่าคำพูดคมมาก คำธรรมดาแต่สะเทือนใจไปถึงขั้วจริงๆ ต้องขอคารวะคุณเบญจธารา มือเขียนบทโทรทัศน์ ณ ที่นี้

 

“ทำไมบ้านเราไม่เหมือนบ้านอื่น ทำไมบ้านเราไม่ได้กินข้าวพร้อมหน้ากันบ้าง ทำไมเราไม่ได้หัวเราะ ไม่ได้อยู่ด้วยกัน ไม่ได้เป็นครอบครัวที่รักกัน ได้พูดคุยกันเรื่องนั้นเรื่องนี้อย่างคนอื่น ความสุขคืออะไร อะไรที่มันเรียกว่าความสุข แม่บอกให้ผมอดทน ชัช อดทนนะลูก รอ เดี๋ยวพ่อก็กลับมา แม่บอกเดี๋ยวยายก็เข้าใจ พอกลับมาเราจะได้อยู่ด้วยกันพร้อมหน้า อดทนไว้ลูก เดี๋ยวพ่อก็กลับมา เดี๋ยวยายก็ให้อภัย ผมรอนะ ผมรอ รอ รอ รอ รอจนผมเลิกรอแล้ว ไม่เห็นมีเลยวันนั้น

 

“ผมเกลียดพ่อมากที่ทำลายครอบครัวของเรา ผมเกลียดพ่อมากที่ทำให้แม่ต้องจากไป ผมคิดมาตลอด บอกตัวเองมาตลอดว่าวันนั้น วันที่รถแม่คว่ำ ทำไมไม่เป็นพ่อที่อยู่ในรถนั่น…แล้วผมมาเห็นพ่อถูกยิงล้มวันนี้ แม่บอกผมตลอด เล่าเรื่องพ่อให้ผมฟังตลอด มีเรื่องที่แม่พูดตลอด พ่อมีมือที่เข้มแข็ง มีมือที่อบอุ่นมาก มือที่จะทำให้แม่อยู่ท่ามกลางที่นี่ได้ ให้แม่มีกำลัง ให้แม่อยู่ท่ามกลางความว้าเหว่แบบนี้ได้ พ่อน่าจะได้เห็นเวลาที่แม่พูด

 

“ผมอยากให้พ่อสอนผมทำสิ่งต่างๆ บ้าง ขี่จักรยาน เตะฟุตบอล ไปว่ายน้ำ ไปขี่ม้า ไปดูหนัง ไปทำอะไรก็ได้ที่เราจะได้หัวเราะด้วยกัน เวลาที่ผมก้าวร้าวกับพ่อ เวลาที่ผมปากไม่ดีกับพ่อ และพ่อดุผม มันเป็นแค่เวลาเดียวที่ผมรู้สึกมีตัวตนอยู่ในสายตาพ่อ

 

“พ่อรู้ไหมว่าเวลาเด็กๆ ผมร้องไห้แบบนี้ เวลาที่ผมวิ่งหกล้ม ผมอยากให้พ่อเข้ามากอดผม เข้ามาโอ๋ผม บอกว่าผมไม่ต้องร้องไห้ อุ้มผมขึ้น พ่ออยู่นี่ พ่ออยู่ข้างๆ

 

“ผมไม่ได้อยากให้พ่อขอโทษ ไม่เป็นไร ผมแค่อยากให้พ่อรู้ว่าผมรู้สึกอย่างไรมากกว่า ผมแค่อยากได้พ่อ ผมอยากมีพ่อ ผมไม่ได้รู้สึกว่าผมมีพ่อ ผมอยากให้พ่อรักผมบ้าง ผมอยากให้แม่อยู่ที่นี่ ผมอยากให้แม่ได้เห็นว่าพ่อรักแม่ ผมอยากให้แม่เห็นว่าพ่อรักผม และแม่จะได้มีความสุข”

 

ฉากนี้ฉากเดียวอาจจะส่งให้แอนดริวขึ้นไปรับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมไปได้เลย

 

https://www.youtube.com/watch?v=uZOQ-4WpKgc&t=8s

 

เพลิงพระนาง (ช่อง 7)

ความยากของการนำ เพลิงพระนาง กลับมาทำใหม่คือ เวอร์ชันเก่าเมื่อปี 2539 ทำได้ดีงามเหนือกาลเวลา และเป็นหนึ่งในมาสเตอร์พีซของประวัติศาสตร์ละครไทย ทั้งในด้านการสร้างและการแสดงที่นักแสดงทรงพลังกันยกทีม ใครจะไปแสดงได้อย่างพี่เหมียว-ชไมพรกัน จตุรภุช ในบทที่ดีที่สุดในชีวิต งานหนักจึงน่าจะอยู่ที่ อั้ม-พัชราภา ไชยเชื้อ ที่มารับบทที่ไม่ได้จะลอยมาให้เล่นกันง่ายๆ แต่ถึงจุดนี้ต้องยืนปรบมือให้อั้มจริงๆ ต้องเรียกว่ามีการระเบิดแสนยานุภาพทางการแสดงให้เห็นกันทุกฉาก แม้กระทั่งฉากที่ต้องปะทะกับพี่เหมียว ชไมพร ก็ไม่โดนฆ่าตายคาจอ เราสัมผัสได้ถึงความแค้นที่อัดอั้นอยู่เต็มอกเจ้านางอนัญทิพย์ ที่พร้อมจะระเบิดออกมาได้ตลอดเวลา อั้มกลายเป็นเจ้านางอนัญทิพย์อย่างสมบูรณ์

 

นี่เป็นการแสดงที่ดีที่สุดของที่สุดในชีวิตนักแสดงของอั้ม พัชราภา จุดนี้ขอปรบมือให้กับอั้ม พร้อมส่งชื่อเข้าชิงรางวัลนักแสดงนำยอดเยี่ยมในปีนี้อย่างไม่มีข้อกังขา ที่สำคัญละครเรื่องนี้น่าจะทำให้คนได้เห็นความสามารถของอั้มในฐานะ ‘นักแสดง’ และสื่อควรจะให้พื้นที่กับอั้มในด้านความสามารถมากกว่าให้พื้นที่เรื่องผู้ชายของเธอ

 

 

ด้านการแสดง อีกหนึ่งคนที่ควรได้รับการปรบมือให้ดังๆ คือ กระติ๊บ-ชวัลกร วรรธนพิสิฐกุล ในบทเจ้านางตองนวล ซึ่งแสดงได้ดีเหนือความคาดหมายมาก บทเจ้านางตองนวลเป็นบทที่ยากมาก เพราะทั้งเจ้าเล่ห์ เกรี้ยวกราด หยิ่งยโส ไม่ยอมใคร แต่ก็ต้องเผยความอ่อนไหวได้เช่นกัน และในบางฉากยังต้องอาศัยจังหวะการแสดงที่ดีเพื่อสร้างเสียงหัวเราะได้ ทั้งหมดนี้กระติ๊บทำให้เจ้านางตองนวลเป็นสีสันของเรื่อง และเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกับเจ้านางอนัญทิพย์จริงๆ เชื่อว่าชื่อของกระติ๊บจะไปถึงเวทีการประกาศรางวัลแน่นอน

 

ในเวอร์ชันนี้แก่นเรื่องของความแค้นที่ทำลายทุกสิ่งแม้กระทั้งชาติบ้านเมืองของตัวเองอาจจะถูกสื่อออกมาเบาบางลง แต่แทนที่ด้วยการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างคนในวัง

 

 

เวอร์ชันใหม่นี้ยังเป็นที่พูดถึงตั้งแต่ยังไม่ถ่ายทำด้วยซ้ำ ตั้งแต่เสื้อผ้าที่ตีความใหม่โดยผสมเอาหลายวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแทน บวกกับจินตนาการใหม่ บวกกับการตั้งเมืองทิพย์ให้เป็นเมืองสมมติที่ไม่ได้อิงกับประวัติศาสตร์พม่าใดๆ จึงเป็นที่วิจารณ์ในแง่ความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งงานด้านโปรดักชันที่มีเสาไฟโผล่มาบ้าง หรือมีงานศิลปะแบบเมืองสมมติเข้ามาจนสุดแสนจะแฟนตาซี โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนคิดว่าการตีความใหม่เป็นเรื่องน่าสนใจ แต่อยู่ที่การนำเสนอมากกว่าว่าจะไปถึงหรือเปล่า อันนี้อยู่ที่แล้วแต่ใครจะมอง

 

อีกเรื่องที่ควรได้รับการยกย่องคือเพลงและดนตรีประกอบละครที่เรียบเรียงโดย ทฤษฎี ณ พัทลุง สร้างความยิ่งใหญ่ให้กับละครมากขึ้นกว่าเดิม

 

ด้วยสเกลของละครเป็นละครที่ยิ่งใหญ่ระดับ Epic Drama ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำละครแบบนี้ขึ้นมาได้ กระนั้น ต้องยอมรับว่าพลังการแสดงของอั้ม กระติ๊บ และทีมนักแสดง ทำให้ เพลิงพระนาง เวอร์ชัน 2560 เป็นละครอีกเรื่องที่ควรได้รับตำแหน่งละครแห่งปี และเป็นอีกหนึ่งละครรีเมกที่ทำใหม่แล้วไม่ขายหน้า แต่ควรได้รับเสียงชื่นชมจริงๆ

 

 

เสน่หา Diary ตอน บ่วงเสน่หา (ช่อง One)

รักสามเศร้าเป็นเรื่องที่ถูกใช้ในละครอยู่ตลอด แต่ความดีงามของ บ่วงเสน่หา คือการสร้างรักสามสี่เศร้านี้โดยให้ตัวละครเกย์เป็นหนึ่งในบ่วงที่เกิดขึ้น โดยใช้เรื่องดราม่าอย่างการที่เกย์ที่แต่งงานเพื่อปกปิดสถานะของตัวเองเป็นแกนเรื่อง สังคมที่ไม่ยอมรับความรักของคนเพศเดียวกัน (เหรอวะ?) แล้วลากไปถึงความล้มเหลวของสถาบันครอบครัว ยันการท้องโดยไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อ

 

 

คนที่ส่องประกายการแสดงที่สุดน่าจะเป็น อัค-อัครัฐ นิมิตรชัย ในบท ‘แจ็ค’ คนรักเก่าของ ‘ภีม’ (แสดงโดย กัปตัน-ภูธเนศ หงษ์มานพ) ซึ่งไปแต่งงานกับมินตรา (แสดงโดย นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา) ซึ่งตีความแจ็คในฐานะ ‘นางเอก’ ที่ถูกแย่งคนรักไป การแสดงที่น่าเชื่อถือของอัคนั้นทำให้หลายครั้งเราเอาใจช่วยแจ็คมากกว่ามินตรา และบทจะทำตัวน่ารังเกียจก็แสดงได้ดีจนเราเกลียดเข้าไส้ไปด้วย

 

แน่นอนว่าเราจะได้เห็นอัคได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลการแสดง ที่สำคัญ นี่เป็นนักแสดงที่โคตรจะมีของและควรมีละครที่ได้โชว์ของยิ่งขึ้นไป

 

นุ่น ศิรพันธ์ ให้การแสดงที่ดีงามอีกครั้งในพอร์ตโฟลิโอ แสดงดีจนน่ากราบ ส่วนกัปตันสามารถแสดงเป็นมนุษย์ที่น่าขยะแขยงได้จนต้องเกลียดตัวละครนี้ไปด้วย ที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ อุทุมพร ศิลาพันธ์ ที่แสดงเป็นคนสองหน้าได้น่าเกลียดมาก รวมไปถึง ดิลก ทองวัฒนา ที่ออกมาแค่ไม่กี่ฉาก แต่พลังการทำลายสูงมากจริงๆ

 

 

นอกจากความดีงามในแง่การแสดงของทีมนักแสดงแล้ว สิ่งที่น่าสนใจของ บ่วงเสน่หา คือ การที่ทำให้คนดูเดี๋ยวก็อยู่ข้างมินตราที เดี๋ยวก็ย้ายข้างไปอยู่ทีมแจ็คที ทั้งสองฝ่ายคือผู้สูญเสียทั้งคู่ บางคราวมินตราก็โง่จนเราชอบความแน่วแน่และรู้ว่าตัวเองต้องการอะไรของแจ็ค แต่บางคราวที่มินตราลุกขึ้นมาสู้แจ็ค เราก็รู้สึกเฮกับนางไปด้วยว่านางแน่เว้ยเฮ้ย! เป็นการทำละครที่สนุก เพราะตัวละครไม่ได้มีสีเดียว และเราทั้งรักทั้งเกลียดตัวละครในคราวเดียวกัน

 

ในแง่ความเป็นละครน้ำเน่าต้องยอมรับว่า บ่วงเสน่หา ทำได้พีกมาก เพราะมีทุกอย่างที่ละครน้ำเน่าควรมี ทั้งพระเอกโง่ นางเอกโง่ ตัวร้ายที่เลว การพาชีวิตของตัวละครไปย่ำยีถูลู่ถูกังอย่างถึงที่สุด และบทพูดที่เชือดเฉือน มันทุกตอน จนดูแล้วอยากจะตบนักแสดง

 

แต่สิ่งที่น่าตำหนิของ บ่วงเสน่หา คือ การใช้ความรุนแรงในละคร ตั้งแต่การทำร้ายผู้หญิงโดยผู้ชายและผู้หญิงด้วยกันเอง การข่มขืนและทำร้ายร่างกายภรรยาโดยสามี การไร้ทางสู้ของผู้หญิงที่ต้องพึ่งพามือตีนของผู้ชายตลอด การทำร้ายคนท้องจะแท้ง ฯลฯ และสิ่งที่น่าเสียดายคือ การทำให้ตัวละครเกย์อย่างแจ็คซึ่งเริ่มต้นมาดีมาก มีความเป็นมนุษย์ จู่ๆ ใกล้จบก็กลายเป็นคนที่ไม่มีมิติอะไรเลยนอกจากความร้ายกาจ และจบลงแบบ Stereotype ของเกย์ในละครคือตายอย่างอนาถตอนจบ พร้อมด้วยการส่งสารผ่านตัวละครว่า เกิดเป็นเกย์ไม่มีใครยอมรับ และไม่มีวันมีชีวิตคู่ที่ไม่มีความสุขหรอก

 

บ่วงเสน่หา จะกลายเป็นละครที่เป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์ละครไทยได้ถ้าไปไกลถึงการแหกกฎ Stereotype ของเกย์ให้ไม่ต้องจบลงแบบตายอนาถและไม่สมหวังแบบนี้ เพราะตั้งแต่ต้นคนดูก็แทบจะเอาใจช่วยแจ็คให้ได้คนรักกลับคืนมาอยู่แล้ว และหลายครั้งแจ็คก็เหมือนจะคิดได้และหลุดจากบ่วงเสน่หานี้ไปมีชีวิตใหม่ได้แล้วเชียว

 

ก็กลับไปที่อีหรอบเดิมว่า เป็นเกย์แล้วไม่มีวันสมหวังในความรัก และต้องตายอย่างอนาถ

 

https://www.youtube.com/watch?v=6YzsSWzORM4

 

Project S The Series Side by Side พี่น้องลูกขนไก่ (ช่อง GMM 25)

พี่น้องลูกขนไก่ เป็นละครแบบที่หลายปีจะมีให้เราดูสักทีหนึ่ง ยิ่งกว่านั้น กี่ปีแล้วที่เราไม่ได้ดูละครที่โฟกัสที่ความรักของครอบครัว โดยปราศจากการตบแย่งผู้ชาย การข่มขืนนางเอก ตัวร้ายที่สักแต่ว่าเลว ซึ่งเชื่อกันว่านี่แหละคือสูตรของละครไทยที่คนจะดู

 

พี่น้องลูกขนไก่ มีองค์ประกอบที่เป็นของที่ไม่น่าจะขายได้ในละครไทย ตั้งแต่ตัวละครหลักเป็นเด็กออทิสติก การโฟกัสที่ความสัมพันธ์ของพี่น้องโดยไม่มีการแย่งชิงความรักหญิงสาวเข้ามาเกี่ยว กีฬา ครอบครัวที่มีแต่แม่และแม่ ชีวิตนักเรียนมัธยม ฯลฯ แต่ พี่น้องลูกขนไก่ เอาทั้งหมดนี้มาเล่าด้วยการเล่าเรื่องที่ดราม่า มีปมความขัดแย้ง มีบทเรียนที่ตัวละครได้เรียนรู้ ทุกตัวละครมีมิติ มีเหตุผลของการกระทำหมด

 

เป็นละครที่ดีงามทุกองค์ประกอบ ทุกอย่างดูจริง จริงแม้กระทั่งสิวของนักแสดงก็ยังปล่อยให้เห็น บทพูดก็จริง ไม่ดูปั้นให้พยายามคม บางฉากไม่ต้องพูดอะไรแต่ให้บทสนทนาที่ทรงพลังกว่าคำพูดใดๆ อีก หลายฉากบีบหัวใจมาก ทั้งๆ ที่ละครไม่ได้ลากให้ตัวละครเผชิญชีวิตที่น่าอนาถปางตายแต่อย่างใด แต่เรากลับรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวละครได้มากกว่า

 

 

นักแสดงทุกคนทำหน้าที่ได้อย่างน่าคารวะ ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร สลัดคราบบทแบดบอยแบบที่แจ้งเกิดในบทไผ่ จากเรื่อง Hormones วัยว้าวุ่น ได้หมดคราบ เขาเข้าถึงบทพี่ยิม เด็กออทิสติกได้ทุกรายละเอียดจนเราเชื่อว่าพี่ยิมมีตัวตน ยิ่งได้เห็นเบื้องหลังการถ่ายทำที่นักแสดงไปเรียนแบดมินตันกันจริงจังเพื่อให้สมบทบาทนักกีฬา ไปจนถึงการไปคุยกับเด็กออทิสติกเพื่อเข้าถึงคาแรกเตอร์ให้ได้มากที่สุดแล้ว ต้องปรบมือให้กับการทำการบ้านครั้งนี้ การแสดงของต่อ ธนภพ ในเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกว่าเด็กคนนี้มีของ และน่าจะทำอะไรได้อีกเยอะถ้าได้รับโอกาส เป็นการแสดงแบบที่ดูแล้วไม่รู้สึกว่าโขกมาจากบล็อก GDH แบบนักแสดงค่ายนี้คนอื่นๆ ที่จะเล่นคล้ายๆ กัน พูดจาคล้ายๆ กัน จังหวะการแสดงคล้ายๆ กัน แต่ต่อเล่นแล้วมีมิติกว่านั้น

 

นี่เป็นบทที่ดีที่สุดในชีวิตการแสดงของต่อ ที่จะส่งให้ต่อไปยืนอยู่บนเวทีการประกาศรางวัลได้อย่างสง่างาม  

 

ตลกร้ายคือในเวลาใกล้เคียงกัน ต่อไปอยู่ในละครเรื่อง เล่ห์ลับสลับร่าง กลับดูแบน ดูหายไปจากจอ ไม่มีอะไรน่าจดจำ อาจเป็นเพราะละครเรื่องนั้นทั้งเรื่องโฟกัสที่ณเดชน์กับญาญ่า และทุกฉากออกแบบมาเพื่อเซอร์วิสแฟนคลับ ตัวละครอื่นๆ เลยไม่ได้ความสำคัญเท่าไรนัก เหมือนทั้งเรื่องมีแค่ณเดชน์กับญาญ่า และนักแสดงคนอื่นเป็นก้อนหิน เป็นต้นไม้ไป ซึ่งตัดสลับมาที่ พี่น้องลูกขนไก่ แล้ว พลังการแสดงเป็นคนละเรื่องกันเลย ต่อเป็นเด็กที่มีของมากๆ แต่พอไปอยู่อีกเรื่องแล้วเหมือนเสียของ กลายเป็นก้อนหิน ต้นไม้ไป ถ้าเพียงแต่ผู้จัดดึงศักยภาพให้ถูกจุด นักแสดงก็จะเปล่งประกาย

 

 

สกาย-วงศ์รวี นทีธร ในบทน้องโด่ง ทำให้เห็นพัฒนาการการแสดงของน้องเช่นกัน สกายเก็บเอาความว้าวุ่นอึดอัดในใจอยู่ในการแสดง และบทที่จะต้องสดใสก็ทำให้ละครสว่างไปทั้งเรื่องได้ จุดนี้ต้องปรบมือให้น้องอีกเช่นกัน

 

พี่เปิ้ล-หัทยา วงษ์กระจ่าง และพี่สู่ขวัญ บูลกุล ในบทแม่ๆ ที่ทรงพลังในทุกฉากที่ออกมา เราเชื่อจริงๆ ว่าเขาเป็นแม่ลูกและพี่น้องกัน เคมีนักแสดงไปด้วยกันได้ดีมาก มีความอบอุ่นอบอวลอยู่ในทุกการกระทำของนักแสดงทั้งคู่ และบทจะต้องดราม่าก็ขยี้อารมณ์จนคนดูร้องไห้และหายใจตามได้ลำบากไปกับตัวละครไปด้วย นี่เป็นบทแม่ๆ ที่น่าจดจำมาก และควรส่งทั้งสองท่านนี้ขึ้นเวทีรางวัลการแสดง

 

ตัวบทสามารถสอดแทรกความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเด็กพิเศษเข้าไปได้อย่างกลมกลืน ไม่ยัดเยียด ไม่เหมือนเรากำลังถูกสอนอยู่ รวมทั้งดึงความไม่สมบูรณ์แบบของครอบครัวขึ้นมาเล่นได้อย่างสร้างสรรค์ บทจะตลกก็ตลกได้ บทจะดราม่าก็เอาอยู่ บทจะกุ๊กกิ๊กก็ดูแล้วจิกหมอนตาม ที่สำคัญ เป็นละครที่พูดถึงความรักในครอบครัวแล้วเราจะกลับไปกอดพี่น้องพ่อแม่ของเราให้แน่นกว่าเดิม  

 

พี่น้องลูกขนไก่ ดีงามไปถึงมี Product Placement ของลูกค้าเข้ามาในเนื้อเรื่องโดยไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียดแต่อย่างใด และมีผลต่อการดำเนินเรื่องด้วยซ้ำ (ลูกค้าวิน ละครวิน คนดูวิน) และแน่นอน พี่น้องลูกขนไก่ เป็นบทพิสูจน์ว่าละครดีไม่ต้องมีความรุนแรงก็ได้ และถ้ามีใครถามว่าละครไทยดีๆ มีเรื่องอะไรบ้าง ชื่อ พี่น้องลูกขนไก่ จะเป็นชื่อแรกๆ ที่เรานึกถึงและชื่นชมไปอีกนาน

 

 

เพลิงบุญ (ช่อง 3)

ถ้าคุณคิดว่า แรงเงา คือการแสดงที่ดีที่สุดของ เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ แล้ว เพลิงบุญ เวอร์ชัน 2560 คือที่สุดในชีวิตการแสดงของเจนี่ และไปไกลกว่า แรงเงา หลายล้านปีแสง บท ‘ใจเริง’ จะเป็นเพียงแค่ผู้หญิงเลวที่แย่งสามีเพื่อนโดยไม่มีมิติอะไรเลยถ้านักแสดงเล่นไม่ถึง แต่ใจเริงของเจนี่เหมือนการนำเอาประสบการณ์ชีวิตและการทำการบ้านอย่างหนักหน่วงมาตีความตัวละครใหม่ ใจเริงของเจนี่จึงทั้งร้าย น่ารังเกียจ น่าสมเพช และน่าสงสารในเวลาเดียวกัน และกรณีเดียวกับอั้ม พัชราภาครับ เจนี่ควรได้รับการยกย่องและได้รับพื้นที่จากสื่อในฐานะนักแสดงที่มีความสามารถมากไปกว่าการยื่นไมค์ถามเรื่องผู้ชายของเธอ

 

 

หลุยส์ สก๊อต ได้บทที่เรียกว่าดีที่สุดในชีวิตไว้ในมือ และทำหน้าที่ได้ดีมากอย่างน่าชื่นชม จนอดคิดไม่ได้ว่าเขาน่าจะได้บทที่แสดงฝีมือแบบนี้มาตั้งนานแล้ว

 

ทีมนักแสดงคนอื่นๆ ใน เพลิงบุญ ที่แม้จะมาเพียงไม่กี่ตอนแต่ก็สร้างผลงานที่น่าจดจำไว้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น ชาย-ชาตโยดม หิรัญยัษฐิติ ที่ปกติจะเล่นเป็นผู้ชายแสนดีมาตลอด แต่พลิกบทกลายเป็นสุรทิน ผู้ชายที่น่าขยะแขยงได้สมบทบาทมากโดยไม่ต้องเล่นใหญ่

 

ลภัสรดา ช่วยเกื้อ ในบทภรรยาของสุรทิน แค่ออกมาวันเดียวแต่เป็นที่พูดถึงไปอีกนาน เอาว่าแค่การปรากฏตัวของคุณเข็มโดยยังไม่ต้องพูดอะไรสักคำก็น่ากลัวมากแล้ว นี่สิ น้อยแต่มากของจริง หลีกทางหน่อยแม่จะเดิน เป็นแบบนี้นี่เอง เข็มทำให้ตัวละครนี้เป็นผู้หญิงที่มีพลังการทำลายล้างสูงแบบที่เราเชื่อแล้วว่าขนาดใจเริงยังสู้ไม่ได้และต้องร้องขอชีวิต ในขณะเดียวกันก่อนที่ตัวละครนี้จะจากไปก็ยังทำให้เราเห็นว่า หรือจริงๆ ผู้หญิงคนนี้คือคนที่น่าสงสารอีกคน

 

 

ยังไม่นับการแสดงของ เดวิด อัศวนนท์ ซึ่งน่ากลัวทุกครั้งที่ปรากฏตัว ฉากซ่อนหาใจเริงนั้นทำให้คนดูหลอนไปอีกหลายวัน บทหลอนๆ แบบนี้ถ้าอยู่ในมือเดวิดก็รับประกันความหลอนได้เลย และไม่แปลกถ้าแม้เขาจะออกมาไม่กี่ตอน แต่นี่จะเป็นอีกตัวละครในละครไทยที่คนดูกลัวที่สุด

 

ในแง่ภาพลักษณ์ของผู้หญิง เพลิงบุญ ยังคงฉายภาพซ้ำของผู้หญิงที่พึ่งพาผู้ชาย เพราะการมีผัวคือนิพพาน การใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง Stereotype ของผู้หญิงชั่วและผู้หญิงดี จุดจบของผู้หญิงดีคือยอมมีผัวเลวต่อไป และจุดจบของผู้หญิงเลวคือตายอย่างอนาถ แต่นำมาเล่าใหม่ให้เข้มข้น ดราม่าโคตรๆ มองในมุมการเป็นละครที่สนุก เข้มข้น เพลิงบุญ ตอบโจทย์ได้ดีมาก แต่มองในมุมภาพลักษณ์ของผู้หญิงและการใช้ความรุนแรง เพลิงบุญ อาจจะเป็นละครที่น่าเป็นห่วงสักหน่อย และถ้าจะมีการนำมาทำใหม่ นอกจากการนักแสดงที่เล่นได้อย่างที่เจนี่สร้างมาตรฐานไว้แล้ว การตีความใหม่ในบริบทที่ช่วยส่งเสริมผู้หญิงด้วยกันอาจเป็นมิติใหม่ของละครไทยก็เป็นได้

 

 

รากนครา (ช่อง 3)

ถ้ามาร์ติน สกอร์เซซี มีลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ส่วนพี่บอย ถกลเกียรติ มีพี่นก สินจัย พี่ออฟ พงษ์พัฒน์ ก็มีแต้ว ณฐพร ที่มีเคมีการทำงานเข้ากันได้อย่างดี และเชื่อมือได้ว่าร่วมงานกันเมื่อไรได้ผลงานที่ดีแน่นอน นั่นทำให้ รากนครา เป็นงานที่เราเชื่อมือได้ตั้งแต่การถ่ายทำ และเมื่อออกฉาย เราก็ได้เห็นในสิ่งที่เราอยากเห็นและคาดหวังจะได้เห็น นั่นคือละครที่ดี ไม่ฉาบฉวย

 

ผู้กำกับยังคงสนุกกับการทำละครที่สำรวจวัฒนธรรมท้องถิ่น พี่ออฟน่าจะเป็นผู้กำกับไม่กี่คนที่ทำละครที่ใช้ภาษาถิ่นมาแล้วไม่ดูตลก แต่ดูเข้าถิ่น และนักแสดงก็ทำหน้าที่ได้ดี จะมีติงบ้างเล็กน้อยก็ตรงสำเนียงภาษาเหนือของแต้วกับภาษาเหนือสำเนียงมิวนั้นเป็นภาษาเหนือจากคนละถิ่นกัน

 

 

สิ่งที่น่าสนใจของละครในแง่การแสดงคือ แต้วเพิ่งถึงจุดสูงสุดทางการแสดงด้วยการแสดงที่ดีที่สุดในพอร์ตโฟลิโอของเธอในเรื่อง นาคี เช่นเดียวกับพี่ออฟ ซึ่งทำ นาคี ไว้ดีมาก มันยากมากที่ผลงานต่อไปจะมีอะไรที่น่าตื่นเต้นกว่านั้นได้ แต่ รากนครา ซึ่งเป็นผลงานต่อมาจาก นาคี ก็ทำให้เห็นว่าทั้งคู่ยังมีอีกหลายก๊อก รากนครา ของพี่ออฟดูผ่อนคลาย ไม่ตึงเครียด ไม่ฉูดฉาด แต่ฉากที่ต้องขยี้ก็ขยี้จนสุดเหมือนเดิม    

 

บทแบบใน รากนครา ไม่น่าจะเกินความสามารถของแต้ว ทั้งการใช้ภาษาถิ่น ทั้งบทดราม่าบีบน้ำตา (มีน้อยเรื่องมากที่แต้วไม่ต้องร้องไห้) และแต้วก็ทำหน้าที่ได้ดีแบบที่ไม่น่าผิดหวัง เป็นนักแสดงอีกคนที่เราเชื่อได้ว่าเล่นละครเรื่องไหนก็จะทำได้ดี ยิ่งผูกปิ่นโตแท็กทีมกับพี่ออฟแล้ว เราจะได้ดูละครที่น่าจดจำแน่นอน

 

 

งานด้านโปรดักชันของ รากนครา เป็นการทำการบ้านทางประวัติศาสตร์มา เราจึงได้เห็นงานสร้างที่ละเมียดละไม ไม่ประดักประเดิดแบบที่ละครย้อนยุคส่วนใหญ่ประสบปัญหา จะเสียดายอยู่บ้างก็ตรงเวลาที่บีบให้ รากนครา ต้องรีบจบก่อนเดือนตุลาคม ทำให้การเล่าเรื่องของ รากนครา ดูเร่งรัดไปหน่อย ถ้าพอจะมีเวลามากกว่านี้อีกหน่อย เราคงได้เห็นการเล่าเรื่องที่ละมุนกว่านี้ แต่เท่าที่เป็นอยู่ก็ถือว่าดีมากๆ แล้ว

 

และเราจะรอดูการแท็กทีมของแต้วและพี่ออฟต่อไป

 

 

ล่า (ช่อง One)

กรณีเดียวกับ เพลิงพระนาง คือ ล่า เวอร์ชันปี 2537 ทำเอาไว้ดีในระดับมาสเตอร์พีซประวัติศาสตร์ละครไทย และส่งให้พี่นก สินจัย มอบการแสดงที่มีคุณค่าที่สุดเรื่องหนึ่งไว้ให้คนดู ล่า ในเวอร์ชันนี้จึงแบกความกดดันเอาไว้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มสร้าง ปกติแล้ววงจรการรีเมกละครจะเกิดขึ้นในทุกรอบราวๆ 10 ปี แต่ ล่า ไม่มีใครกล้ามาทำรีเมกอีกรอบ ล่า ในเวอร์ชันปี 2560 นี้จึงแทบจะเหมือนการสร้างละครขึ้นมาใหม่บนบริบทของยุคสมัยที่เปลี่ยนไป  

 

ความดีงามของ ล่า เวอร์ชันนี้คือ การไปไกลกว่าละครสะท้อนสังคม แต่ไปถึงการวิพากษ์สังคมไปในตัว ตั้งแต่ความรุนแรงในครอบครัว การทำร้ายผู้หญิงและการตกเป็นเหยื่อทางเพศของผู้หญิง การข่มขืน กระบวนการยุติธรรมที่มีช่องโหว่ การทำงานที่เอาแต่ได้ของสื่อมวลชน สังคมหน้าไหว้หลังหลอกในที่ทำงาน โซเชียลมีเดีย Social Bullying การทำงานแบบลูบหน้าปะจมูกของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้นำชุมชน การปะทะกันระหว่างการข่มขืนต้องประหารกับสิทธินักโทษ ไปจนถึงระบบระบายน้ำที่ไม่ระบายน้ำของกรุงเทพฯ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ล่า ในเวอร์ชันนี้เล่นประเด็นทางสังคมที่กว้างกว่าเวอร์ชันก่อนที่พุ่งไปที่การข่มขืนและความผุพังของกระบวนการยุติธรรมเป็นหลัก แต่ ล่า เวอร์ชันนี้ขยายให้เห็นสังคมในด้านอื่นๆ แล้วทำการวิพากษ์ผ่านตัวละครไปด้วย รวมทั้งการสร้างเหตุผลที่มาที่ไปของตัวละครให้หนักแน่นขึ้น ทุกคนจึงมีเหตุผลของการกระทำหมด ซึ่งเป็นจุดที่น่ายกย่องในเวอร์ชันนี้

 

 

ด้านการแสดง พี่หมิว-ลลิตา ปัญโญภาส มอบการแสดงที่ดีที่สุดในชีวิตอีกครั้งในบท ‘มธุสร’ พี่หมิวไม่เหมือนพี่หมิวที่ดูเจ้าหญิงมากๆ แต่เหมือนผู้หญิงธรรมดาเดินดินคนหนึ่ง และเชื่อว่าเวทีการประกาศรางวัลจะมีชื่อของพี่หมิวขึ้นรับรางวัลแน่นอน จุดนี้เลิกพูดเปรียบเทียบได้เลยว่ามธุสรของพี่นก สินจัย กับพี่หมิวใครดีกว่ากัน เพราะตีความกันคนละแบบจริงๆ เช่นเดียวกับนักแสดงคนอื่นๆ ทั้งน้องเซียงเซียง, ศตวรรษ ดุลยวิจิตร, รัดเกล้า อามระดิษ, รัญญา ศิยานนท์, เจ็ดทรชน ฯลฯ ทุกคนล้วนทำหน้าที่นักแสดงได้ดีในระดับที่ควรยกทีมกันรับรางวัลด้วยซ้ำ

 

สิ่งที่น่าชื่นชมต่อมาคือการถ่ายทำ การใช้กล้อง GoPro เข้ามาช่วยในหลายฉากที่ทำให้สัมผัสอารมณ์ของตัวละครได้มากขึ้น การดีไซน์มุมกล้องที่คิดมาแล้วอย่างฉากข่มขืนที่เป็นมุมมองกลับหัวที่ทำให้น่ากลัวกว่าเดิมมาก ฉากตายในน้ำก็ถ่ายแทนมุมของศพที่ค่อยๆ เห็นเลือดนองบนน้ำจนเป็นสีแดงฉาน หรือฉากทุบกระจกรถก็เอากล้องถ่ายมาจากในรถเหมือนคนดูอยู่ในรถแล้วโดนทุบ

 

 

ถ้าจะมีอะไรโป๊ะๆ ในละครเรื่องนี้บ้างก็น่าจะเป็นการแต่งกายของมธุสรที่ปลอมตัวเหมือนให้รู้ว่าปลอมตัวอยู่ ดูไม่เนียนเป็นธรรมชาติเหมือนที่คนปกติใส่กัน แม้กระทั่งวิกที่ใส่ก็ดูประดักประเดิดจนดูตลก รวมทั้งชุดของเซ็นเซยูกิ ที่ถ้าพี่ต๊งเหน่งเปลี่ยนวิกเป็นผมชี้แหลมๆ สีทองก็เป็นนารูโตะได้เลย เอาจริงๆ ถ้ามธุสรจะตกใจตอนเจอเซ็นเซยูกิคงไม่ได้ตกใจว่าคนนี้เป็นใคร แต่คงตกใจว่าแต่งตัวอะไรออกจากบ้านมากกว่า

 

แต่ ล่า ก็เป็นละครที่ควรได้รับการยกย่องในฐานะละครแห่งปี และทำให้เกิดการถกเถียงเรื่องอื่นๆ ที่เป็นผลตามมาจากละคร แต่ไปสู่การขับเคลื่อนทางสังคม

 

เพราะเราไม่เพียงดูละครแล้วย้อนดูตัว แต่ดูละครแล้วย้อนกลับไปมาขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าได้เช่นกัน

 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising