×

ไทยคมเล็งถกแผนกับกัลฟ์ หาโอกาส Synergy ลุยธุรกิจ Data Center และ Cloud Service ในไทย

12.07.2024
  • LOADING...

บมจ.ไทยคม ระบุ การเข้ามาลงทุนของบริษัทขนาดใหญ่ด้านเทคโนโลยีใน Data Center และ Cloud Service ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ความต้องการใช้บริการดาวเทียมเป็นส่วนหนึ่งของ Ecosystem ในอนาคตสูงขึ้นตาม

 

ปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม หรือ THCOM กล่าวว่า จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยข้อมูลว่า บริษัทขนาดใหญ่ด้านเทคโนโลยีเร่งแผนลงทุน Data Center และ Cloud Service ในประเทศไทยนั้น ในส่วนของ บมจ.ไทยคม มีโอกาสที่จะได้รับอานิสงส์ไปด้วย โดยจะช่วยเพิ่มความต้องการใช้บริการดาวเทียมเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของระบบนิเวศ (Ecosystem) ของ Data Center และ Cloud Service 

 

“ปัจจุบันดาวเทียมรุ่นใหม่ได้ใช้เทคโนโลยีใหม่คือ Software-Defined มี Software ในการปรับเปลี่ยนการใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับเทคโนโลยีภาคพื้นดินที่ประสานติดต่อกับดาวเทียมที่ฉลาดมากขึ้น ผสมการทำงานด้วย AI กับ Cloud จะเป็นแพลตฟอร์มใหม่กับอนาคตใหม่ของเรา เพราะจะมีความ Powerful มาก”

 

โดยการให้บริการด้วยดาวเทียมดวงใหม่ที่มีเทคโนโลยีใหม่มากขึ้นจะถูกคุมการประมวลผลการทำงานด้วย Software AI เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถสร้างแอปพลิเคชันกับกรรมวิธีในการใช้งานดาวเทียมได้หลากหลายมากขึ้น

 

เล็งถกแผน Synergy ธุรกิจ Data Center และ Cloud Service 

 

สำหรับกรณีที่บริษัทแม่ของ บมจ.ไทยคม คือ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ร่วมทุนกับกลุ่ม Singtel บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC ตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อทำธุรกิจ Data Center นั้น เป็นแผนธุรกิจของบริษัทแม่คือ GULF เพราะต้องการให้เกิดประโยชน์ร่วม (Synergy) ร่วมกันของธุรกิจในอนาคต คาดว่าจะมีการหารือร่วมกันถึงแผนความร่วมมือเชิงธุรกิจในอนาคตต่อไป 

 

ขณะที่กลุ่ม Amazon Web Service (AWS) ที่ประกาศลงทุน Data Center ปัจจุบัน รวมทั้ง Microsoft ปัจจุบันก็เป็นพาร์ตเนอร์มีความร่วมมือกับบริษัทอยู่แล้วในด้านของภาพถ่ายจากดาวเทียม รวมทั้งการใช้ Database ในการประมวลผลจากดาวเทียม ซึ่งจำเป็นต้องมีการใช้ระบบ Cloud ในการช่วยประมวลผลและเก็บข้อมูลที่มีจำนวนมหาศาลในปัจจุบัน 

 

นอกจากนี้หากดูจุดแข็งหรือศักยภาพของประเทศไทยเปรียบเทียบกับคู่แข่งในอาเซียนในการดึงดูดการลงทุนในธุรกิจ Data Center และ Cloud Service มองว่า ไทยถือว่ามีศักยภาพในการแข่งขัน ทั้งทำเลที่ตั้งอยู่จุดยุทธศาสตร์ศูนย์กลางในอาเซียน และมีความพร้อมทั้งด้านทรัพยากร, ระบบ Infrastructure ที่ดี รวมทั้งยังมีผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินธุรกิจดาวเทียม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Ecosystem ของ Data Center และ Cloud Service ด้วย

 

โดยก่อนหน้านี้ในการประชุมผู้ถือหุ้น สารัชถ์ รัตนาวะดี รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GULF เคยให้ข้อมูลว่า บริษัทมีแผนจะลงทุนสร้าง Data Center ร่วมกับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ AIS และ Singtel คาดว่าจะเปิดดำเนินการปี 2568 เพราะเห็นโอกาสว่าธุรกิจดังกล่าวมีโอกาสขยายตัวสูง เพราะความต้องการในการเก็บข้อมูลที่เติบโตมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งจากองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน 

 

 

ขณะที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 Gulf Edge ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ GULF ได้ลงนามสัญญาความร่วมมือกับ Google เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการระบบคลาวด์ Google Distributed Cloud air-gapped ทั้งนี้ Gulf Edge เป็นพันธมิตรรายแรกที่ร่วมมือกับ Google เพื่อดำเนินธุรกิจดังกล่าวในประเทศไทย 

 

ดันสัดส่วนรายได้ Space Tech แตะ 20% ใน 2-3 ปีข้างหน้า 

 

ปฐมภพกล่าวต่อว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บมจ.ไทยคม ได้เปลี่ยนวิสัยทัศน์ในการทำธุรกิจใหม่จากการเป็นผู้นำในธุรกิจดาวเทียมมาเป็นผู้นำในธุรกิจ Space Tech ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะเห็นว่าในอนาคตบทบาทของ Space Tech ของโลกจะมีมากขึ้นและยังตอบโจทย์ในด้านอื่น ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

 

โดยแผนในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า บริษัทต้องการจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่มาจากกลุ่มธุรกิจ Space Tech เพิ่มเป็นประมาณ 20% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนเพียงประมาณ 1-2% ของรายได้รวม โดยให้ความสำคัญใน 3 ธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต คือ

 

  1. Software-Defined Satellite 
  2. ธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) 
  3. New Space Economy 

 

ล่าสุดบริษัทได้เปิดให้บริการแพลตฟอร์ม CarbonWatch ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม และ AI ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ อบก. เป็นรายแรกของประเทศไทย และถือเป็นผู้ประกอบการดาวเทียมรายแรกในอาเซียนที่ทำได้

 

ถือว่าเป็นการต่อยอดความเชี่ยวชาญในด้านธุรกิจดาวเทียมมาสู่ธุรกิจเทคโนโลยีอวกาศด้วยการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจโลก เช่น ข้อมูลภูมิสารสนเทศและข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม มาวิเคราะห์ร่วมกับเทคโนโลยี AI และ ML จนเกิดเป็นแพลตฟอร์มนี้ขึ้น 

 

โดยจะช่วยให้การประเมินคาร์บอนในพื้นที่ป่าขนาดใหญ่มีประสิทธิภาพ แม่นยำ รวดเร็ว ตรวจสอบได้ และคุ้มค่ากว่าวิธีดั้งเดิม ซึ่งนับเป็นหนึ่งในบริการด้านเทคโนโลยีอวกาศภายใต้ Earth Insight ที่ให้บริการแก่ลูกค้าในหลายมิติ ซึ่งหลังจากที่แพลตฟอร์ม CarbonWatch ได้รับการรับรองแล้ว ซึ่งได้เริ่มนำไปใช้งานอย่างในพื้นที่ป่าชุมชนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งคิดค่าบริการอยู่ที่ 100-200 บาทต่อไร่ อีกทั้งในอนาคตมีแผนจะนำ CarbonWatch ออกไปให้บริการเอกชนรายอื่นๆ เพิ่มเติมทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

 

งานแถลงข่าวแพลตฟอร์ม CarbonWatch เครื่องมือประเมินการกักเก็บคาร์บอนในภาคป่าไม้

 

ด้าน ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้เริ่มโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่ป่าชุมชนกว่า 290,000 ไร่ ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน และมีแผนที่จะขยายพื้นที่ไปยังป่าชุมชนทั่วประเทศไทย โดยเทคโนโลยีในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สามารถขยายโครงการ เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนชุมชนต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น 

 

โดยได้นำฐานข้อมูลการประเมินมวลชีวภาพในพื้นที่ป่าของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ไปผนวกกับความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของไทยคม จนเกิดเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำออกมา 

 

นอกจากนี้ยังเชื่อมั่นว่าเครื่องมือนี้จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้สามารถประเมินการกักเก็บคาร์บอนของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเร่งให้เกิดการพัฒนาโมเดลการประเมินมวลชีวภาพในพื้นที่ป่าประเภทอื่นๆ ด้วย เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือกับภาวะโลกร้อนหรือโลกรวน และร่วมกันส่งต่อโลกที่ยั่งยืนให้รุ่นลูกและรุ่นหลาน

 

ส่วน พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ประธานกรรมการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ อบก. กล่าวว่า ในฐานะที่ อบก. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน ได้พัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตของประเทศไทยภายใต้ชื่อ ‘โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย’ (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) เพื่อใช้เป็นกลไกในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการกักเก็บและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม 

 

โดยการพิจารณาการขึ้นทะเบียนหรือรับรองคาร์บอนเครดิตภายใต้โครงการ T-VER ผู้ดำเนินโครงการต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ อบก. กำหนด ซึ่งในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนของภาคป่าไม้ อบก. ได้กำหนดให้ผู้ดำเนินโครงการสามารถเลือกใช้วิธีการประเมินการกักเก็บคาร์บอนโดยเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลด้วยปัญญาประดิษฐ์ได้ แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวจะต้องได้รับการรับรองความถูกต้องและแม่นยำจาก อบก. ก่อนที่จะนำไปใช้ในการดำเนินโครงการ T-VER

 

ไทยคมนับเป็นหน่วยงานแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองเครื่องมือการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้โดยเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) จาก อบก. ที่สามารถนำมาใช้ประเมินคาร์บอนในพื้นที่ป่า 2 ประเภท ได้แก่ เต็งรังและป่าเบญจพรรณในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางของประเทศไทย 

 

ซึ่งนับเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปลูก ฟื้นฟู และดูแลป่าจากภาคธุรกิจเอกชน ที่มีความต้องการใช้ประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนในภาพใหญ่ของประเทศ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHGs Emission) ในปี 2065 บนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising