×

‘เอกชน’ แห่ออกหุ้นกู้หวังเติมทุนเสริมสภาพคล่องสู้วิกฤตโควิด ด้าน ส.ตราสารหนี้ คาดยอดระดมทุนปีนี้แตะ 9 แสนล้านบาท

08.07.2021
  • LOADING...
หุ้นกู้

แม้จะมีการระบาดของโควิดระลอกใหม่ในช่วงไตรมาส 2 ตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงครึ่งแรกปี 2564 ยังขยายตัว 2% จากการระดมทุนที่เพิ่มขึ้นของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติกลับเข้าซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทยตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ส่งผลให้ในครึ่งแรกปี 2564 ต่างชาติมียอดการซื้อสุทธิสะสม 7.34  หมื่นล้านบาท 

 

ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลัง สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยได้ปรับประมาณการออกหุ้นกู้ทั้งปีขึ้นเป็น 9 แสนล้านบาท หลังจากครึ่งปีแรกมีการออกหุ้นกู้ไปแล้ว 5.22 แสนล้านบาท 

 

ธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 นี้ คาดว่าบริษัทเอกชนไทยยังคงต้องการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ระยะยาวเพื่อรองรับสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงการ Refinance สินเชื่อที่กู้มาในช่วงก่อนหน้านี้ของบริษัทขนาดใหญ่เพื่อการเข้าซื้อกิจการ (M&A) โดยได้ปรับประมาณการออกหุ้นกู้ทั้งปีขึ้นจากเดิมที่ 750,000 ล้านบาท เป็นที่ 900,000 ล้านบาท 

 

ขณะเดียวกัน ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการผิดนัดชำระหุ้นกู้ก็อาจจะมีบ้าง โดยจะเป็นลักษณะของการขอยืดหนี้มากกว่า เบื้องต้นประเมินตัวเลขไว้ที่ 1,000-2,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนกลุ่มเดิมที่เคยขอยืดหนี้มาแล้วในปี 2563 และบริษัทรายใหม่ที่กิจการเริ่มมีปัญหา โดยเฉพาะในช่วงโควิดระลอกสาม 

 

ธาดาประเมินถึงกรณีที่รัฐบาลมีการระดมทุนโดยการเสนอขายตราสารรวมเป็นมูลค่าราว 2 ล้านล้านบาทนั้น ยังเชื่อว่าไม่กระทบต่อเครดิตเรตติ้งของประเทศ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ BBB+ เนื่องจากสัดส่วนเงินออมในระบบเศรษฐกิจของไทยอยู่ในระดับที่สูง และสามารถมาดูดซับซัพพลายตราสารรัฐบาลได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำมาก และมีแนวโน้มที่จะต่ำต่อเนื่องไปมากกว่า 1 ปี 

 

ส่วนทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่ามีโอกาสจะขยับขึ้นตาม Bond Yield ของสหรัฐอเมริกา จากการที่เฟดจะเริ่มส่งสัญญาณการทยอยถอนมาตรการการเงินผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Tapering) เมื่อตัวเลขต่างๆ สะท้อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจนในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า     

 

สำหรับภาพรวมตลาดตราสารหนี้ไทยครึ่งแรกปี 2564 ที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจไทยจะเผชิญการแพร่ระบาดของโควิดระลอกสามตั้งแต่ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา มูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทยในครึ่งปีแรกขยายตัว 2% มาอยู่ที่ 14.41 ล้านล้านบาท โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล และลดลงในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย 

 

ส่วนมูลค่าการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวเพิ่มขึ้น 63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีมูลค่าการออก 522,070 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่มียอดการออกทั้งปีสูงสุดเป็นประวัติการณ์

 

สำหรับการออกหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืน (ESG Bond) ยังเป็นกระแสอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มีมูลค่าการออก ESG Bond จากทั้งภาครัฐและเอกชนรวมทั้งสิ้น 61,000 ล้านบาท คิดเป็น 70% ของมูลค่าการออกปีที่แล้วทั้งปี  

 

ด้านการลงทุนจากต่างประเทศ (Fund Flow) ในครึ่งแรกของปี 2564 นักลงทุนต่างชาติมีการซื้อสุทธิรวม 73,437 ล้านบาท เป็นการขายสุทธิตราสารหนี้ระยะสั้น และซื้อสุทธิตราสารหนี้ระยะยาว เป็นการกลับเข้าซื้อตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ทำให้ยอดการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นไตรมาส 2 ของปีนี้อยู่ที่ 908,386 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 849,081 ล้านบาท ณ สิ้นปีก่อนหน้า โดยมากกว่า 90% เป็นการถือครองในตราสารหนี้ระยะยาว 

 

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในช่วงครึ่งปีแรกมีการปรับตัวในทิศทางขาขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมที่ปรับตัวขึ้นค่อนข้างมากตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่มีปัจจัยกดดันจากความกังวลด้านเงินเฟ้อ จากนั้นปรับตัวลงเล็กน้อยในไตรมาส 2 จากการระบาดของโควิดระลอกสาม เมื่อสิ้นไตรมาส 2 ของปี เส้น Bond Yield จึงมีลักษณะชันขึ้น (Steepen) จากสิ้นปีที่แล้ว 

 

โดย Bond Yield ปรับตัวสูงขึ้นจากสิ้นปีก่อนในทุกช่วงอายุ ซึ่งรุ่นอายุ 2 ปีเพิ่มขึ้น 13 bps. และรุ่นอายุ 10 ปีเพิ่มขึ้น 50 bps. จากปลายปีที่แล้ว มาอยู่ที่ระดับ 0.51% และที่ 1.78% ตามลำดับ ณ สิ้นไตรมาส 2

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising