ThaiBMA ระบุปัญหาการผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ได้น่ากังวล มองเป็นประเด็นปัญหาเฉพาะของบริษัท ส่วนภาพรวมธุรกิจอสังหาไม่น่าห่วง หลังผลงานครึ่งแรกปี 2565 ฟื้นตัวชัดเจน
สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า กรณีที่ในช่วงต้นปีนี้ถึงปัจจุบันมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์เอกชนที่มีปัญหาการผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ คือ บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ ALL นั้น มองว่าเป็นประเด็นปัญหาเฉพาะของบริษัท
ขณะที่ภาพใหญ่ของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้มีความน่ากังวล เพราะจากข้อมูลผลประกอบการในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 มีผลประกอบโดยรวมที่ฟื้นตัวดีขึ้นชัดเจน โดยมีกำไรและยอดขายเติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2564
สำรับตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2565 มีการเติบโตที่โดดเด่น โดยเห็นได้จากพัฒนาการ 5 ด้านที่สำคัญ คือ
- การออกหุ้นกู้เอกชนระยะยาวทำสถิติสูงสุดใหม่ (All Time High) ที่ 1.27 ล้านล้านบาท นับเป็นปีที่ 3 ที่ยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวทะลุ 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มสถานการณ์โควิดที่คลี่คลายอย่างต่อเนื่องในปี 2565 และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่ดีขึ้น
ประกอบกับทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทำให้ภาคเอกชนมีความต้องการออกหุ้นกู้อย่างมาก เพื่อล็อกต้นทุนทางการเงินและเตรียมการรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยการออกหุ้นกู้ระยะยาวในปี 2565 ได้ทำสถิติสูงสุดใหม่ (All Time High) ที่ 1.27 ล้านล้านบาท มีผู้ออกหุ้นกู้ระยะยาวรายใหม่ (Newcomer) เพิ่มขึ้น 30 บริษัท จาก 15 หมวดธุรกิจ ด้านการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ มีการซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทยสะสมทั้งปีที่ 46,611 ล้านบาท
- การเสนอขายตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน หรือ ESG Bonds (Environmental, Social and Governance) เพิ่มขึ้น 21% ในปี 2565 มีมูลค่าการออกรวม 210,994 ล้านบาท ทำให้มูลค่าคงค้างของ ESG Bonds ณ สิ้นปี 2565 ขึ้นมาอยู่ที่ 501,990 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 66% จากสิ้นปี 2564
- การเสนอขายหุ้นกู้ดิจิทัล (Digital Bond) บนแอปพลิเคชันเป๋าตังในปี 2565 รวม 11 รุ่นจากผู้ออก 8 ราย คิดเป็นมูลค่ารวม 29,074 ล้านบาท
- มีบริษัทหลักทรัพย์ที่เริ่มเข้าสู่ธุรกิจตราสารหนี้ (New Players) จำนวน 5 บริษัท
- โมบายล์แอปพลิเคชัน MeBond ที่พัฒนาโดย ThaiBMA ได้รับความนิยมจากนักลงทุนตราสารหนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มียอดดาวน์โหลดทะลุ 35,000 ครั้งในปี 2565 เพิ่มขึ้นกว่า 23,000 ดาวน์โหลดจากปี 2564
สำหรับยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวปี 2565 ที่ 1.27 ล้านล้านบาท สูงขึ้น 21% จากปีก่อนหน้า เป็นการเพิ่มขึ้นจากการออกหุ้นกู้ของทั้งกลุ่ม Investment Grade และกลุ่ม High Yield ที่รวมถึง Non-Rated จากความต้องการที่สูงของภาคเอกชนในการออกหุ้นกู้เพื่อล็อกต้นทุนทางการเงินและเตรียมการรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยในปี 2565 ได้มีผู้ออกหุ้นกู้ระยะยาวรายใหม่ (Newcomer) จำนวน 30 บริษัท จาก 15 หมวดธุรกิจ
ส่วนหมวดธุรกิจที่มีการออกหุ้นกู้ระยะยาวสูงสุด 5 อันดับแรกคือ หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ และหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ขณะที่มูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ 15.78 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.3% จากปี 2564 โดยมาจากตราสารหนี้ภาครัฐและหุ้นกู้ภาคเอกชนที่ขยายตัวในอัตรา 14% และ 9% ทำให้มีมูลค่าคงค้างที่ 7.77 ล้านล้านบาท และ 4.57 ล้านล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับกระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund Flow) ในปี 2565 นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อสุทธิในช่วงไตรมาส 1 ก่อนจะเปลี่ยนเป็นการขายสุทธิในช่วงไตรมาส 2-3 แล้วจึงกลับเข้าซื้อสุทธิอีกครั้งในไตรมาส 4/65
ทั้งนี้เมื่อรวมทั้งปี 2565 นักลงทุนต่างชาติมียอดการซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปีที่ 4.7 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 นักลงทุนต่างชาติมียอดการถือครองตราสารหนี้ไทยที่ระดับ 1.07 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6.8% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย โดยอายุคงเหลือเฉลี่ยของตราสารหนี้ที่นักลงทุนต่างชาติถือครองเท่ากับ 7.96 ปี
ด้านเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government Bond Yield Curve) ในปี 2565 ปรับตัวสูงขึ้นทุกรุ่นอายุตามทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องของ Fed เพื่อคุมอัตราเงินเฟ้อและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ทั้งปีมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้ง รวม 0.75% มาอยู่ที่ 1.25% ส่งผลให้ Bond Yield ไทยรุ่นอายุ 2 ปี ปรับตัวสูงขึ้น 0.97% จากสิ้นปีที่แล้วมาอยู่ที่ 1.63% ณ สิ้นปี 2565 ส่วน Bond Yield 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้น 0.74% มาอยู่ที่ 2.64% ณ สิ้นปี 2565
ส่วนเส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Yield Curve) อายุ 5 ปีของหุ้นกู้ทุกอันดับเครดิตปรับตัวสูงขึ้นในปี 2565 ในทิศทางเดียวกันกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนหุ้นกู้อายุ 5 ปีของผู้ออกทุกอันดับเครดิตสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 0.59% โดย ณ สิ้นปี 2565 อันดับเครดิต AAA ขยับขึ้นมาที่ 2.72%, AA ที่ 3.07%, A ที่ 3.25%, BBB+ ที่ 4.31% และ BBB ที่ 5.03%
นอกจากนี้ คาดว่าปี 2566 น่าจะได้เห็นยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท จากความต้องการของภาคเอกชนในการออกหุ้นกู้ที่ยังมีอย่างต่อเนื่องจากในปีที่ผ่านมา ในขณะที่การสำรวจการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของผู้ร่วมตลาดคาดว่า กนง. จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2-3 ครั้งในปี 2566 สู่ระดับ 1.75-2.00% ส่วน Bond Yield รุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี ตลาดมีการคาดการณ์ว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยในกรอบ 0.20-0.30% จากสิ้นปี 2565
ด้าน อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า กรณี บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ ALL การผิดนัดชำระดอกเบี้ยมองว่ามีโอกาสน้อยที่จะมีผลกระทบลุกลามให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ รวมถึงหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield Bond) ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) แห่งใหม่เพิ่มเติม เพราะประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นเฉพาะตัว
ทั้งนี้ ปัญหาการผิดชำระหนี้หุ้นกู้ โดยภาพรวมในตลาดตราสารหนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติ ซึ่งมักไม่ได้มีสัญญาณแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2565 ข้อมูลหุ้นกู้ที่มีปัญหามูลค่าเท่ากับ 9.94 หมื่นล้านบาท หากไม่นับหุ้นกู้ของ บมจ.การบินไทย (THAI) มูลค่า 7.16 หมื่นล้านบาท ที่เข้าแผนฟื้นฟูกิจการไปแล้ว จะพบว่าสัดส่วนหุ้นกู้ที่มีปัญหาจะมีสัดส่วนเพียง 0.6% ของมูลค่าคงค้างหุ้นกู้เอกชน โดยพบว่าในช่วงก่อนโควิดแพร่ระบาดมีจำนวน 4 บริษัทที่ผิดชำระหนี้ มูลค่า 1.02 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะตัวของแต่ละบริษัท ส่วนบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ถูกผลกระทบจากโควิดจนต้องปรับโครงสร้างธุรกิจ (Restructure) มีจำนวน 16 บริษัท มีมูลค่าหนี้หุ้นกู้รวม 1.43 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เริ่มมีแนวโน้มผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นจนเริ่มกลับมาทยอยใช้คืนหนี้ได้แล้ว