×

‘ไทยเบฟฯ’ เตรียมรุกธุรกิจใหม่ ‘สถานีชาร์จรถไฟฟ้า’ ย้ำไม่เข้าซื้อ KFC ของ RD เพราะบริษัทแม่อยากให้มีแฟรนไชส์ 3 ราย

27.09.2022
  • LOADING...
ไทยเบฟ

ไทยเบฟฯ กางแผนรับมือเงินเฟ้อ-ต้นทุนการผลิตพุ่ง มุ่งขยายการเติบโตธุรกิจสุรา เบียร์ เครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ อาหาร ย้ำยังไม่ล้มแผนนำเบียร์โค (Beerco) เข้าระดมทุนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ รอเพียงจังหวะและโอกาสที่เหมาะสม

 

ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานแถลงแผนการดำเนินงานกลุ่มธุรกิจไทยเบฟฯ ประจำปี 2565 ว่า หลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิดคลี่คลายลง ผู้คนออกมาใช้ชีวิตปกติ แต่อีกด้านยอมรับว่า ธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทายจากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างประเทศ ภาวะเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยขาขึ้น และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและการบริโภคในครัวเรือน ดังนั้นบริษัทจึงต้องปรับวิธีการดำเนินงาน โดยใช้มาตรการรัดเข็มขัดค่าใช้จ่าย บริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้กลายเป็นบริษัทเดียวในอาเซียนที่ติดอันดับ Top 10 ของเอเชีย ในด้านรายได้และมูลค่าทางการตลาด ส่วนผลประกอบการงวด 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565 รายได้ของกลุ่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เป็น 207,922 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของ 3 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าตลาดกลับมาฟื้นตัว ส่วนกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน เป็น 39,110 ล้านบาท โดยภาพรวมสถานะการเงินยังมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 


 

สำหรับยุทธศาสตร์จากนี้ไป มุ่งขับเคลื่อนองค์กรภายใต้กลยุทธ์ Passion 2025 สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ด้วยการต่อยอดจากพื้นฐานธุรกิจที่มีอยู่ ภายใต้งบลงทุน 5,000-8,000 ล้านบาท (ตุลาคม 2565 – กันยายน 2566) ให้น้ำหนักไปที่การสร้างการเติบโตด้านการขนส่งและนวัตกรรมใหม่ๆ ของธุรกิจในเครือ โดยจะไม่เน้น M&A ควบคู่กับการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม เข้ามาเชื่อมกับระบบโลจิสติกส์ รวมถึงการลงทุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV ต้องกลับมามองว่าประเทศไทยผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วหรือยัง หรือหากยังไม่มีการผลิตอาจจะต้องพิจารณาการลงทุนในรูปแบบของการนำเข้าแทน

 

นอกจากนี้ รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะนำมาใช้ในการขนส่งสินค้า พร้อมเข้าสู่ธุรกิจสถานีชาร์จรถไฟฟ้า ถือเป็นตลาดเกิดใหม่ยังมีผู้เล่นไม่มาก ซึ่งบริษัทมีความได้เปรียบจากการต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน ทั้ง ทำเล และธุรกิจอื่นๆ ที่บริษัทมีอยู่แล้วได้ โดยจะนำร่องจากสาขา KFC ที่มีจุดชาร์จรถในช่วงสิ้นปี 2565

 

“เบื้องต้นบริษัทกำลังศึกษาเรื่องของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV (Electric Vehicle) เพื่อรองรับเทรนด์โลก เบื้องต้นในปี 2565 จะเป็นช่วงของการศึกษาตลาด เพื่อมองหาคีย์สำคัญในทิศทางการดำเนินธุรกิจ ก่อนที่ในปี 2566 จะเป็นปีของการเริ่มลงทุน ซึ่งจะเห็นภาพชัดเจนในปี 2568”

 

พร้อมมุ่งให้ความสำคัญกับ Inverting in Digital & Innovations เริ่มจากการนำเทรนด์ด้านสุขภาพรองรับผู้บริโภคทั้งไทยและทั่วโลกที่ให้ความสำคัญมากขึ้น ซึ่งหันมาเพิ่มน้ำหนักกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ เนื่องจากตลาดมีศักยภาพในการเติบโต สะท้อนได้จากสัดส่วนตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศอาเซียนอยู่ในระดับ 32-87% ทำให้ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้ปรับโครงสร้างให้ความสำคัญในกลุ่มโปรดักต์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เทียบเท่ากับธุรกิจสุราและเบียร์ แม้มาร์จิ้นจะต่ำกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์คนสามารถดื่มได้ทั้งวัน แต่ดื่มแอลกอฮอล์ได้เพียง 1-2 ขวด

 

ในส่วนของกลุ่มธุรกิจสุรา หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิดมากว่า 2 ปี จากมาตรการปิดร้านอาหารและสถานบันเทิงชั่วคราว ขณะนี้เริ่มกลับมาฟื้นตัว โดยรวงข้าว สุราขาว และหงส์ทอง ยังสามารถรักษาส่วนแบ่งของตลาดได้ดี หากดูผลวิจัยช่วง 12 เดือนย้อนหลัง แสงโสมเติบโต 9% จากปัจจัยการท่องเที่ยวฟื้นตัว และมีส่วนช่วยให้ตลาดสุราสีในไทยปรับตัวดีขึ้น ขณะที่เบลนด์ 285 ซิกเนเจอร์ และเมอริเดียน บรั่นดี เติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน

 

ตามด้วยธุรกิจเบียร์ทั้งในไทยและเวียดนาม ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 มีรายได้เพิ่มขึ้น 15% และมีกำไรเพิ่มขึ้น 26% เนื่องจากมีปริมาณการขายเพิ่มขึ้น เพราะเริ่มมีกิจกรรมการตลาด เช่น งานคอนเสิร์ต และอีเวนต์ต่างๆ กลับมาอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงการขึ้นราคาและควบคุมต้นทุนการผลิต ส่วนธุรกิจเบียร์ในเวียดนาม ซาเบโก้ เติบโตด้วยเช่นกัน ควบคู่กับการเปิดตัว Bia Saigon Lager รุ่นลิมิเต็ดในช่วงเทศกาล

 

ด้านแผนนำธุรกิจเบียร์หรือเบียร์โค (BeerCo) เข้าตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์นั้น ยืนยันว่ายังคงเดินหน้าตามแผนเดิม ยอมรับว่าสภาพตลาดโดยรวมยังไม่เอื้อมากนัก ยังมีหลายปัจจัยที่ยังต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงต้องรอจังหวะเมื่อตลาดพร้อม ซึ่งอนาคตอาจจะอยู่ใน 6-12 เดือน ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้

 

ถัดมาเป็นกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ได้ขยายผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีน้ำตาล หรือมีน้ำตาลน้อย เข้าตอบโจทย์ผู้บริโภค ล่าสุดได้ลอนช์ซุปปลาทูน่าสกัด และโออิชิ กรีนที ฮันนี่เลมอน น้ำตาล 0% ควบคู่กับการจัดแคมเปญการตลาดส่งเสริมการขาย ซึ่งได้รับการตอบรับด้านยอดขายเป็นอย่างดี

 

รวมถึงกลุ่มธุรกิจอาหาร เตรียมใช้งบลงทุน 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้เปิดร้านอาหารใหม่ จำนวน 70 สาขา เน้นเปิดร้าน KFC 35 สาขา ส่วนที่เหลือจะเป็นร้านโออิชิ ชาบูชิ และร้านกาแฟเอสเอ็กซ์ คาเฟ่ โดยจะเน้นเปิดในรูปแบบร้านขนาดเล็ก และใช้งบลงทุนไม่สูงมาก  ปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารในเครือมีทั้งหมด 725 สาขา โดยเป็นแบรนด์ KFC 412 สาขา 

 

ทั้งนี้ บริษัทยังได้ชี้แจงว่า บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด ไม่ได้เตรียมเข้าซื้อแฟรนไชส์ KFC ของบริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือ RD เนื่องจาก ยัม เรสเทอรองตส์ เจ้าของแฟรนไชส์ KFC ในประเทศไทย ต้องการรักษาให้แฟรนไชส์ KFC ในไทยมี 3 เจ้า เพื่อให้เกิดการแข่งขันและการเติบโต โดยบริษัทได้ยึดแนวทางการขยายสาขาในทำเลนอกศูนย์การค้ามากขึ้น 

 

แม่ทัพใหญ่ไทเบฟฯ ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ค่าบาทอ่อน ไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจ แม้ต้องนำเข้าวัตถุดิบ มอลต์สำหรับผลิตเบียร์ และอะลูมิเนียมสำหรับทำกระป๋อง แต่ได้มีการสั่งซื้อล่วงหน้าประมาณ 1 ปี แต่ในระยะยาวหากค่าบาทอ่อน เริ่มส่งผลกระทบจนบริษัทไม่สามารถแบกรับต้นทุนไว้ได้ อาจต้องขึ้นราคาสินค้า 

 

ส่วนภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย เป็นแนวทางปกติของสรรพสามิตที่จะดำเนินการขึ้นภาษีในช่วงที่ราคาสินค้ามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เพื่อบริหารจัดการรายได้ของรัฐ แต่ต้องจับตาอัตราภาษีใหม่ที่จะนำมาใช้ เพราะราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าหากมีการปรับขึ้น ภาครัฐจะสามารถออกเกณฑ์ที่เหมาะได้

 

ปัจจุบันไทยเบฟฯ ลงทุนใน 4 ประเภทธุรกิจ ทั้ง สุรา เบียร์ กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหาร มีเครือข่ายกระจายสินค้า 5 แสนจุดทั่วประเทศ และจำหน่ายสินค้าครอบคลุม 90 ประเทศทั่วโลก เป้าหมายใหญ่คือการขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในอาเซียน

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X