กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จับมือเอกชนพร้อม 5 หน่วยงาน รับแรงงานไทยในอิสราเอลกลับมาผลักดันอุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่ ระยะเวลา 2 ปี รัฐบาลช่วยเหลือทุกด้าน พร้อมปล่อยกู้ให้กับแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาจากอิสราเอลรายละ 150,000 บาท โดยให้เวลาแรงงานตัดสินใจถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567
ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยจำนวนมาก ส่งผลให้ต้องเดินทางกลับมายังประเทศไทย จึงได้เตรียมการรองรับแรงงานเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพในประเทศไทยได้ โดยเฉพาะผู้มีทักษะด้านการเกษตร ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือ 5 ฝ่าย ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงาน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิดขุมทรัพย์ใหม่อุตสาหกรรมไทย ‘ซาอุดีอาระเบีย’ มีอะไรที่ไม่ใช่น้ำมัน ทำไมบิ๊กคอร์ปไทยจึงต้องปักหมุด
- รู้จัก ‘อิสราเอล’ ประเทศที่มีประชากรเพียง 9 ล้านคน แต่เต็มไปด้วยคนเก่งสตาร์ทอัพ จนกลายเป็นดินแดนแห่งขุมทรัพย์ Fintech อันดับต้นๆ ของโลก
- รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือชาวนา อุ้มราคาข้าวเปลือกหอมมะลิที่ร่วงหนัก โดยรับซื้อตันละ 12,000 บาท
โดยจะพัฒนาแรงงานภาคการเกษตรกลุ่มนี้ให้พร้อมเข้าสู่การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมเกษตรในไทย หรือมีทักษะในการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร นำประสบการณ์และความชำนาญของแรงงานที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่จากอิสราเอลภายใต้ข้อจำกัดด้านดิน น้ำ สภาพอากาศ โดยมีระยะเวลา 2 ปี มีเป้าหมายในการพัฒนาแรงงานภาคเกษตร 7,500 คน
สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อชีวิตและความปลอดภัยของแรงงานไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศอิสราเอลกว่า 30,000 ราย และส่วนใหญ่เป็นแรงงานในภาคการเกษตร
โดยข้อมูลปี 2566 ประเทศไทยส่งแรงงานไปทำงานภาคเกษตรที่อิสราเอลกว่า 6,500 คน (ข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) และเป็นกลุ่มแรงงานภาคเกษตรที่มีศักยภาพในระดับสูง จึงได้จัดเตรียมแผนความพร้อมในการดูแลคนไทยกลุ่มแรงงานเกษตรที่อพยพกลับจากอิสราเอล ผ่านการดำเนินงานภายใต้ชื่อ ‘โครงการส่งเสริมฝีมือแรงงานเกษตรไทยในต่างแดนกลับคืนถิ่น’ ซึ่งจะมีการพิจารณาแรงงานเข้าร่วมโครงการฯ จากทักษะ ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ แบ่งเป็น 3 แนวทางตามความสมัครใจ ได้แก่
- ปั้นสู่ครูพี่เลี้ยง
- ป้อนสู่กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร
- ปูทางอาชีพสู่บ้านเกิด
ทั้งนี้ หอการค้าไทยเล็งเห็นถึงโอกาสในการนำความรู้และประสบการณ์ของแรงงานเกษตรกลุ่มนี้มาปรับใช้ โดยจะเชื่อมโยงแรงงานที่มีทักษะตรงกับความต้องการเข้าสู่การจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร
ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทสมาชิกของหอการค้าฯ เช่น บ.มิตรผล บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร บ.สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น ฯลฯ รวมถึงบริษัทที่เป็นสมาชิกของหอการค้าทั่วประเทศ พร้อมเดินทางกลับประเทศ และสามารถมีอาชีพและรายได้ที่สูงตามศักยภาพ รวมทั้งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภาคเกษตรของไทยให้ก้าวหน้า
ปล่อยกู้ให้แรงงานไทยที่เดินทางกลับมาจากอิสราเอลรายละ 150,000 บาท
รายงานข่าวระบุว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัปดาห์ที่ผ่านมา ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมอนุมัติสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทยจากอิสราเอล เพื่อปล่อยกู้ให้กับแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาจากอิสราเอลรายละ 150,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 3% โดยรัฐบาลช่วยเหลือดอกเบี้ยให้ 2% แรงงานผู้กู้จ่ายเอง 1% ผ่อนชำระ 20 ปี คิดเป็นผ่อนชำระต่อเดือน 689.84 บาท โดยให้เวลาแรงงานตัดสินใจถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 การยื่นขอกู้ครั้งนี้ถือเป็นมาตรการดูแลแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในอิสราเอล
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยังเสนอที่ประชุม ครม. เป็นกรณีพิเศษให้เพิ่มเงินเยียวยาแรงงานไทยที่กลับจากอิสราเอลที่รัฐบาลเห็นชอบให้รายละ 15,000 บาท เนื่องจากเห็นว่าไม่น่าจะเพียงพอ จึงได้ขออนุมัติงบกลางจ่ายให้เพิ่มอีกรายละ 50,000 บาท มีผลกับแรงงานทุกคนที่เดินทางกลับมา โดยให้กระทรวงแรงงานเสนอเรื่องเข้ามาสัปดาห์หน้า นอกจากนี้ยังขอให้พักชำระหนี้ทั้งต้นและดอกแก่แรงงานไทยทุกคนที่เป็นหนี้สถาบันการเงินอยู่เป็นเวลา 1 ปีด้วย