×

ข้าวโพดไพ่ไทยสู้ทรัมป์: ส่องไพ่ในมือ รัฐบาลไทยจะเสนอซื้อสินค้าเกษตรใดจากสหรัฐฯ เพื่อเลี่ยงภาษีตอบโต้ กลุ่มใดได้-เสียประโยชน์

13.04.2025
  • LOADING...
thai-us-agriculture-trade

ส่องไพ่ในมือรัฐบาล จะยอมนำเข้าสินค้าเกษตรใดเพื่อเลี่ยงภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tarrif) ด้าน พิชัย ชุณหวชิร ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาแก้ไขปัญหากำแพงภาษีกับสหรัฐอเมริกา ชู ‘ข้าวโพด’ กลยุทธ์ Win-Win ของไทยและสหรัฐฯ ชี้นำเข้าเพิ่ม จะดันไทยให้เป็นฮับอุตสาหกรรมการแปรรูปเกษตรกรรม ช่วยเพิ่มผลผลิต (Productivity) และการจ้างงานในประเทศ

 

เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเลื่อนการขึ้นภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tarrif) ออกไปอีก 90 วัน แต่ยังคงการขึ้นภาษีศุลกากรแบบ Universal Tarrif ไว้ที่ 19% นับเป็นการต่อเวลาให้รัฐบาลทั่วโลก รวมถึงรัฐบาลไทยที่โดนเรียกเก็บ Reciprocal Tarrif สูงถึง 36% ให้มีเวลาทำการบ้านและเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ นานขึ้นอีกนิด

 

ดังนั้น ย้อนกลับไปวานนี้ (11 เมษายน) พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาแก้ไขปัญหากำแพงภาษีกับสหรัฐอเมริกา ได้จัดการประชุมหารือแนวทางการดำเนินการของไทยต่อกรณีนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมการประชุมด้วย 

 

โดยหลังจากจบการประชุมนัดดังกล่าว รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมที่มุ่งเน้นเกี่ยวกับ ‘กลุ่มสินค้าเกษตร’ สำหรับกลุ่มสินค้าอื่นๆ ก็จะมีการจัดประชุมนัดต่อไป ในเร็วนี้

 

กระทรวงการคลัง

 

‘สินค้าเกษตร’ สำคัญอย่างไร

 

ตามข้อมูลจากแหล่งข่าวกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า มูลค่าการส่งออกอาหาร สินค้าเกษตร และไลฟ์สไตล์จากไทยไปสหรัฐฯ อยู่ที่ราว 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 30% คิดเป็นการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ

 

นอกจากนี้ พิชัยยังกล่าวว่า ภาคเกษตรกรรมถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย และยังสามารถเติบโตได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะการแปรรูปอาหารสัตว์ซึ่งปัจจุบันไทยส่งออกอาหารสัตว์แปรรูป มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท หรือประมาณ 21 ล้านตัน มีส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกประมาณ 3%

 

ดังนั้น พิชัยจึงต้องการใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสแทน โดยตั้งเป้าจะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของไทยให้อยู่ที่ 6% ของโลก ในระยะยาวประมาณ 5-7 ปีข้างหน้า

 

พิชัย ประชุม

 

อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารสัตว์ไทยจะกลายเป็น Hub โลกได้อย่างไร?

 

ในวันเดียวกันพิชัย ได้ให้สัมภาษณ์กับ นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร THE STANDARD โดยระบุว่า ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและมีขีดความสามารถในการแปรรูป โดยปัจจุบันไทยส่งออกอาหารสัตว์แปรรูปประมาณ 21 ล้านตัน โดยจำนวนนี้ ใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นวัตถุดิบในสัดส่วนค่อนข้างมากถึง 9 ล้านตัน

 

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันไทยสามารถผลิตข้าวโพดได้ประมาณ 5 ล้านตันเท่านั้น ทำให้ต้องนำเข้าข้าวโพดมาจากประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านถึง 4 ล้านตันต่อปี

 

ดังนั้น การมีวัตถุดิบที่เพียงพอ การนำเข้าข้าวโพดมากขึ้นพร้อมๆ กับการยกระดับผลผลิตอาหารสัตว์ในประเทศเพิ่ม ย่อมจะทำให้ประเทศไทยขึ้นเป็นศูนย์กลาง (Hub) การเกษตรแปรรูปได้ ช่วยเพิ่มผลผลิต (Productivity) และการจ้างงานในประเทศ

 

พิชัย เคน นครินทร์

 

Win-Win Solution: ข้าวโพด ‘ไพ่ไทย’ สู้ทรัมป์

 

พิชัย ยังเปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า ปัจจุบัน รัฐบาลพยายามโฟกัสไปที่สิ่งที่อเมริกาอยากส่งออกมากที่สุดพบว่า คือ ‘ข้าวโพด’ เนื่องจากหากความขัดแย้งกับจีนรุนแรงขึ้น สหรัฐฯ อาจมีปัญหาด้านการส่งออกข้าวโพดได้ ดังนั้นข้าวโพดจึงเป็นจุดแข็งของเรา

 

พิชัยกล่าวอีกว่า สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในประเทศที่ต้นทุนข้าวโพดถูกมากๆ ดังนั้นย่อมจะทำให้ราคาอาหารสัตว์ในประเทศถัวเฉลี่ยลดลงด้วย เป็นผลประโยชน์ที่ลงตัวทั้งสำหรับสหรัฐฯ และไทย

 

“ผมคุยกับผู้ประกอบการอาหารสัตว์ของไทยเขาบอกว่า ถ้ามีข้าวโพดมากกว่านี้ก็สามารถผลิตและส่งออกได้อีก ผมเลยคิดว่า อาจทดลองนำเข้ามาจากสหรัฐฯ สัก 1 ล้านตันก่อนดูว่า สะดวกไหม แต่สิ่งที่นำเข้ามาต้องไม่แพงกว่าในประเทศ เบื้องต้น ผมดูแล้ว พบว่า ราคายังถูกกว่าเล็กน้อย แม้มีค่าขนส่งอยู่ เข้ามาแล้วจะไม่ทำให้ตลาดในประเทศเสีย” พิชัยกล่าว

 

ทั้งนี้ตามข้อมูลจากแหล่งข่าวกระทรวงการคลังระบุว่า ไทยจัดเก็บอัตราภาษีนำเข้าข้าวโพดสำหรับอาหารสัตว์ (Feed Corn) อยู่ที่ 73%

 

ไทยยังมีโอกาสนำเข้าสินค้าเกษตรอื่นๆ จากสหรัฐฯ ด้วย

 

พิชัยกล่าวอีกว่า ไม่ใช่แค่ข้าวโพดเท่านั้นแต่ไทยยังมีโอกาสนำเข้าสินค้าอื่นๆ จากสหรัฐฯ ด้วย ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ไทยขาดแคลน และต้องนำเข้าอยู่แล้ว (Net Import) สินค้าที่จะนำเข้าเพิ่มจากสหรัฐฯ ต้องมีคุณภาพดีและราคาถูก เพียงพอที่จะแข่งขันกับประเทศคู่ค้าเดิมอื่นๆ ของไทยได้ (Competitive)

 

นอกจากนี้ เพื่อช่วยทำให้การแข่งขันเป็นธรรมมากขึ้นสำหรับสหรัฐฯ พิชัยกล่าวว่า กำลังทบทวนอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ให้เท่าๆ กับประเทศอื่นๆ ส่วนอัตราจะอยู่ที่เท่าไหร่จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ผลิตภายในประเทศ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญ

 

“สินค้าเกษตรของไทยกับประเทศคู่ค้าใหญ่ๆ เป็นศูนย์เกือบหมดแล้ว การทำให้ภาษีสินค้าสหรัฐฯ เหลือศูนย์เท่าเทียมกับประเทศอื่นๆ ไม่มีปัญหา แต่ประเด็นคือ ไม่ว่าสหรัฐฯ จะไปเวียดนามหรือมาไทย สหรัฐฯ ก็ต้องแข่งกับประเทศอื่นๆ ที่อัตราภาษีเหลือศูนย์เช่นกัน เราเลยเลือกสนับสนุนสินค้าที่สหรัฐฯ มีปัญหามากที่สุดเหลือมากที่สุด คือข้าวโพดที่มีราคาถูกสุดในโลก ถ้าคุณมาเรามั่นใจว่า คุณจะสู้กับคนอื่นได้” พิชัยกล่าว

 

แหล่งข่าวกระทรวงการคลังยังเปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า นอกเหนือจากข้าวโพดแล้ว ไทยยังต้องนำเข้ากากถั่วเหลืองมาเพื่อผลิตอาหารสัตว์ ราว 3 ล้านตัน นอกจากนี้ ไทยก็ยังนำเข้าชีส (มูลค่า 3.5 พันล้านบาท) เฟรนช์ฟรายส์ (มูลค่า 1 พันล้านบาท) ผลไม้เมืองหนาว (มูลค่า 1.1 พันล้านบาท) เช่น แอปเปิ้ล องุ่น สตรอว์เบอร์รี และเชอร์รีอยู่แล้ว ซึ่งส่วนนี้อาจเพิ่มโอกาสให้สหรัฐฯ ได้เช่นกัน

 

จับตาผลิตภัณฑ์หมู-โค

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายกลุ่มสินค้าที่รัฐบาลยังอยู่ในระหว่างการตัดสินใจ เช่นผลิตภัณฑ์เครื่องในหมูและโค กระนั้น พิชัย ได้ส่งสัญญาณว่าจะไม่นำเข้าเครื่องในหมูจากสหรัฐฯ เพิ่ม เนื่องมาจากปัจจุบันการผลิตหมูในไทยเหลือจนสามารถส่งออกได้ ไม่ขาดแคลน แตกต่างจากข้าวโพดที่เป็นสินค้าที่ไทยขาดแคลน (Net Importer) 

 

นอกจากนี้ การนำเข้าเครื่องในหมูมาอาจจะทำให้ราคาในประเทศตกต่ำส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

 

ภาพ: KobchaiMa / Shutterstock

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising