×

นายกฯ ร่วมฟังปัญหาธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป ‘ไทยยูเนี่ยน ซีฟู้ด’ แนะรัฐทุ่ม 3 พันล้าน พัฒนาสายพันธุ์กุ้ง เหตุมีโรคระบาด-แบงก์ไม่ปล่อยกู้

โดย THE STANDARD TEAM
17.02.2025
  • LOADING...
นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมโรงงานไทยยูเนี่ยน ซีฟู้ด จ.สงขลา รับฟังแผนพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง

วันนี้ (17 กุมภาพันธ์) เวลา 15.00 น. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางเข้าเยี่ยม บริษัท ไทยยูเนี่ยน ซีฟู้ด จำกัด ที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เพื่อพูดคุยรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะในกระบวนการผลิตและส่งออกอาหารทะเลของไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลไทยบนเวทีโลก โดยมี ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ ฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน ซีฟู้ด จำกัด ให้การต้อนรับ

 

ธีรพงศ์กล่าวว่า บริษัทขอขอบคุณที่ภาครัฐให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย เพราะเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอาหารทะเลส่งออกอันดับต้นๆ ของโลก ที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่ต้องการในตลาดโลก จากคุณภาพ รสชาติ และมาตรฐานการผลิตระดับสากล โดยไทยยูเนี่ยนมีความพร้อมในการสร้างความเชื่อมั่น เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้า การลงทุน และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

 

ทั้งนี้ โรงงานไทยยูเนี่ยน ซีฟู้ด จังหวัดสงขลา เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มไทยยูเนี่ยน ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2539 เป็นโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำแช่แข็งที่มีกำลังการผลิตปีละ 18,000 ตัน ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 1,500 คน โดยมีสินค้าไฮไลต์ เช่น กุ้งเป็นต้มสุก กุ้งซูชิ และกุ้งชุบแป้งทอด จัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ

 

ธีรพงศ์กล่าวว่า 47 ปีที่เราดำเนินธุรกิจอาหารแปรรูป ปัจจุบันมีการจ้างแรงงานทั้งหมด 45,000 คน รายได้ปี 2567 รวม 1.38 แสนล้านบาท ธุรกิจหลัก ได้แก่ อาหารทะเลแปรรูป 49%, อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง 31%, อาหารสัตว์เลี้ยง 13% และอาหารสำเร็จรูป 7% นอกจากจะผลิตในประเทศไทย เราเป็นบริษัทอาหารทะเลรายแรกๆ ที่ลงทุนในต่างประเทศทั่วโลก ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และแอฟริกา โดยในไทยมีโรงงานที่สงขลาและสมุทรสาคร

 

จากนั้นแพทองธารถามว่า โรงงานมีอะไรเชื่อมโยงกับชาวบ้านหรือไม่ ถ้าไม่มีอยากจะให้ช่วยซัพพอร์ต เพราะประกอบธุรกิจมา 40 ปี ต้องมีความรู้ให้กับชุมชน จะสามารถทำ CSR ที่เกี่ยวกับภูมิปัญญาของเกษตรกรได้หรือไม่

 

ฤทธิรงค์ตอบว่า เราอยู่ในพื้นที่ไหนก็จะดูแลชาวบ้านรอบโรงงานก่อน โดยมีแนวคิดว่า ทุกกิจการไม่ว่าจะไทยหรือมุสลิม ผู้บริหารก็มีนโยบายชัดเจน พื้นที่ที่เราอยู่ต้องนำความต้องการของชาวบ้านมาเป็นรั้วของเรา และร่วมทุกกิจกรรมของหมู่บ้าน รวมถึงการให้ทุนการศึกษา โดยไม่ได้เลือกเฉพาะเด็กเรียนดี แต่เราเลือกเด็กที่ขาดโอกาส มีฐานะไม่ดี รวมถึงร่วมทำกิจกรรมกับจังหวัดรวมถึงท้องถิ่นด้วย

 

ฤทธิรงค์ย้ำด้วยว่า โรงงานอื่นๆ กลุ่มไทยยูเนี่ยนมี 4 โรงงาน มีการจ้างงาน 40,000 คน อุตสาหกรรมกุ้งเราเน้นการส่งออกเป็นหลัก บริษัทจำเป็นที่จะต้องได้มาตรฐานต่างๆ ทั้งของญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป แม้แต่ในประเทศไทย เพื่อให้แน่ใจว่าผู้บริโภคซื้อสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยด้วยนโยบายและมาตรฐานเดียวกัน บริษัทมีโรงงาน 17 แห่งใน 14 ประเทศทั่วโลก โดยโรงงานอาหารหลักที่อยู่ในประเทศไทยประกอบไปด้วยที่สงขลาและสมุทรสาคร

 

นอกจากนี้ บริษัท ไทยยูเนี่ยน ซีฟู้ด จำกัด ได้เสนอปัจจัยส่งเสริมอุตสาหกรรมกุ้งแช่แข็งไทยให้แข่งขันได้บนเวทีโลก ดังนี้

 

  1. ผลักดันเพิ่มผลผลิตกุ้งขาวขึ้นไปที่ระดับ 450,000 ตัน เพื่อเพิ่มโอกาสในการขาย โดยทำ FTA กับประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น ประเทศกลุ่ม EU ปัจจุบันเสียภาษีนำเข้าจาก GSP อยู่ที่ 12-20% รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาสายพันธุ์ลูกกุ้งอย่างเต็มที่ให้มีปริมาณกุ้งเพียงพอให้ดึงดูดคู่ค้าต่างประเทศ และให้มีการสนับสนุนเงินทุนให้เกษตรกร เช่น ธ.ก.ส. และการจูงใจให้เข้าถึงเงินลงทุน

 

  1. ด้านรายงานและส่งเสริมพลังงานสะอาด โดยเดินหน้าค่าแรงและค่าพลังงานเป็นต้นทุนการผลิตหลักสำหรับอุตสาหกรรมกุ้ง ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำประเทศไทยอยู่ที่ 372 บาท สูงกว่าประเทศคู่แข่งประมาณ 1 เท่าตัว และการกำกับดูแลแรงงานที่สอดคล้องกับข้อกำหนด IUU 

 

  1. ให้สนับสนุนความยั่งยืน สร้างนโยบายจูงใจ สนับสนุนให้เกษตรกรหันเข้าสู่การใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก

 

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ผลผลิตอาหารทะเลลดลงมี 3 ประการ ได้แก่

 

  1. สายพันธุ์กุ้ง เนื่องจากอุตสาหกรรมกุ้งนั้นเคยส่งออกรวมทั่วประเทศเป็นรายได้ประมาณ 3 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบันมีรายได้เพียง 4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น จึงเสนอให้ตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในภาคใต้และภาคตะวันออก

 

  1. โรคระบาด เนื่องจากสัตว์เลี้ยงมีโรคระบาด จึงอยากให้รัฐบาลช่วยเหลืองบการทำวิจัยให้แก่กรมประมง

 

  1. เกษตรกรขาดการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ ทางบริษัทแนะนำรัฐบาลให้ช่วยเหลือในการพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง โดยสร้างสถาบันวิจัยพันธุ์กุ้ง งบประมาณลงทุน 3 พันล้านบาท เพื่อพัฒนาสายพันธุ์กุ้งในภาคใต้และภาคตะวันออก ซึ่งจะลงทุน 1 พันล้านบาทต่อแห่ง โดยทำต่อเนื่อง 3-10 ปี

 

“อุตสาหกรรมจะแข็งแรงมากขึ้นจะต้องมีการลองผิดลองถูก สิ่งที่เราขาดคือผู้ผลักดันและงบประมาณ เรื่องนี้จะต้องมีการผลักดัน เพราะโรคต่างๆ ก็มีการพัฒนา หากเราหยุดพัฒนาจะทำให้ถอยหลัง”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising