×

สภาพัฒน์เผยจำนวนผู้ว่างงานยาวเกิน 1 ปีขึ้นไปพุ่งถึง 16.2% ด้านแรงงานจบมหาวิทยาลัยตกงานมากสุด

25.11.2024
  • LOADING...
ว่างงาน

สภาพัฒน์เผยในไตรมาส 3 ของปีนี้จำนวนผู้ว่างงานระยะยาวตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นถึง 16.2%YoY จำนวนนี้ 3 ใน 4 อยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ขณะที่อัตราว่างงานแรงงานที่จบอุดมศึกษาอยู่ที่ 2.14% สูงกว่าอัตรา ว่างงาน โดยรวมลดลงอยู่ที่ 1.02% สะท้อนว่าแรงงานที่จบมหาวิทยาลัยว่างงานมากที่สุด สูงกว่าแรงงานที่จบการศึกษาต่ำกว่า

 

วันนี้ (25 พฤศจิกายน) ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยว่า อัตราว่างงาน (Unemployment Rate) ณ ไตรมาส 3 ของปีนี้อยู่ที่ 1.02% หรือมีผู้ว่างงาน 410,000 คน ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 1.07% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่อัตราการว่างงานในระบบอยู่ที่ 1.82% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่ 1.93% โดยมีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานทั้งสิ้น 74,000 คน ซึ่งกว่า 95% เป็นแรงงานในภาคการผลิต

 

โดยจำแนกตามระดับการศึกษาสูงสุดพบว่าแรงงานที่จบระดับมหาวิทยาลัยหรืออุดมศึกษามีอัตราว่างงานอยู่ที่ 2.14% สูงที่สุดเมื่อเทียบกับแรงงานที่จบการศึกษาต่ำกว่า ดังนี้

 

  • แรงงานระดับอุดมศึกษาว่างงาน 150,600 คน (อัตราว่างงาน 2.14%)
  • แรงงานระดับการศึกษามัธยมต้น 67,200 คน (อัตราว่างงาน 0.91%)
  • แรงงานระดับการศึกษามัธยมปลาย (สายสามัญ) 65,000 คน (อัตราว่างงาน 1.00%)
  • แรงงานระดับการศึกษาประถมและต่ำกว่า 59,200 คน (อัตราว่างงาน 0.38%)
  • แรงงานระดับการศึกษาวิชาชีพชั้นสูง 51,400 คน (อัตราว่างงาน 2.01%)
  • แรงงานระดับการศึกษาอาชีวศึกษา 20,500 คน (อัตราว่างงาน 1.32%)

 

1 ปีก็ยังหางานไม่ได้! ผู้ว่างงานระยะยาวพุ่ง 16.2%

 

นอกจากนี้ ดนุชายังชี้ให้เห็นว่าในไตรมาส 3 ของปีนี้ จำนวนผู้ว่างงานระยะยาวตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นถึง 16.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) อยู่ที่ 81,000 คน

 

โดยสาเหตุสำคัญผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 65% ระบุว่าหางานไม่ได้ นอกจากนี้ 71.3% ระบุว่าไม่เคยทำงานมาก่อน โดยเกือบ 3 ใน 4 ของผู้ว่างงานระยะยาวยังอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี

 

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป

 

1. การส่งเสริมการปรับตัวของแรงงานในอุตสาหกรรมรูปแบบเดิมให้เป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยปัจจุบันหลายอุตสาหกรรมกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้โครงสร้างการผลิตแบบเดิมไม่ตอบสนองความต้องการของตลาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อแรงงาน ทั้งการเลิกจ้าง การลด OT การใช้มาตรา 75 สมัครใจลาออก และการเกษียณก่อนกำหนด

 

2. การเตรียมความพร้อมด้านทักษะแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่ง BOI เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนเพิ่มส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ และอาจจ้างแรงงานไทยประมาณ 170,000 คน ซึ่งจะต้องเตรียมความพร้อมด้านกำลังคน เพื่อให้แรงงานไทยได้รับประโยชน์จากการลงทุนดังกล่าว

 

3. ผลกระทบต่อค่าครองชีพจากสถานการณ์อุทกภัยที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น โดยสถานการณ์อุทกภัยตั้งแต่ช่วงกลางปี 2567 ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหาย ซึ่งอาจส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบโดยเฉพาะพืชระยะสั้นเพิ่มสูงขึ้น กระทรวงพาณิชย์ควรตรวจสอบและควบคุมราคาไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนโดยเฉพาะผู้ประสบภัยน้ำท่วม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X