×

ทำไมเราถึงปล่อยให้ ‘คนเดินรถสำคัญกว่าคนเดินเท้า’ มองปัญหาจราจรไทยๆ ผ่านมุมมองนักพฤติกรรมศาสตร์

07.02.2022
  • LOADING...
ปัญหาจราจร

HIGHLIGHTS

  • ในสังคมที่มีจุดเริ่มต้นการออกแบบกฎจราจรไม่ดีตั้งแต่แรกเช่นในเมืองไทย ทำให้ความเชื่อที่ว่า ‘คนเดินเท้าสำคัญกว่าคนเดินรถ’ ไม่ได้ถูกส่งต่อไปยังคนอีกรุ่นเมื่อเทียบกันกับความเชื่อที่ว่า ‘คนเดินรถสำคัญกว่าคนเดินเท้า’
  • แม้ว่าเราอยากจะหยุดรถตรงทางม้าลายให้คนข้ามถนน ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่หยุด หรือบีบแตรใส่เราเวลาที่เราหยุด ตัวเราซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคมก็จะไม่มีแรงจูงใจที่จะทำสิ่งที่เราควรจะทำ เพียงเพราะว่าวัฒนธรรมสังคมไม่ได้สอดคล้องกับสิ่งที่เราเชื่อ 
  • ถ้าเราสามารถลดจำนวนของคนที่ทำผิดกฎให้น้อยลงจากการปรับเปลี่ยนแรงจูงใจของคนขับรถได้ ไม่นานนักเราก็จะสามารถปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมสังคมที่แย่ๆ นี้ให้เป็นวัฒนธรรมสังคมที่ดีได้

ผมจำได้ว่าตอนที่ผมมาเรียนที่ประเทศอังกฤษใหม่ๆ ในเดือนกันยายนป 1992 หรือเกือบ 30 ปีที่แล้วเวลาข้ามถนนตรงทางม้าลายใกล้ๆ โรงเรียนประจำของผม ผมจะหยุดรอให้รถขับผ่านไปก่อนที่ผมจะข้าม แต่ที่ไหนได้คนขับรถกลับหยุดให้ผมข้าม ในระหว่างที่ผมกำลังยืนงงอยู่ชั่วครู่คนขับรถคนนั้นก็โบกให้ผมข้ามถนนไป ผมยังจำความรู้สึกในตอนนั้นได้ว่าตัวเองโชคดีมากๆ ที่เจอคนขับรถใจดี อุตส่าห์หยุดรถของเขาให้ผมข้ามถนน 

 

หลายวันผ่านไป ตัวผมที่จำเป็นจะต้องข้ามทางม้าลายหน้าโรงเรียนเพื่อไปเรียนอีกฝั่งถนนก็หยุดยืนรอตรงทางม้าลายเพื่อรอให้รถขับผ่านไปอีก จนเพื่อนผมที่ยืนอยู่ข้างๆ ถามว่าทำไมถึงไม่ข้าม ผมตอบเขาไปว่าเดี๋ยวรถจะชนเอา เพื่อนผมตอบกลับมาว่าที่นี่รถทุกคันจำเป็นต้องหยุดตรงทางม้าลายให้คนข้าม ไม่ใช่คนข้ามจะต้องหยุดให้รถขับผ่านไปก่อน 

 

ผมจำได้ว่าผมงงกับคำพูดของเพื่อนวันนั้นมาก มันหมายความว่าอย่างไรที่ ‘รถจะต้องหยุดให้คนข้ามถนน’ แทน ‘คนข้ามจะต้องหยุดให้รถ’ แล้วถ้ารถมันไม่หยุดล่ะ คนอังกฤษนี่เขาไม่กลัวตายเลยเหรอเนี่ย

 

จากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ ทุกประเทศที่ผมมีโอกาสได้ไปมา ไม่ว่าจะเป็นประเทศในยุโรป สิงคโปร์ ออสเตรเลียก็ตาม คนขับรถจะเป็นคนที่หยุดตรงทางม้าลายให้คนข้ามถนนกันทั้งนั้น มีแต่ประเทศไทยนี่แหละที่การข้ามทางม้าลายเป็นการเสี่ยงความตาย เพราะคนขับรถส่วนใหญ่จะไม่หยุดให้คนข้ามถนนกัน

 

มันเป็นเพราะอะไร และเราจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร จะบอกว่าเพราะเราไม่มีกฎหมายลงโทษคนขับรถที่ไม่หยุดให้คนข้ามถนนตรงทางม้าลายก็ไม่ใช่ เพราะจริงๆ แล้วเราก็มีกฎหมายลงโทษนะครับ แต่จะมีคนนำไปปฏิบัติหรือเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่ง แล้วการสอนให้คนมีจิตสำนึกเพิ่มขึ้นล่ะ จะสามารถช่วยลดพฤติกรรมแย่ๆ เช่นนี้ได้จริงๆ หรือเปล่า

 

ผมก็เลยนำทฤษฎีและมุมมองของพฤติกรรมศาสตร์ในเรื่องของพฤติกรรมการทำผิดกฎจราจรมาให้เพื่อนๆ ลองศึกษาและพิจารณาดูนะครับ  

 

ความเชื่อที่ว่า ‘คนต้องหยุดให้รถ’ ไม่ใช่ ‘รถหยุดให้คน’ เป็นความเชื่อที่เราเรียกว่า Super-Replicator พูดอีกอย่างก็คือคนที่มีความเชื่อว่า ‘คนเดินรถสำคัญกว่าคนเดินเท้า’ จะมีโอกาสในการส่งต่อความเชื่อนั้นๆ ให้กับลูกหลานของเขาได้สูงกว่าคนที่มีความเชื่อว่า ‘คนเดินเท้าสำคัญกว่าคนเดินรถ’ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าคนที่มีความเชื่อว่า ‘คนเดินเท้าสำคัญกว่าคนเดินรถ’ มีโอกาสที่จะบาดเจ็บหรือสูญเสียชีวิตจากการถูกรถชนตรงทางม้าลายมากกว่าคนที่มีความเชื่อว่า ‘คนเดินรถสำคัญกว่าคนเดินเท้า’ โดยเฉพาะในสังคมที่มีจุดเริ่มต้นการออกแบบกฎจราจรไม่ดีตั้งแต่แรกเช่นในเมืองไทย ซึ่งก็จะทำให้ความเชื่อที่ว่า ‘คนเดินเท้าสำคัญกว่าคนเดินรถ’ ไม่ได้ถูกส่งต่อไปยังคนอีกรุ่นหนึ่งเมื่อเทียบกันกับความเชื่อที่ว่า ‘คนเดินรถสำคัญกว่าคนเดินเท้า’ ซึ่งคนที่มีความเชื่อนี้มีโอกาสที่จะอยู่รอดและส่งต่อความเชื่อนี้ไปยังคนในรุ่นต่อไปได้มากกว่า และด้วยเหตุนี้นี่เองทฤษฎี Super-Replicator ก็เป็นหนึ่งในทฤษฎีที่ช่วยอธิบายได้ว่าทำไมความเชื่อ ‘คนเดินรถสำคัญกว่าคนเดินเท้า’ ถึงอยู่รอดมานานถึงขนาดนี้ได้

 

ตามทฤษฎี Social Custom หรือวัฒนธรรมสังคมของ จอร์จ อะเคอร์ลอฟ (George Akerlof) พฤติกรรมของคนเราส่วนใหญ่มักจะถูกวัฒนธรรมสังคมเป็นตัวกำหนดสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น คนส่วนใหญ่จะถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้านของคนอื่น หรือแม้แต่บ้านของตัวเองก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะว่าการถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้านเป็นวัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ในประเทศเอเชีย 

 

แต่เจ้าตัววัฒนธรรมสังคมนี้มักจะเป็นฟังก์ชันของจำนวนคนที่เชื่อในวัฒนธรรมนั้นๆ ในสังคม ถ้าวันใดวันหนึ่งเราเริ่มเห็นจำนวนคนที่มีความเชื่อว่า ‘ต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้านคนอื่น’ น้อยลงกว่าแต่ก่อนเยอะ ราคาหรือ Cost ของการไม่เชื่อวัฒนธรรมนั้นๆ ของเราก็จะลดลงตามจำนวนของคนที่เชื่อใน Social Code นั้นที่น้อยลงไปโดยปริยาย  

 

พูดง่ายๆ ก็คือ ถึงแม้ว่าเราอยากจะหยุดรถตรงทางม้าลายให้คนข้ามถนน ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่หยุด หรือบีบแตรใส่เราเวลาที่เราหยุด ตัวเราซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคมก็จะไม่มีแรงจูงใจที่จะทำสิ่งที่เราควรจะทำ เพียงเพราะว่าวัฒนธรรมสังคมไม่ได้สอดคล้องกับสิ่งที่เราเชื่อ มันคงจะคล้ายๆ กันกับคนที่ทำผิดแล้วชอบอธิบายพฤติกรรมของตัวเองว่า ‘ก็คนอื่นเขาก็ทำเหมือนกัน’

 

การลงโทษคนที่ทำผิดไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ มันคงจะเป็นเรื่องที่ยากมากๆ เลยนะครับที่เราจะเชื่อใจให้ตำรวจเป็นคนที่บังคับใช้กฎจราจรกับรถทุกคันที่ไม่หยุดรถตรงทางม้าลาย โดยเฉพาะในสังคมไทยที่มีวัฒนธรรมสังคมและความเชื่อที่ส่งต่อมานานแสนนานแล้วว่า ‘คนเดินรถสำคัญกว่าคนเดินเท้า’ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าจำนวนคนที่ทำผิดนั้นเยอะมาก และด้วยเหตุผลที่คนส่วนใหญ่ก็ทำผิดกฎนี้ด้วย (ซึ่งคนที่ทำผิดก็รวมไปถึงตำรวจตามที่เราเห็นในข่าวนี้ด้วย) คนที่ทำผิดส่วนใหญ่เขาไม่ได้รู้สึกว่าเขาทำอะไรผิด ซึ่งก็หมายความว่าการที่คนเราจะ Self-Correct หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองในอนาคตเพราะความรู้สึกผิด (Guilt) ก็ยากที่จะเกิดขึ้นด้วยตัวของมันเอง

 

นอกจากนี้สภาวะของท้องถนนทั่วไปยังไม่ได้ถูกสร้างหรือถูกทะนุบำรุงเพื่อที่จะเอื้อพฤติกรรมที่ดีบนท้องถนนของคนขับรถทั่วไป จะเห็นได้จากที่เรามีทางม้าลายหลายจุดที่สีตก หรือป้ายเตือนที่ไม่ชัดเจนหรือเด่นชัดพอที่จะกระตุกสติของคนขับรถได้

 

แล้วการปลูกจิตสำนึกที่ดีของคนขับรถจะพอช่วยแก้ปัญหานี้ได้มากน้อยขนาดไหน

 

การปลูกจิตสำนึกที่ดีให้กับคนขับรถจะมีผลลัพธ์ที่ดีพอก็ต่อเมื่อเราสามารถเปลี่ยนจิตสำนึกของคนส่วนใหญ่ในสังคมพอจนทำให้ Social Custom เปลี่ยนได้ ซึ่งโดยความคิดเห็นส่วนตัวของผมแล้ว โอกาสที่การปลูกจิตสำนึกที่ดีจะมีประสิทธิภาพพอที่จะเปลี่ยนวัฒนธรรมสังคมของคนได้มีอัตราความสำเร็จที่น้อยเอามากๆ หรือแทบจะไม่มีเลยด้วยซ้ำ ทั้งนี้ก็เพราะว่าถ้าคนส่วนใหญ่ยังมีพฤติกรรมที่ยังแย่อยู่ โอกาสที่คนจะกลับไปมีพฤติกรรมที่ไม่ดีเช่นเดิมก็จะเกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ

 

คำถามที่สำคัญคือเราจะเปลี่ยนวัฒนธรรมสังคมและความเชื่อที่เป็น Super-Replicator นี้อย่างไร

 

คำตอบมีอยู่หลายระดับนะครับ ตั้งแต่การปฏิรูปการสอนและสอบใบขับขี่ของคนรุ่นใหม่จากนี้เป็นต้นไป เราจำเป็นจะต้องยกระดับการสอนและการสอบให้ใกล้กับ International Standard ให้ได้ใน 5-10 ปีข้างหน้า ทั้งนี้เพราะเราจะต้อง Break the Cycle ของความเชื่อที่ว่า ‘คนเดินรถสำคัญกว่าคนเดินเท้า’ ในอนาคตให้ได้ 

 

แต่การปฏิรูปการสอนและสอบใบขับขี่แค่อย่างเดียวก็คงจะไม่พอ เราจำเป็นต้องทำให้การปรับและลงโทษคนที่ทำผิดให้เป็นระบบอัตโนมัติให้ได้ ให้การปรับเกิดขึ้นโดยที่ไม่ต้องพึ่งคุณตำรวจจราจร เช่น การบังคับให้มีการลงทะเบียนรถยนต์ในชื่อของตัวเอง และให้มีการปรับเงินจากบัญชีโดยอัตโนมัติ และจะต้องมีการทะนุบำรุงทางม้าลาย ป้ายจราจร และไฟข้ามถนนหลายๆ ให้ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม และถ้าเราสามารถลดจำนวนของคนที่ทำผิดกฎให้น้อยลงจากการปรับเปลี่ยนแรงจูงใจของคนขับรถได้ ไม่นานนักเราก็จะสามารถปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมสังคมที่แย่ๆ นี้ให้เป็นวัฒนธรรมสังคมที่ดีได้นะครับ

 

ผมเชื่อว่าประเทศไทยเราสามารถทำได้นะครับ อาจจะใช้เวลานานหน่อย แต่เราจะต้องไม่ปล่อยให้การสูญเสียหลายต่อหลายครั้งที่เกิดขึ้นเป็นการสูญเสียที่สูญเปล่า ลูกหลานของเราจะต้องมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าตัวเราเองให้ได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising