×

‘ปรับปรุงห้องน้ำ-ลดงานเอกสาร-งดนอนเวร’ เปิดผลสำรวจที่สุดปัญหาครูไทย

โดย THE STANDARD TEAM
16.01.2024
  • LOADING...
ปัญหาครูไทย

เนื่องในวันครูแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 16 มกราคมของทุกปี Rocket Media Lab ร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ จัดทำแบบสอบถามครูผู้สอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั่วประเทศ ในช่วงวันที่ 9-15 มกราคม 2567 เพื่อสำรวจความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นกฎเกณฑ์ในโรงเรียน การเรียนการสอน หรือนักเรียน

 

จำนวนครูที่ตอบแบบสอบถามออนไลน์ทั่วประเทศทั้งหมด 303 คน แยกเป็น

 

  • เพศชาย 71 คน 
  • หญิง 220 คน 
  • LGBTQIA+ 7 คน
  • ไม่ต้องการระบุเพศ 5 คน 

 

แยกตามลำดับชั้น

 

  • ครูระดับชั้นประถมศึกษา 118 คน 
  • ครูระดับชั้นมัธยมศึกษา 171 คน 
  • ปวช. 14 คน

 

แยกตามพื้นที่ของครูที่ตอบแบบสอบถาม

 

  • ครูในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด 114 คน คิดเป็น 37.62% 
  • ภาคกลาง 74 คน คิดเป็น 24.42% 
  • ภาคเหนือ 70 คน คิดเป็น 23.10% 
  • ภาคใต้ 36 คน คิดเป็น 11.88% 
  • ภาคตะวันตก 5 คน คิดเป็น 1.65%
  • ภาคตะวันออก 4 คน คิดเป็น 1.32%

 

สถานที่ใดในโรงเรียนที่อยากให้ปรับปรุงมากที่สุด

 

  • ครูอยากให้โรงเรียนปรับปรุง ‘ห้องน้ำ’ มากที่สุด 134 คน คิดเป็น 44.22% 
  • ห้องเรียน 70 คน คิดเป็น 23.10% 
  • ห้องสมุด 23 คน คิดเป็น 7.59% 
  • โรงอาหาร 22 คน คิดเป็น 7.26% 
  • สนามกีฬา 19 คน คิดเป็น 6.27% 
  • ห้องพยาบาล 14 คน คิดเป็น 4.62% 
  • ห้องพักครู 11 คน คิดเป็น 3.63%
  • อื่นๆ 10 คน คิดเป็น 3.30% เช่น ห้องคอมพิวเตอร์ ที่จอดรถ อาคารเรียน และบางส่วนก็เขียนตอบว่าทุกข้อ

 

นอกจากนี้ยังพบว่า ไม่ว่าจะเป็นครูชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรือ ปวช. ต่างก็เลือกให้ห้องน้ำเป็นสถานที่ที่อยากให้ปรับปรุงมากที่สุด และเมื่อพิจารณาเป็นรายภาคก็พบว่า ครูทุกภาคต่างลงความเห็นเหมือนกันว่าอยากให้โรงเรียนปรับปรุงห้องน้ำมากที่สุด 

 

กฎที่ครูไม่ชอบที่สุด

 

  • ครูไม่ชอบการแต่งกายประจำวันมากที่สุด 74 คน คิดเป็น 24.42% 
  • การเช็กชื่อก่อนเข้าแถวและการใส่กระโปรง (ยกเว้นครูพละ) 63 คน คิดเป็น 20.79% 
  • การแต่งกายผ้าไทย 47 คน คิดเป็น 15.51% 
  • อื่นๆ 56 คน คิดเป็น 18.48% เช่น การเข้าเวรเสาร์-อาทิตย์ การสแกนนิ้วหลังเลิกเรียน และมีจำนวนหนึ่งที่ตอบว่า ไม่มีปัญหากับกฎระเบียบ

 

หากมองรายภาคพบว่า การต้องใส่กระโปรง (ยกเว้นครูพละ) เป็นกฎที่ครูในภาคกลางไม่ชอบที่สุด ส่วนการเช็กชื่อก่อนเข้าแถวเป็นกฎที่ครูภาคเหนือไม่ชอบมากที่สุด ส่วนการแต่งกายผ้าไทยเป็นกฎที่ครูภาคใต้ไม่ชอบมากที่สุด 

 

หากมองในรายสังกัดของโรงเรียน ทั้งครูโรงเรียนรัฐและเอกชนไม่ชอบการแต่งกายประจำวันมากที่สุด นอกจากนี้หากมองครูประถมและมัธยมพบว่า ครูประถมไม่ชอบการเช็กชื่อก่อนเข้าแถวเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนครูมัธยมยังคงยกให้การแต่งกายประจำวันเป็นกฎที่ไม่ชอบมากที่สุด

 

หมายเหตุ: การแต่งกายประจำวันคือการกำหนดชุดการแต่งกายของครูในแต่ละวัน เช่น วันจันทร์ – ชุดข้าราชการ (สีกากี), วันอังคาร – ชุดเสื้อกีฬา, วันพุธ – ชุดสุภาพ และวันพฤหัส – ชุดลูกเสือ เป็นต้น 

 

สิ่งที่ไม่อยากให้นักเรียนทำมากที่สุด

 

  • ครูไม่อยากให้นักเรียนเล่นโทรศัพท์ในเวลาเรียนมากที่สุด 101 คน คิดเป็น 33.33% 
  • พูดจาหยาบคาย 88 คน คิดเป็น 29.04% 
  • ล้อเลียนเรื่องกายภาพ เพศ ชาติพันธุ์ และสำเนียง 54 คน คิดเป็น 17.82% 
  • นินทาครูลงโซเชียลมีเดีย 17 คน คิดเป็น 5.61%
  • โพสต์คลิป / ภาพถ่าย ของครูลงโซเชียลมีเดีย 15 คน คิดเป็น 4.95% 
  • การถึงเนื้อถึงตัว 15 คน คิดเป็น 4.95%
  • อื่นๆ 13 คน คิดเป็น 4.29% เช่น นักเรียนมาสาย การไม่ตั้งใจเรียน และบางส่วนก็เขียนตอบว่าทุกข้อ 

 

หากพิจารณารายภาคพบว่า ครูภาคเหนือและภาคใต้ไม่อยากให้นักเรียนพูดจาหยาบคายมากที่สุด เช่นเดียวกับการจำแนกตามสังกัดของโรงเรียน ครูโรงเรียนเอกชนไม่อยากให้นักเรียนพูดจาหยาบคายมากที่สุด นอกจากนี้ครูประถมให้การพูดจาหยาบคายเป็นสิ่งที่ไม่อยากให้นักเรียนทำมากที่สุด

 

สิ่งที่ครูอยากได้มากที่สุด

 

  • ครูอยากให้เพิ่มเงินเดือน / ค่าวิทยฐานะ มากที่สุด 149 คน คิดเป็น 49.17% 
  • มาตรฐานการขึ้นเงิน 45 คน คิดเป็น 14.85% 
  • ค่าสื่อการสอน 32 คน คิดเป็น 10.56% 
  • ค่าทำงานล่วงเวลา 25 คน คิดเป็น 8.25% 
  • รถโรงเรียนอำนวยความสะดวกสำหรับกิจกรรมนอกสถานที่ 13 คน คิดเป็น 4.29% 
  • ค่าอยู่เวร 10 คน คิดเป็น 3.30% 
  • เพิ่มค่าเบี้ยเลี้ยง 6 คน คิดเป็น 1.98% 
  • ค่าอินเทอร์เน็ต 5 คน คิดเป็น 1.65% 
  • อื่นๆ 18 คน คิดเป็น 5.94% เช่น ขอให้มีเจ้าหน้าที่การเงินและพัสดุโดยตรง ขอขวัญและกำลังใจ การลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอน และการบรรจุข้าราชการเมื่ออายุงานถึงเกณฑ์

 

นอกจากนี้พบว่า ไม่ว่าจะครูประถม-มัธยม ครูโรงเรียนรัฐ-เอกชน ครูทุกภาค หรือทุกเพศ ต่างก็เลือกให้การเพิ่มเงินเดือน / ค่าวิทยฐานะ เป็นสิ่งที่ครูอยากได้มากที่สุด

 

สิ่งที่ครูไม่อยากให้มีมากที่สุด

 

  • ครูไม่อยากอยู่เวรนอกเวลาเรียนมากที่สุด 124 คน คิดเป็น 40.92%
  • งานการเงิน 37 คน คิดเป็น 12.21% 
  • งานพัสดุ 33 คน คิดเป็น 10.89% 
  • งานประกันคุณภาพ 19 คน คิดเป็น 6.27% 
  • งานธุรการ 17 คน คิดเป็น 5.61% 
  • งานอบรม 15 คน คิดเป็น 4.95% 
  • งานพิธีการ 12 คน คิดเป็น 3.96% 
  • งานวัดผลประเมินผล 3 คน คิดเป็น 0.99% 
  • งานทะเบียน 2 คน คิดเป็น 0.66% 
  • งานทะเบียนนักเรียน 2 คน คิดเป็น 0.66% 
  • งานโภชนาการ 2 คน คิดเป็น 0.66% 
  • งานสารสนเทศ 2 คน คิดเป็น 0.66% 
  • งานอนามัย 2 คน คิดเป็น 0.66% 
  • งานอาคารสถานที่ 1 คน คิดเป็น 0.33%
  • อื่นๆ 32 คน คิดเป็น 10.56% เช่น งาน PLC (การทำชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ) และส่วนใหญ่ตอบว่า ทุกงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน

 

นอกจากนี้ยังพบว่า ครูทุกภาค ทุกระดับชั้น เลือกไม่อยากอยู่เวรนอกเวลามากที่สุด ในขณะที่อันดับ 2 นั้นหากดูรายภาคจะพบว่า ภาคเหนือเป็นเรื่องงานพัสดุ ส่วนภาคใต้เป็นเรื่องงานการเงินกับงานการประกันคุณภาพที่มีการเลือกในจำนวนเท่ากัน

 

กิจกรรมที่ครูไม่อยากให้มีที่สุด

 

  • พานักเรียนไปแข่งขันนอกสถานที่เป็นกิจกรรมที่ครูไม่อยากให้มีที่สุด 80 คน คิดเป็น 26.40%
  • เข้าค่ายลูกเสือ 48 คน คิดเป็น 15.84% 
  • สมุดบันทึกความดี 42 คน คิดเป็น 13.86% 
  • กิจกรรมวันพ่อวันแม่ 37 คน คิดเป็น 12.21% 
  • กิจกรรมค่ายธรรมะ 30 คน คิดเป็น 9.90% 
  • กิจกรรมหน้าเสาธง 12 คน คิดเป็น 3.96% 
  • กิจกรรมสวดมนต์ 11 คน คิดเป็น 3.63% 
  • กิจกรรมจิตอาสา 5 คน คิดเป็น 1.65%
  • อื่นๆ 38 คน คิดเป็น 12.54% เช่น กีฬาสี และกิจกรรม PLC (การทำชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ) กิจกรรมแนะแนว งานประเมิน และบางส่วนตอบว่า ไม่มีกิจกรรมไหนที่ไม่อยากให้มี

 

เมื่อพิจารณาสัดส่วนผู้เลือกกิจกรรมพานักเรียนไปแข่งขันนอกสถานที่พบว่า เป็นครูที่ทำงานมากกว่า 20 ปีมากที่สุด 25 คน คิดเป็น 31.25% สัดส่วนน้อยที่สุดคือ ครูที่ทำงานน้อยกว่า 1 ปี มี 1 คน คิดเป็น 1.25% โดยที่อันดับ 2 เป็นครูซึ่งทำงานมาแล้ว 5-10 ปี มี 17 คน คิดเป็น 21.25% และอันดับ 3 เป็นครูที่ทำงานมาแล้ว 15-20 ปี 16 คน คิดเป็น 20% ของผู้ที่เลือกคำตอบนี้

 

วิชาที่ครูอยากให้ยกเลิกที่สุด

 

  • วิชาลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด และบำเพ็ญประโยชน์ เป็นวิชาที่ครูอยากยกเลิกมากที่สุด 114 คน คิดเป็น 37.62% 
  • วิชาชุมนุม / ชมรม 57 คน คิดเป็น 18.81% 
  • วิชาหน้าที่พลเมือง 46 คน คิดเป็น 15.18% 
  • วิชานาฏศิลป์ 18 คน คิดเป็น 5.94% 
  • วิชาพุทธศาสนา 12 คน คิดเป็น 3.96% 
  • วิชาพลศึกษา 4 คน คิดเป็น 1.32%
  • อื่นๆ 52 คน คิดเป็น 17.16% เช่น สุขศึกษา ศิลปะ และส่วนใหญ่เขียนตอบว่า ไม่มีวิชาที่อยากยกเลิก

 

เมื่อพิจารณาครูที่อยากให้ยกเลิกวิชาลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด และบำเพ็ญประโยชน์ พบว่า ทุกช่วงอายุการทำงานเลือกตอบข้อนี้เป็นสัดส่วนมากที่สุด ครูที่ทำงานมากกว่า 20 ปี มีสัดส่วน 29.76% ของจำนวนครูในกลุ่มนี้ ครูที่ทำงาน 15-20 ปี มี 39.02% ของจำนวนครูในกลุ่มนี้ ครูที่ทำงาน 10-15 ปี มี 37.25% ของจำนวนครูในกลุ่มนี้ ครูที่ทำงาน 5-10 ปี มี 40.48% ของจำนวนครูในกลุ่มนี้ 1-5 ปี มี 42.55% ของจำนวนครูในกลุ่มนี้ น้อยกว่า 1 ปี มี 44.74% ของจำนวนครูในกลุ่มนี้

 

สิ่งที่อยากเห็นผู้บริหารโรงเรียนทำที่สุด

 

  • ครูอยากให้ยกเลิกนโยบายการประกันเกรด ปลอด 0, ร, มส ของนักเรียนมากที่สุด 123 คน คิดเป็น 40.59% 
  • ไม่เลือกปฏิบัติ 100 คน คิดเป็น 33% 
  • ยกเลิกการส่งไปอบรมที่ไม่จำเป็น 34 คน คิดเป็น 11.22%
  • ไม่ใช้ให้ทำงานส่วนตัว 32 คน คิดเป็น 10.56% 
  • อื่นๆ 14 คน คิดเป็น 4.62% เช่น รับฟังความคิดเห็นของครู มีแผนในการทำงาน บางคนเขียนตอบว่า ทุกข้อรวมกัน 

 

เมื่อพิจารณาครูที่ตอบว่า ต้องการให้ยกเลิกนโยบายประกันเกรดพบว่า จากผู้ตอบ 123 คน เป็นครูมัธยมมากที่สุด 87 คน หรือคิดเป็น 50.29% ของครูมัธยมทั้งหมด 171 คน ครูประถม 30 คน หรือคิดเป็น 25.42% ของครูประถมทั้งหมด 118 คน ครู ปวช. 6 คน หรือคิดเป็น 42.85% ของครู ปวช. ทั้งหมด 14 คน 

 

หากจำแนกผู้ที่เลือกข้อนี้ตามระยะเวลาในการทำงานพบว่า ครูที่ทำงานมานานมากกว่า 20 ปี มีสัดส่วนมากที่สุด 30 คน คิดเป็น 24.59% ของครูที่เลือกข้อนี้ รองลงมา ครูที่ทำงาน 1-5 ปี 24 คน คิดเป็น 19.67% และอันดับ 3 ครูที่ทำงาน 15-20 ปี 19 คน คิดเป็น 15.57% 

 

สิ่งที่อยากเห็นผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการทำที่สุด

 

  • ครูอยากให้ลดภาระงานเอกสารที่ต้องทำส่งกระทรวงมากที่สุด 146 คน คิดเป็น 48.18% 
  • เพิ่มค่าตอบแทนครู 62 คน คิดเป็น 20.46% 
  • ปรับระบบการประเมินผลการศึกษาและการประกันคุณภาพ 38 คน 12.54% 
  • เพิ่มจำนวนครูให้เหมาะสมกับนักเรียน 35 คน 11.55% 
  • มีระบบรับเรื่องร้องเรียนตรงถึงรัฐมนตรี 9 คน 2.97%
  • อื่นๆ เช่น เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุน เพื่อจัดการเอกสารที่ไม่จำเป็นกับการสอน

 

เมื่อพิจารณาเฉพาะการลดภาระงานเอกสารที่ต้องทำส่งกระทรวงพบว่า เป็นครูที่ทำงานมานานกว่า 20 ปี มากที่สุด 37 คน คิดเป็น 25.34% รองลงมา ครูที่ทำงานมาแล้ว 10-15 ปี 28 คน คิดเป็น 19.17% อันดับ 3 ครูที่ทำงานน้อยกว่า 1 ปี 23 คน คิดเป็น 15.75% 

 

ดูข้อมูลฉบับเต็มได้ที่: https://rocketmedialab.co/database-teacher-q1-2024

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising