×

‘ส้มหล่น’ เมืองไทย สตาร์ทอัพ AI ไต้หวันจับมือ Hexa Solutions คว้าโอกาสบนความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์โลก

27.08.2024
  • LOADING...
Hexa Solutions

HIGHLIGHTS

  • กลุ่มบริษัทแพคริม และ Integrity Consulting and Service (ไอซีเอส) จับมือเปิดบริษัทใหม่ เฮกซ่าเทค โซลูชั่นส์ ซึ่งได้รับความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับสตาร์ทอัพไต้หวัน Profet AI
  • Profet AI เล็งเห็นศักยภาพการเติบโตในตลาด AI ประเทศไทย โดยเฉพาะด้านการนำมาใช้กับภาคการผลิตท่ามกลางการย้ายฐานผลิตของโรงงานจากจีนและไต้หวันบนความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์โลก
  • โจทย์ใหญ่ของประเทศไทยในสายตาบริษัทต่างชาติที่กำลังหลั่งไหลเข้ามาไม่ได้อยู่ในเรื่องของการหาที่ตั้งโรงงาน หรือการหาเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่จะใช้สำหรับการผลิต แต่อยู่ที่การหาแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีที่พร้อม
  • มูลค่าตลาดประเทศไทยในอุตสาหกรรม AI ปี 2567 อยู่ที่ 3.26 หมื่นล้านบาท และมีศักยภาพที่จะโตต่อขึ้นไปที่ 1.47 แสนล้านบาทภายในปี 2573 หรือมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้นที่ 30%

กลุ่มบริษัทแพคริม และ Integrity Consulting and Service (ไอซีเอส) ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ คลาวด์ และ AI เปิดตัวบริการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สู่ตลาดประเทศไทย ผ่านการจัดตั้งบริษัทใหม่ เฮกซ่าเทค โซลูชั่นส์ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ Profet AI สตาร์ทอัพสัญชาติไต้หวันผู้ให้บริการ No-Code, Auto Machine Learning ที่ช่วยองค์กรให้สามารถออกแบบและพัฒนาแอปพลิเคชัน AI ได้ง่ายและรวดเร็วโดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้เชิงเทคนิคระดับสูง

 

แต่หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจของเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่การจัดตั้งบริษัทใหม่ แต่เป็นการที่สตาร์ทอัพจากไต้หวันอย่าง Profet AI ที่เพิ่งปิดรอบระดมทุนใน Series A ไปเมื่อต้นปี 2566 ด้วยเงินจำนวนเกือบ 200 ล้านบาท เลือกจะเข้ามาร่วมมือทำธุรกิจกับเฮกซ่าเทค 

 

ทำไมสตาร์ทอัพไต้หวันถึงเลือกไทยในแผนการขยายธุรกิจ พวกเขาเห็นโอกาสอะไร? และนี่จะเป็นสัญญาณการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศที่กำลังย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่?

 

ชาติมหาอำนาจแตกขั้ว โอกาสทองของไทย

 

สถานการณ์ข้อขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อบริษัททั่วโลก โดยเฉพาะกับธุรกิจที่มีฐานการผลิตในประเทศจีนให้ต้องเร่งค้นหาฐานใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยง รวมทั้งในไต้หวันเองที่ความสัมพันธ์ของพวกเขากับจีนได้เข้าสู่สภาวะตึงเครียดมาระยะหนึ่งแล้ว 

 

ความท้าทายดังกล่าวจุดชนวนให้บริษัทจากไต้หวันอย่าง Profet AI เล็งหาโอกาสที่จะขยายธุรกิจไปนอกประเทศมากขึ้น โดย Jerry Huang ซีอีโอของบริษัทเห็นศักยภาพการเติบโตของภาคการผลิตในประเทศไทยภายใต้ความตึงเครียดระหว่างชาติมหาอำนาจที่กำลังดำเนินอยู่ ณ ขณะนี้ ซึ่งเขาได้ฉายภาพประวัติศาสตร์ของไต้หวันเมื่อราว 40 ปีที่แล้ว เพื่อเทียบให้เห็นโอกาสที่ไทยสามารถคว้าไว้ได้

 

“ไต้หวันได้อานิสงส์จากการโยกย้ายออร์เดอร์ออกจากหลายบริษัทในญี่ปุ่นจากเหตุการณ์ Plaza Accord ที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยน ส่งผลให้ ‘ส้มหล่น’ มาที่ไต้หวัน ซึ่งมีแรงงานที่ค่าแรงต่ำกว่าแต่ทักษะไม่ต่างกับญี่ปุ่น จนปัจจุบันไต้หวันมีบริษัทอย่าง TSMC และบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ ให้ทั่วโลกได้เห็น ตัดมาที่ภาพวันนี้ บริษัทหลายแห่งในจีนและไต้หวันก็กำลังย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ” Jerry Huang กล่าว

 

 

สำหรับประเทศไทย บริษัทในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จากไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น และฮ่องกง ที่ประกอบธุรกิจแผงวงจรพิมพ์ (Printed Circuit Board) เดินหน้าทุ่มเงินลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เผยเงินลงทุนในปี 2565 ว่าอยู่ที่ 1.59 หมื่นล้านบาท แต่ในปีต่อมากระโดดขึ้นเป็น 1 แสนล้านบาท และเมื่อ 5 เดือนแรกของปีนี้ ทางสำนักงานระบุว่ามูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้จากต่างชาติแตะ 3.6 หมื่นล้านแล้ว

 

อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นอีกหนึ่งภาคธุรกิจที่กำลังเข้ามารุกตลาดประเทศไทย โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาบริษัท BYD ประกาศตั้งโรงงานในจังหวัดระยองมูลค่า 1.78 หมื่นล้านบาท และล่าสุด CHANGAN เองก็เตรียมเปิดโรงงานในระยองเช่นเดียวกันด้วยมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท

 

นอกจากนี้ Jerry Huang ยังเห็นถึงเทรนด์การพยายามผลักดัน AI จากการผลักดันเชิงนโยบายระดับประเทศ รวมทั้งบริษัทไทยเองก็เริ่มมีหลายแห่งที่ตั้งทีม ‘Digital Transformation’ ขึ้นมาแล้ว

 

การขยับตัวของบริษัทต่างชาติพร้อมทั้งทิศทางของประเทศจึงเป็นเหตุผลสนับสนุนให้ Profet AI เลือกเข้ามาทำตลาดในไทย ซึ่งจะช่วยทำให้ AI ถูกใช้ยกระดับทักษะและขีดความสามารถการแข่งขันของภาคการผลิตไทยให้มีประสิทธิภาพขึ้น

 

ด้าน แซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับ THE STANDARD WEALTH ถึงประเด็นความเป็นไปได้ของการเข้ามาขยายธุรกิจในไทยระยะยาวจากบริษัทต่างชาติ

 

“ตอนนี้เราเห็นได้ว่าการลงทุนโรงงานจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น แน่นอนว่าเทคโนโลยีก็จะตามเข้ามาด้วย โดยเฉพาะใน Industrial/Manufacturer Tech ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องย้ำว่าไทยยังมีช่องว่างให้ปรับอีกนิดหน่อย เช่น เพิ่มข้อได้เปรียบทางภาษีเพื่อดึงให้ต่างชาติเข้ามาจดทะเบียนในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าดูจากท่าทีรัฐบาลปัจจุบัน ผมมองว่าเขามาถูกทางแล้ว”

 

AI + Business + People โมเดลธุรกิจ ‘ทางรอด’ ในโลกใหม่

แม้ว่าไทยจะได้ประโยชน์จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการเมืองโลกที่ทำให้บริษัทต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาลงทุนมากขึ้น แต่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากแนวโน้มประชากรส่วนมากที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและอัตราการเกิดใหม่ที่น้อยลงทำให้ภาพอนาคตของแรงงานไทยยิ่งถูกกดดัน 

 

อีกทั้งทักษะโดยรวมก็อาจจะยังไม่เทียบเท่าแรงงานในไต้หวันสำหรับการปรับตัวรับการเข้ามาของอุตสาหกรรมใหม่ๆ จากต่างประเทศ

 

“ความท้าทายตอนนี้ของบริษัทต่างชาติที่กำลังเข้ามาในไทยไม่ได้อยู่ในเรื่องของการหาที่ตั้งโรงงาน ไม่ใช่การหาเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่จะใช้สำหรับการผลิต แต่ความท้าทายจริงๆ อยู่ที่การหาแรงงานที่มีทักษะความพร้อมด้านเทคโนโลยี ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมแรงงานให้สามารถคว้าโอกาสนี้ได้” Jerry กล่าวเสริม

 

บัญชา ธรรมรุ่งเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เฮกซ่าเทค โซลูชั่นส์ เล่าถึงเหตุผลการจัดตั้งบริษัทใหม่ครั้งนี้ว่า “AI กำลังเข้ามามีนัยสำคัญต่อการประกอบธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกันการจะทำให้เทคโนโลยีถูกใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ‘คน’ ภายในองค์กรจะต้องสามารถใช้ได้อย่างง่าย ฉะนั้นทีมธุรกิจ ทีมฝ่ายบุคคล และทีมเทคโนโลยีจะต้องไม่ทำงานแยกส่วนกัน แต่ต้องเป็น ‘ทีมเดียวกัน’ แล้ว”

 

หนึ่งในปัญหาการใช้ AI ที่บริษัทมักจะเจอคือความเชี่ยวชาญที่ต่างกันในแต่ละทีม เช่น ทีมที่ชำนาญในงานประเภทการผลิตอาจจะไม่รู้เรื่องการเขียนโค้ดสั่งโปรแกรม ในขณะเดียวกันทีมเขียนโปรแกรมก็ไม่ชำนาญด้านการผลิต ส่งผลให้หลายครั้งการออกแบบระบบไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานอย่างแท้จริง ซึ่งเฮกซ่าเทคเล็งที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการใช้ No-Code กับ Auto Machine Learning มาเพื่อการใช้งานที่ง่ายโดยไม่ต้องอาศัยความรู้เชิงเทคนิค ปลดล็อกทั้งข้อจำกัดด้าน ‘ความรู้’ ของพนักงาน

 

อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยสถานการณ์กดดันทางเศรษฐกิจทำให้การนำ AI มาใช้กลายเป็นค่าใช้จ่ายที่หลายบริษัทต้อง ‘คิดหนัก’ เนื่องจากเทคโนโลยีตัวนี้ใช้เงินลงทุนจำนวนไม่น้อย แต่เฮกซ่าเทคชวนตั้งคำถามพร้อมมองความเปลี่ยนแปลงของโลกว่า

 

“ทุกวันนี้กลยุทธ์ด้าน AI อาจจะไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่คือทางรอดให้ธุรกิจแข่งขันต่อได้ การเริ่มใช้ AI ไม่จำเป็นต้องลงทุนมหาศาล แต่สามารถเริ่มจากก้าวเล็กๆ และศึกษาผลลัพธ์ก่อนจะขยายต่อยอดขึ้นไป”

 

สำหรับการเติบโตของอุตสาหกรรม AI ในไทย ข้อมูลจาก Statista เผยว่า มูลค่าตลาดประเทศไทยปี 2567 อยู่ที่ 3.26 หมื่นล้านบาท และมีศักยภาพที่จะโตต่อขึ้นไปที่ 1.47 แสนล้านบาทภายในปี 2573 หรือมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้นที่ 30% 

 

แม้ว่าวันนี้ทักษะแรงงานไทยอาจไม่เทียบชั้นกับแรงงานไต้หวัน แต่เฮกซ่าเทคเชื่อว่าการมาของเทคโนโลยี AI แบบ No-Code กับ Auto Machine Learning จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจไทยได้ ทำให้แรงงานไทยและเศรษฐกิจสามารถคว้า ‘ส้มหล่น’ จากความไม่แน่นอนของภูมิรัฐศาสตร์โลกเอาไว้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X