×

ไทยชูประเด็น ‘การคลังยั่งยืน’ และ ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ เข้าหารือในการประชุม รมว.คลัง เอเปค 19-20 ต.ค. นี้

17.10.2022
  • LOADING...
พรชัย ฐีระเวช

ในระหว่างวันที่ 19-20 ตุลาคม 2565 กระทรวงการคลังจะเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เอเปค และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงการคลังเผยว่า ประเด็นสำคัญที่ไทยเตรียมผลักดันในการประชุมนี้คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล

 

พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่า ในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Ministers’ Meeting: APEC FMM) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 ตุลาคม 2565 จะมุ่งหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มเศรษฐกิจการเงิน ความท้าทายต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงการดำเนินนโยบายของเขตเศรษฐกิจเอเปค


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


สำหรับประเด็นสำคัญที่ไทยเตรียมผลักดันในช่วงการเป็นเจ้าภาพการประชุมคลังเอเปคคือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล

 

พรชัยกล่าวอีกว่า ในการประชุมครั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 250 คน จาก 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค และองค์การระหว่างประเทศต่างๆ เช่น ผู้แทนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF), กลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group), ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และหน่วยงานสนับสนุนด้านนโยบายเอเปค (APEC Policy Support Unit)

 

นอกจากนี้ในการประชุมยังเตรียมหารือประเด็นสืบเนื่องภายใต้กรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ได้แก่ ความคืบหน้าของการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเซบู (Implementation of Cebu Action Plan: CAP) ซึ่งเป็นแนวทางหลักในการสนับสนุนการรวมกลุ่มด้านการเงินและการคลังของเอเปค พร้อมทั้งรับรองยุทธศาสตร์การนำแผนปฏิบัติการเซบูสู่การปฏิบัติฉบับใหม่ (New Strategy for Implementation of the CAP: New CAP) รวมทั้งจะมีการพิจารณาร่างแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรี (Joint Ministerial Statement) ครั้งที่ 29 ด้วย

 

โดยกระทรวงการคลังคาดว่าจะสามารถนำข้อหารือต่างๆ ที่ได้รับจากการประชุมคลังเอเปคมาจัดทำเป็นแนวทางที่สำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสภาพแวดล้อมด้านการเงินที่เอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบการเงินและการคลังได้ต่อไปในอนาคต เช่น การออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนที่แพร่หลายมากขึ้น การนำเครื่องมือดิจิทัลมาใช้ในการส่งผ่านมาตรการของรัฐอย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น การเพิ่มการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนระหว่างเขตเศรษฐกิจคู่ค้าต่างๆ เป็นต้น

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X