วันนี้ (18 กรกฎาคม) ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส. กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เปิดเผยหลังการประชุมว่า สิ่งที่ถกเถียงกันมากในวันนี้คือข้อมูลที่เปิดเผยว่ามีการส่งออกปลาสายพันธุ์ดังกล่าวในปี 2556-2559 ซึ่งอธิบดีกรมประมงได้ตรวจสอบมาแล้วว่ามีการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรถึง 17 ประเทศ โดย 11 บริษัทเอกชน จำนวน 2.3 แสนตัว
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่เปิดเผยใหม่จากกรมประมงถึงการอนุญาตนำเข้าปลาสายพันธุ์ต้องห้ามเมื่อปี 2553 ว่า บริษัทเอกชนที่จะนำเข้าต้องดำเนินการตามเงื่อนไข 4 ข้อ หนึ่งในนั้นคือการตัดตัวอย่างครีบปลาสายพันธุ์ก่อนการนำไปวิจัยให้กับกรมประมงนำไปบันทึกในธนาคารดีเอ็นเอ ซึ่งแตกต่างจากซากปลา 50 ตัวที่จะต้องส่งมอบภายหลังจากการวิจัยเสร็จสิ้น
การหาซากปลาทั้ง 50 ตัว หรือครีบปลาที่ถูกตัดไว้ก่อนการวิจัยมีความสำคัญคือการนำมาเปรียบเทียบกับพันธุกรรมของปลาที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน หากพบว่าพันธุกรรมตรงกันก็สามารถพิสูจน์ได้ว่าความผิดพลาดมาจากบริษัทเอกชน และหากไม่ใช่ ก็จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ให้กับบริษัทที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์
ส่วนหากไม่พบตัวอย่างของปลาทั้ง 2 รูปแบบ อาจจะมีการขอบริษัทเข้าไปตรวจตัวอย่างดินในพื้นที่ฝังกลบเมื่อ 14 ปีที่แล้ว ถึงแม้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้ 100% แต่ก็จะทำให้เกิดความชัดเจน
สำหรับความคืบหน้าของการประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ ครั้งต่อไป จะเดินทางไปตรวจสอบห้องจัดเก็บซากสัตว์และพันธุกรรมตัวอย่างที่กรมประมง ว่ามีมาตรการในการเก็บและติดตามที่รัดกุมมากน้อยแค่ไหน
นอกจากนี้ ในวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม คณะอนุกรรมาธิการฯ จะเชิญตัวแทนบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) มาชี้แจงข้อมูลตัวอย่างครีบปลาที่ตัดส่งให้กรมประมงอีกครั้ง
ณัฐชาทิ้งท้ายด้วยการชื่นชมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมประมง ที่ได้รื้อฟื้นการแก้ไขปัญหาวิกฤตปลาหมอคางดำขึ้นมาอีกครั้ง แม้ว่าระยะเวลาจะผ่านมาแล้วทั้งหมด 7 อธิบดี 8 รัฐมนตรี ก็ตาม ซึ่งหากทำได้สำเร็จก็คงจะได้รับความชื่นชมและกลายเป็นวีรบุรุษ