×

‘หุ้นไทย’ ไตรมาส 2 ส่อปรับฐาน กูรูคาดดัชนีมีโอกาสร่วงต่ำ 1,600 จุด

31.03.2022
  • LOADING...
หุ้นไทย

HIGHLIGHTS

  • นักวิเคราะห์จาก บล.ทรีนีตี้ และ บล.โนมูระ พัฒนสิน มองว่าหุ้นไทยในไตรมาส 2 จะปรับฐาน ทำให้ดัชนี SET มีโอกาสลงไปต่ำกว่า 1,600 จุด อีกครั้ง 
  • ความเสี่ยงสำคัญคือเรื่องของเงินเฟ้อที่จะเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากยิ่งขึ้น และกระแสเงินทุนที่จะเริ่มไหลออกจากหุ้นไทย
  • แต่การปรับฐานอาจจะไม่เกิดขึ้นหากปัจจัยเรื่องของรัสเซีย-ยูเครนเปลี่ยนไป คือสามารถเจรจากันได้เร็วและยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ 
  • กลุ่มหุ้นที่อาจจะเป็นหลุมหลบภัยช่วงนี้ เช่น โรงพยาบาล บริหารหนี้

ตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ถือว่าค่อนข้างผันผวน จากดัชนี SET ณ สิ้นปี 2564 ที่ระดับ 1,657 จุด ผ่านช่วงของการวิ่งขึ้นไปแตะระดับ 1,718 จุด และลดลงแรงไปแตะระดับ 1,580 จุด ก่อนที่จะฟื้นตัวอีกครั้งกลับมาอยู่บริเวณ 1,690 จุด เพิ่มขึ้นราว 2% จากปีก่อน

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปยังบรรยากาศการลงทุนโดยรอบ ดูเหมือนว่าปัจจัยต่างๆ จะไปในเชิงลบเสียมากกว่า ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์จาก บล.ทรีนีตี้ และ บล.โนมูระ พัฒนา ต่างออกรายงานเกี่ยวกับภาวะตลาดหุ้นในไตรมาส 2 ซึ่งประเมินไปในทิศทางเดียวกันว่าตลาดหุ้นไทยมีโอกาสจะปรับฐานมากกว่าที่จะวิ่งขึ้นไปต่อได้ 

 

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ถ้าประเมินจากปัจจัยต่างๆ ในขณะนี้ ทำให้ค่อนข้างมั่นใจว่าตลาดหุ้นไทยมีความเสี่ยงที่จะปรับฐาน

 

“หากปัจจัยเสี่ยงทั้งหลายไม่ได้เข้ามาในระหว่างที่ Valuation ของหุ้นสูงขนาดนี้ ก็คงจะไม่มั่นใจขนาดนี้ แต่ด้วย Valuation ที่สูงในปัจจุบัน เมื่อมีปัจจัยลบเพียงเล็กน้อยเข้ามาสะกิดก็ทำให้หุ้นมีโอกาสจะปรับลงได้ทันที” 

 

ณัฐชาตมองว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2 ปรับตัวลง มาจาก 3 ประเด็นหลัก 

 

  1. กระแสเงินลงทุน (fund flow) ผ่านจุดที่ดีที่สุดของปีไปแล้วในช่วง 2 เดือนแรก เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยไม่ใช่หลุมหลบภัยที่ดีอย่างก่อนหน้านี้อีกแล้ว จึงมีโอกาสที่จะเห็น fund flow พลิกกลับมาเป็นฝั่งขายสุทธิ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฤดูกาลหลังการจ่ายปันผล และการอ่อนค่าของเงินบาทที่อาจจะไปแตะระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์

 

  1. เศรษฐกิจไทยจะเริ่มได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อจากไตรมาสแรกที่เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบไม่มากนัก เพราะโดยธรรมชาติแล้วเมื่อเงินเฟ้อพุ่งขึ้นจะใช้เวลา 3-6 เดือน ก่อนที่จะส่งผ่านผลกระทบมาสู่เศรษฐกิจจริง และการที่เงินเฟ้อเข้ามาในเวลานี้ ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลัง ‘ตั้งไข่’ จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้เศรษฐกิจหยุดชะงักได้ 

 

  1. นโยบายการเงินของไทยมีโอกาสจะเปลี่ยนแปลง โดยอาจจะเริ่มเห็นสัญญาณของการขึ้นดอกเบี้ยในประเทศเพื่อรักษาเสถียรภาพของเงินบาท ซึ่งหากมีสัญญาณว่า ธปท. จะขยับขึ้นดอกเบี้ยเมื่อใด ก็จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น 

 

ทั้งนี้ ประเมินว่า จุดซื้อหรือเพิ่มน้ำหนักหุ้นไทยที่เร็วที่สุดตามมาตรวัด Earning Yield Gap อยู่ที่ระดับดัชนี 1,630 จุด ส่วนบริเวณที่ปลอดภัยมากกว่าอยู่ที่ระดับ 1,580-1,600 จุด และด้วยปัจจัยมหภาค คือความชัน Yield Curve ที่แบนราบมากขึ้น (Flattening) จะกดดันหุ้นกลุ่ม Value และกลุ่มวัฏจักรที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศ เช่น ธนาคาร ในทางกลับกันจะส่งผลบวกต่อหุ้นเติบโตขนาดกลางและเล็กให้กลับมาโดดเด่น 

 

“ในภาวะเช่นนี้กลุ่มหุ้นที่มีโอกาสจะโดดเด่นขึ้นมาได้มี 3 กลุ่ม คือ โรงพยาบาล, สินค้าจำเป็น และบริหารหนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีลักษณะ Defensive และมีแนวโน้มเติบโตได้ด้วยในระดับสูงกว่า 10%” 

 

อย่างไรก็ดี ภาพของการปรับฐานอาจจะไม่เกิดขึ้นและตลาดมีโอกาสจะกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง หากปัจจัยในเรื่องของสงครามเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือรัสเซียและยูเครนสามารถเจรจากันได้ และที่สำคัญคือมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ ถูกยกเลิกทันที 

 

“ก่อนหน้านี้สมมติฐานของเราคือสงครามอาจจะจบลง แต่การคว่ำบาตรและเรื่องของเงินเฟ้อจะยังอยู่ กลับกันหากการคว่ำบาตรจบลง จะทำให้เงินเฟ้อลดลงตามทันที และหนุนให้ทุกอย่างกลับไปทางบวก รวมถึงความกังวลที่ว่า Fed อาจจะขึ้นดอกเบี้ยได้ครั้งละ 0.5% ติดๆ กันก็จะหายไปทันที” 

 

ด้าน กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน ประเมินว่า ตลาดหุ้นช่วงไตรมาส 2 จะถูกกดดันจาก 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 

 

  1. การดึงสภาพคล่องกลับของธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยคาดว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ตามด้วยการขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ในเดือนกรกฎาคม กันยายน และธันวาคม พร้อมกับคาดว่า Fed จะประกาศลดงบดุลในเดือนพฤษภาคม และเริ่มลดทันทีช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2565 

 

  1. ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้ราคาพลังงานและทิศทางเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจยุโรป รวมถึงความไม่แน่นอนจากการคว่ำบาตรเต็มรูปแบบหรือรัสเซียงดส่งออกพลังงาน ซึ่งความไม่แน่นอนดังกล่าวทำให้ตัวชี้วัดทางการเงินต่างๆ ขยับขึ้นใกล้ภาวะ China Shock เมื่อปี 2558 นอกจากนี้บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ยังเกิดภาวะ Inverted Yield Curve อีกด้วย 

 

โดยรวมเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2 จะเป็นภาพของการค้นหาฐาน หากอิงจากสถิติการเกิด Financial Shock ในอดีต พบว่าหุ้นไทยมักปรับฐานราว 10-15% และจะใช้เวลาปรับฐานราว 3 เดือน จึงคาดแนวรับของดัชนี SET ที่ 1,500-1,550 จุด แต่ในระยะยาวไปจนถึงสิ้นปี เชื่อว่าหุ้นไทยจะฟื้นตัวได้อีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ดัชนี SET มีโอกาสจะกลับไปหาระดับ 1,700-1,720 จุดได้อีกครั้ง 

 

“เหตุการณ์ครั้งนี้มีลักษณะเป็น Financial Shock คล้ายกับที่จีนประกาศลดค่าเงินหยวนฉับพลัน ช่วงปี 2558-2559 ขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ เกิด Inverted Yield Curve ซึ่งเหตุการณ์รัสเซียและยูเครนกระทบกับเงินเฟ้อมากกว่าการเติบโต จึงมองว่าเศรษฐกิจและตลาดการเงินในปัจจุบันอยู่ในภาวะ Financial Shock มากกว่า Financial Crisis หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)”

 

อย่างไรก็ตาม มุมมองต่อตลาดจะเปลี่ยนไปก็ต่อเมื่อการเจรจาระหว่างรัสเซียและยูเครนจบลง ซึ่งไม่เพียงแค่จบเท่านั้นแต่มาตรการคว่ำบาตรต่างๆ ถูกยกเลิกไปด้วย นอกจากนี้หากธนาคารกลางสหรัฐฯ มีท่าทีผ่อนคลายมากกว่าที่คิด คือขึ้นดอกเบี้ยต่ำกว่าคาด ตลาดก็อาจจะไม่ตอบรับในเชิงลบ และอีกส่วนหนึ่งคือการเลือกตั้งของไทย หากเกิดขึ้นเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ จะทำให้หุ้นกลุ่มที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศกลับมาดูดีอีกครั้ง

 

ทั้งนี้ บล.โนมูระ พัฒนสิน มองว่า หุ้นกลุ่มที่น่าจะยังโดดเด่น ได้แก่ การแพทย์ สื่อสาร พาณิชย์ ไฟแนนซ์ อาหาร และความบันเทิง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X