กังวลวิกฤต ‘STARK’ ลามไม่จบ เสี่ยงทำบริษัทประกัน-บจ. ลงทุนหุ้น-หุ้นกู้ STARK ขาดทุนใน 2Q66 แถมนักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทย หวั่นยังมี บจ. มีปัญหาซ้ำรอยเพิ่ม
SET Index เมื่อวานนี้ (28 มิถุนายน) ปิดการซื้อ-ขายที่ 1,466.93 จุด ลดลง 11.17 จุด หรือ 0.76% ระหว่างการซื้อ-ขายดัชนีปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทำจุดต่ำสุดในรอบประมาณ 29 เดือนที่ 1,465.45 จุด โดยดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลง 7 วันทำการติดต่อกัน SET Index จากปัจจัยกดดันจากเทขายหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ส่งผลให้ราคาหุ้นติดลบไป 2.00% และหุ้นกลุ่มประกันที่ราคาปรับตัวลดลง 1.50%
ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบ SET Index จากช่วงต้นปีถึงวันที่ 28 มิถุนายน ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลง 212.04 จุด หรือติดลบ 12.63%
กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยที่ระหว่างการซื้อ-ขายปรับตัวลดลงต่อเนื่องทำจุดต่ำสุดในรอบประมาณ 29 เดือนนั้น คาดว่าเกิดจากแรงขายหุ้นออกมา เพื่อลดความเสี่ยงจากความกังวลต่อกรณีปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นกับ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK ที่ตรวจสอบว่ามีการตกแต่งบัญชีงบการเงิน มีความเสี่ยงจะลุกลามขยายวงกว้างไปสู่ผู้เกี่ยวข้อง
โดยเฉพาะบริษัทกลุ่มบริษัทประกันที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งคาดว่าบางส่วนมีการลงทุนทั้งในหุ้นของ STARK ทางตรง รวมถึงหุ้นกู้ของ STARK ที่มีมูลค่ารวมประมาณ 9 พันล้านบาท ที่ปัจจุบันเป็นหุ้นกู้ที่ผิดชำระหนี้ (Default) เพราะถือเป็นตราสารที่มีคุณสมบัติที่บริษัทประกันสามารถลงทุน อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะมีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) อื่นๆ จะลงทุนในหุ้นกู้ดังกล่าวของ STARK ด้วย
ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงที่บริษัทประกันหรือ บจ. ที่ลงทุนในหุ้น STARK หรือหุ้นกู้ของ STARK ดังกล่าวจะต้องตั้งสำรองด้อยค่าสินทรัพย์เงินลงทุนเกิดขึ้น ส่งผลให้ต้องมีการบันทึกผลการขาดทุนในงบการเงินไตรมาส 2/66 ซึ่งจะมีการรายงานออกมาในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ โดยแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นกลุ่มประกัน
อีกทั้งนักลงทุนยังสูญเสียความเชื่อมั่นในภาพรวมของการลงทุนว่า อาจมีความสงสัยว่าจะยังมี บจ. อื่นๆ ที่จะเกิดปัญหาคล้ายกับ STARK ขึ้นได้อีกในอนาคต
“ความน่ากลัวตอนนี้คือ ปัญหา STARK เสี่ยงจะกระทบกับบริษัทประกัน หรือมี บจ. ที่ลงทุนตรงในหุ้นหรือหุ้นกู้ของ STARK แต่ประเมินผลกระทบได้ยาก เพราะไม่มีการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งน่าจะได้รู้ตอนที่งบการเงินไตรมาส 2/66 ประกาศออกมาว่ามีใครเข้าไปลงทุนบ้าง
“ส่วน บลจ. ที่มีการลงทุนด้วยไม่ได้มีผลกระทบกับตัว บลจ. หรือแบงก์ที่เป็นบริษัทแม่ แต่จะไปกระทบกับผู้ลงทุนที่เข้าลงทุนถือหน่วยลงทุนผ่าน บลจ. แห่งนั้น ส่วนราคาหุ้นแบงก์ที่ลงมาแรงด้วยนั้น นักลงทุนอาจเข้าใจผิดว่าแบงก์เสี่ยงที่จะต้องขาดทุนด้วย แต่จริงๆ แล้วแบงก์จะไม่มีผลขาดทุนจากกรณีนี้”
นอกจากนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายังมีแรงขายออกมาในหุ้นกลุ่มเครือ บมจ.เจมาร์ท (JMART) ที่หลุดจากการได้รับเลือกการคำนวณ SET50 กับ SET100 กดดันให้ราคาหุ้นในกลุ่ม JMART และตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงแรงในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะที่ปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศที่เริ่มกลับมาเคลื่อนไหวมากขึ้นหลายประเด็นในช่วงนี้ มองว่าความเสี่ยงดังกล่าวได้สะท้อนไปยังราคาหุ้นในตลาดแล้ว
อย่างไรก็ดี ล่าสุด บล.ยูโอบี เคย์เฮียน ได้ปรับลดเป้าหมาย SET Index สิ้นปี 2566 ลดลงจากเดิมที่ทำไว้ที่ 1,740 จุด ลงมาเหลือ 1,630 จุด หรือลดลงจากเดิม 110 จุด เพื่อให้สอดคล้องกับตัวเลขกำไรต่อหุ้น (EPS) ในปีนี้ ที่มีการปรับประมาณการลงจากเดิมที่ 105 บาทต่อหุ้น เหลือ 102 บาทต่อหุ้น รวมถึงปรับลดอัตราราคาปิดต่อกำไร (P/E Ratio) จาก 16.5 เท่า ลงเหลือ 16 เท่า เนื่องจากมีผลกระทบจากหุ้นกลุ่มที่อ้างอิงกับเศรษฐกิจโลกซึ่งมีความเสี่ยงชะลอ เช่น กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี จะมีกำไรลดลง และได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยโลกที่มีโอกาสขึ้นต่อและทรงตัวในระดับที่สูง