ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยวันนี้ (5 มกราคม) ปรับตัวขึ้นร้อนแรงในช่วงท้ายตลาด โดยดัชนีปิดการซื้อขายที่ระดับสูงสุดของวันต่อเนื่องเป็นวันที่สอง ที่ระดับ 1,506.65 จุด เพิ่มขึ้น 38.41 จุด หรือ +2.62% มูลค่าการซื้อขาย 115,299.85 ล้านบาท
โดยหุ้นโรงไฟฟ้าปรับตัวขึ้นโดดเด่นแบบยกแผง และถือเป็นกลุ่มนำตลาด ประกอบด้วย
- บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ปิดที่ 64 บาท เพิ่มขึ้น 19.63% หนุนดัชนีหุ้นไทยเพิ่มขึ้น 3.5 จุด
- บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ปิดที่ 84.75 บาท เพิ่มขึ้น 7.28% หนุนดัชนี 1.5 จุด
- บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ปิดที่ 54.25 บาท เพิ่มขึ้น 6.37% หนุนดัชนี 0.7 จุด
- บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ปิดที่ 37.25 บาท เพิ่มขึ้น 4.93% หนุนดัชนี 1.8 จุด
ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ปรับเพิ่มขึ้นมารอบนี้เกิดจาก 3 ปัจจัยหลักคือ
- กระแสนโยบาย Green Energy ของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน
- การกระตุ้นภาคเศรษฐกิจของไทย โดยการออกนโยบายสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบริหารจัดการทรัพยากรไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ค่าเงินบาทแข็งค่า ทำให้กลุ่มโรงไฟฟ้าได้รับอานิสงส์เชิงบวก คือมีกำไรจากส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องราคาหุ้นที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ เพราะได้รับผลกระทบจากความกังวลในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดปีที่แล้ว และปัจจัยจากพฤติกรรมนักลงทุนที่เริ่มเฟ้นหาหุ้น Defensive
ทั้งนี้ ประเมินว่าปัจจัยบวกหลักๆ จะสนับสนุนราคาหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้าต่อไปในระยะ 1-2 สัปดาห์จากนี้ หรือจนกว่าโจ ไบเดน จะขึ้นรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการแล้วประกาศนโยบายอออกมาอย่างชัดเจน
ขณะเดียวกัน เชื่อว่ากลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดเล็กต่างๆ หรือ บจ. ที่มีการกระจายธุรกิจไปทำธุรกิจพลังงานทดแทน ก็จะได้รับความสนใจเข้าลงทุนเพิ่มมากขึ้นในเร็วๆ นี้
“การปรับขึ้นรอบนี้ นอกจากกลุ่มโรงไฟฟ้าแล้ว ยังมีกลุ่มที่ Underperform ตลาดเมื่อปีที่แล้ว ก็ค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นมาด้วย ทั้งกลุ่มค้าปลีก สื่อสาร ธนาคาร อย่างไรก็ตาม กลุ่มธนาคารถือว่าปรับเพิ่มขึ้นมาสักระยะหนึ่งแล้ว ในช่วงต้นปีจึงไม่ได้ปรับขึ้นมากนัก”
สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า นักลงทุนเริ่มมองหาหุ้นที่เป็น Defensive Stock และโรงไฟฟ้าก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายการลงทุน ประกอบกับอยู่ในธีมการลงทุนในปีนี้ที่ควรเน้นการลงทุนในหุ้นพลังงานทดแทนและรถยนต์ไฟฟ้า ตามนโยบายของสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นทั่วโลก
สำหรับหุ้นที่เป็น Defensive Stock และราคาหุ้นยังต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆ ในตลาดหุ้นไทยยังมีกลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มเฮลท์แคร์ และกลุ่มสื่อสาร
“ในช่วงนี้การจะมองหาว่าหุ้นกลุ่มไหนเป็น Defensive Stock ที่แท้จริง ควรประเมินปัจจัยเรื่องผลกระทบจากโควิด-19 ประกอบไปด้วย กลุ่มไหนหรือบริษัทใดที่ได้รับผลกระทบน้อยมาก ก็จัดเป็น Defensive Stock อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐาน และแนวโน้มการเติบโตด้วยเช่นกัน”
สำหรับดัชนีที่ 1,500 จุด บล.ไทยพาณิชย์ ประเมินว่าเป็นระดับที่สมเหตุสมผล สอดรับกับปัจจัยด้านจิตวิทยาที่นักลงทุนคลายกังวลเรื่องมาตรการล็อกดาวน์ อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตามเรื่องผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งแม้จะใช้มาตรการล็อกดาวน์บางพื้นที่ แต่ก็ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมอ่อนแอลงเช่นกัน ฉะนั้นจึงมองว่าการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีรอบนี้น่าจะเกิดในช่วงสั้น
ขณะที่ สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย ประเมินว่า การปรับขึ้นของกลุ่มโรงไฟฟ้ารอบนี้ค่อนข้างใกล้เคียงกับปี 2563 ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดรอบใหม่ พบว่ากลุ่มที่ปรับตัวได้สูงกว่าดัชนีคือกลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มปิโตรเคมี และกลุ่มบริหารสินทรัพย์
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2563 กลุ่มโรงไฟฟ้าอาจจะไม่ใช่ Defensive Stock อย่างแท้จริง เพราะรัฐบาลประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ทำให้ลูกค้าของกลุ่มโรงไฟฟ้าไม่มีการซื้อไฟสำหรับภาคการผลิต จึงนับเป็นการขาดรายได้ แต่สถานการณ์ในปี 2564 แตกต่างออกไป เพราะรอบนี้เป็นการล็อกดาวน์บางส่วน และภาคการผลิตก็ยังคงดำเนินการผลิตต่อ นักลงทุนจึงเห็นเป็นจุดน่าเข้าลงทุน
ทั้งนี้ ประเมินแนวโน้มราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้ายังมีอัปไซด์เฉลี่ยอยู่ราว 10% บนการประเมินจากผลตอบแทนจากเงินปันผลเฉลี่ย เทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี อย่างไรก็ตาม หลายบริษัทค่อนข้างเต็มมูลค่าไปแล้ว จึงแนะนำให้ลงทุนในหุ้นที่ยังมีอัปไซด์อยู่ เช่น GPSC, BCPG
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์