×

หุ้นไทยบวกเกือบ 20 จุด สูงสุดในรอบสัปดาห์ แม้โหวตเลือกนายกฯ ยังไม่ได้ข้อสรุป ‘DELTA-PTT-AOT-GULF-ADVANC’ นำตลาดขึ้น

14.07.2023
  • LOADING...
หุ้นไทย

ความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทยวันนี้ (14 กรกฎาคม) ดัชนี SET ปรับตัวขึ้นได้มากสุด 18.65 จุด ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1,512.67 จุด สูงสุดในรอบ 7 วันทำการที่ผ่านมา 

 

สำหรับหุ้นที่ส่งหนุนดัชนีให้ปรับตัวขึ้นมากสุดในวันนี้ ณ ช่วงเวลาประมาณ 11.20 น. ได้แก่ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (DELTA) บมจ.ปตท. (PTT) บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) และ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) 

 

ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า การฟื้นตัวของหุ้นไทยวันนี้เป็นผลจากการที่นักลงทุนในตลาดค่อนข้างเชื่อว่าพรรคก้าวไกลมีโอกาสน้อยมาก อาจจะไม่ถึง 20% ในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

 

“หากเป็นกรณีที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแทน จะทำให้ความเสี่ยงในเรื่องของนโยบายต่อกลุ่มทุนใหญ่ลดลง ทำให้นักลงทุนที่ก่อนหน้านี้ค่อนข้างระมัดระวังเริ่มกลับเข้ามาในตลาด” 

 

ภาดลกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้หุ้นขนาดใหญ่เหล่านี้ถูกกดดันจนทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลายตัวปรับตัวลงเกิน 15% เช่น กลุ่มโรงไฟฟ้า สื่อสาร ค้าปลีก พลังงาน เมื่อมีแรงซื้อคืนเข้ามาในขณะนี้ทำให้ Upside ของหุ้นเหล่านี้ยังมีอยู่พอสมควร 

 

อย่างไรก็ตาม หุ้นไทยยังมีโอกาสจะผันผวนไปตามเหตุการณ์หลังจากนี้ ซึ่งสิ่งที่ต้องติดตามคือเรื่องผลกระทบข้างเคียงจากการเมือง หากไม่ได้มีความรุนแรงเกิดขึ้นและเป็นเพียงการชุมนุมโดยสงบ เชื่อว่าดัชนี SET จะไม่ลดลงไปทำจุดต่ำสุดใหม่อีกแล้ว 

 

ในมุมมองของ กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดว่าหุ้นไทยอาจแกว่งตัวออกข้างต่อไปในระหว่างที่ปัจจัยการเมืองยังไม่ได้ข้อสรุป โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่เป็นฝ่ายขายสุทธิต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน 

 

แรงกดดันจากเรื่องการเมืองทำให้นักลงทุนปรับลดคาดการณ์กำไรต่อหุ้นของไทย ซึ่งปัจจุบันคาดการณ์อยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด 11-12% อย่างไรก็ตาม หากประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของ SET ที่ระดับ P/E 15 เท่า และกำไรต่อหุ้นราว 100 บาท ทำให้ดัชนี SET ที่ต่ำกว่า 1,500 จุด ในแต่ละครั้ง เป็นจุดที่น่าสนใจในระดับหนึ่ง 

 

“ที่ผ่านมาความไม่แน่นอนสะท้อนไปในราคาระดับหนึ่งแล้ว ทำให้เมื่อดัชนีหลุด 1,500 จุด จึงเริ่มมีแรงซื้อกลับมา” 

 

ส่วนการกลับมาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ กำพลกล่าวว่า ปัจจุบันต่างชาติประเมินการลงทุนในตลาดเกิดใหม่โดยพิจารณาเป็นรายประเทศมากขึ้น ไม่ได้มองเป็นกลุ่มประเทศเหมือนในอดีต ทำให้ไทยเป็นเพียงหนึ่งในตัวเลือกเท่านั้น 

 

“ฉะนั้นเมื่อเรามีความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายที่สูงขึ้น ต่างชาติจะชะลอการลงทุนไว้ก่อน” 

 

ด้าน อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากความไม่แน่นอนของการเมืองในระยะสั้นว่าอาจทำให้ไทยเสียโอกาส โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่กำลังพิจารณาว่าจะตั้งฐานการลงทุนที่ใด

 

ขณะเดียวกันต้องติดตามว่าปัจจัยการเมืองจะลากยาวไปจนถึงไตรมาส 4 หรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้นอาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น เพราะไตรมาส 4 เป็นไฮซีซันของการท่องเที่ยวและการบริโภค รวมทั้งการใช้จ่ายงบประมาณที่ทำได้ไม่เต็มที่

 

ในมุมของธุรกิจควรให้ความสำคัญกับ 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. การตุนสภาพคล่องหรือกระแสเงินสดให้พร้อม เพื่อรับมือกับช่วงเวลาของความไม่แน่นอน และ 2. อย่ามองเพียงแค่ปัญหาระยะสั้น แต่ควรมองว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป โดยเฉพาะเรื่องการขึ้นค่าแรงที่เป็นนโยบายหลักของทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย 

 

“สำหรับ SME และธุรกิจขนาดใหญ่ต้องเตรียมความพร้อม ทั้งการเพิ่มทักษะแรงงานให้สอดรับกับต้นทุนที่สูงขึ้น และเตรียมความพร้อมเรื่องของเครื่องจักรเพื่อชดเชยต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น เมื่อทุกอย่างผ่านพ้นไปเราจะสามารถเติบโตได้กับเศรษฐกิจยุคใหม่”

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X