ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยวันนี้ (23 ธันวาคม) ปิดการซื้อขายที่ 1,416.02 จุด ลดลง 8.37 จุด หรือ -0.59% ระหว่างวันปรับตัวขึ้นทำระดับสูงสุดที่ 1,440.52 จุด มูลค่าการซื้อขาย 89,556.24 ล้านบาท โดยนักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิต่อเนื่องอีก 1,328.95 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 62.75 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 705.58 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อสุทธิ 1,971.78 ล้านบาท
สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า การปรับฐานของหุ้นไทยรอบนี้เกิดจากความกังวลเรื่องมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศไทยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดในหลายจังหวัดอย่างรวดเร็ว ขณะที่ข้อมูลผู้ติดเชื้อรอบนี้ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ ประกอบการช่วงปลายปีซึ่งเป็นช่วงเทศกาล และประชาชนมีการเดินทางกลับภูมิลำเนาสูง
ทั้งนี้หากเทียบกับการปรับฐานของตลาดหุ้นประเทศอื่นๆ ที่เผชิญกับปัจจัยเดียวกัน พบว่าหลายประเทศก็เริ่มประกาศล็อกดาวน์เป็นพื้นที่แบบระยะยาวไปถึงกลางเดือนหน้าพบว่า เมื่อประกาศล็อกดาวน์ ตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลงราว 3-8% โดยปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดว่าตลาดหุ้นไทยจะลดลงมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลักคือ
- ประเทศนั้นๆ มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่
- ตลาดหุ้นนั้นๆ มีหุ้นเทคฯ หรือไม่ สัดส่วนเท่าใด
- ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Foreign Exchange Reserves) มีมากน้อยเพียงใด
“ตอนที่อเมริกาประกาศล็อกดาวน์ ตลาดหุ้นไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะเขามีทั้ง 3 ปัจจัยมาสนับสนุนอยู่ ส่วนประเทศไทยและตลาดหุ้นไทยมีแค่ปัจจัยเรื่องทุนสำรองระหว่างประเทศที่ค่อนข้างสูง ฉะนั้นหากมีการประกาศล็อกดาวน์ก็เป็นไปได้ที่ดัชนีจะปรับลดลงอีก”
ทั้งนี้การปรับตัวลงรอบนี้จนดัชนีมาอยู่ที่ระดับ 1,400-1,410 จุด เท่ากับดัชนีหุ้นไทยลดลงไปแล้วราว 5% หากตั้งสมมติฐานว่าหุ้นไทยจะปรับฐานในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก หรือราว 8% ดัชนีก็น่าจะปรับลงมาอยู่ที่1,360 จุด ซึ่งมองว่าเป็นจุดที่น่าเข้าสะสม
โดยแนะนำการลงทุนให้ทยอยเข้าสะสมตั้งแต่ระดับดัชนี 1,400 จุด เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังเป็นไปในทิศทางบวก อีกทั้งตลาดหุ้นไทยยังมีแรงซื้อจากสถาบันต่างประเทศ ที่ไม่ได้ตระหนกกับเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่และการล็อกดาวน์มากนัก เพราะเคยผ่านปัจจัยนี้มาแล้วจากตลาดหุ้นต่างประเทศ
กลุ่มที่น่าลงทุนคือจากนี้ไปจนถึงไตรมาส 1 ปีหน้าคือกลุ่มไฟแนนซ์ ประเภทบริหารหนี้เสีย อาทิ JMT CHAYO SAWAD และกลุ่มโลจิสติกส์ที่สอดรับกับการค้าระหว่างประเทศที่เริ่มดีขึ้น เช่น RCL PSL
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า