SET Index เปิดการซื้อ-ขายวันแรกของปี 2568 ในวันที่ 2 มกราคม ปรับตัวดิ่งลงกว่า 20 จุด มาจากหลายปัจจัยลบที่กดดัน ทั้งประเด็นในประเทศจากความกังวลว่า GDP ในปีนี้อาจมีข้อจำกัดในการขยายตัว และการเข้าสู่ยุค Trump 2.0 จะมีผลกระทบต่อการค้าทั่วโลก รวมทั้งมีความเสี่ยงที่จะโดนแรงถล่มขายจากกองทุน LTF ที่ครบอายุในช่วงต้นปีนี้
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ระบุว่า ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของ SET Index เดือนมกราคม 2568 ไว้ที่ 1,360-1,440 จุด ส่วนปัจจัยในประเทศ แม้เศรษฐกิจไทยยังเติบโตช้ากว่าเพื่อนบ้าน แต่ก็มีแนวโน้มเติบโตตามแต่ละส่วนประกอบของ GDP หลักๆ ตามความคาดหวังการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบของรัฐบาลไทย เช่น Easy e-Receipt และแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2
อย่างไรก็ดี ในระยะถัดไปการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจำกัดจากหนี้สาธารณะต่อ GDP เริ่มปริ่มเพดาน 70%
โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินเศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันจากภายนอกที่รุนแรงขึ้น และความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่สูงขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งทิศทางนโยบายการค้าโลกและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์
อย่างไรก็ตาม มองว่ารัฐบาลไทยที่พยายามเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายต่างๆ น่าจะหนุนให้เศรษฐกิจไทยยังมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวที่ 2.7% ในปี 2567 และ 2.9% ในปี 2568 ส่วนอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% ทั้งนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 0.4% ในปี 2567 และ 1.1% ในปี 2568
ด้านสำนักวิจัยและหน่วยงานด้านเศรษฐกิจต่างๆ ออกมาประกาศและปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.6% ดังนั้น GDP ในไตรมาส 4/67 ต้องเติบโตอย่างน้อย 3.5%YoY ถึงจะโตเท่าประมาณการที่ตั้งไว้ 2.6% ซึ่งถือว่าเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ขณะที่ประมาณการ GDP ปี 2567 ที่สูงกว่านี้ในช่วงก่อนหน้ามาจากหลายสาเหตุกดดัน ทั้งการลงทุนภาคเอกชน การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด ท่ามกลางภาวะหนี้ครัวเรือนสูงและการเข้มงวดต่อการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน
ขณะที่ปีหน้าค่าเฉลี่ยของตัวเลขคาดการณ์ GDP ไทยของสำนักเศรษฐกิจต่างๆ อยู่ที่ 2.9%YoY ในปีหน้า ซึ่งยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้จากการเพิ่มขึ้นของแรงสนับสนุนจากรายจ่ายภาครัฐ การขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชน การท่องเที่ยวและบริโภคที่จ่อฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมทั้งการส่งออกสินค้าที่ขยายตัว
ส่วนมุมมองของฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส มองว่ายังมีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดดอกเบี้ยสัก 1 ครั้งราว 0.25% แต่น่าจะทิ้งช่วงไปเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือกลางปี 2568 ซึ่งหากมีการลดดอกเบี้ยสัก 1 ครั้ง จะสามารถขยับดัชนีเป้าหมายขึ้นราว 70 จุด
จับตา LTF ถล่มขายหุ้นไทย 2.3 แสนล้านบาท
ส่วนในมุม Fund Flow ต้นปี 2568 ตลาดหุ้นอาจเผชิญแรงกดดันจากเม็ดเงิน LTF ที่พร้อมขายได้สูงขึ้นเป็น 2.3 แสนล้านบาท สูงกว่าต้นปีก่อนที่ 1.6 แสนล้านบาทราว 43% โดยคาดว่าจะเห็นแรงขายออกมาในเดือนมกราคม 2568 เป็น 1.5-2 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเดือนมกราคมของปีอื่นๆ
ขณะที่แรงซื้อกองทุน ThaiESG อาจชดเชยได้ไม่พอส่วนเม็ดเงินต่างชาติ มีโอกาสชะลอช่วงสั้นๆ เนื่องจากนักลงทุนอยู่ในช่วงรอดูนโยบาย Trump 2.0 และหากเทียบเคียงกับยุค Trump 1.0 ปี 2561 ที่มีประเด็นสงครามการค้า เป็นปีที่ต่างชาติขายหุ้นไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 2.87 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันจากการทยอยปรับลดกำไรต่อหุ้น (EPS) ปี 2568 ที่ Bloomberg ประเมินไว้ที่ 98.5 บาทต่อหุ้น เทียบเท่ากำไร 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี เฉลี่ยต่อไตรมาสราว 3 แสนล้านบาท ถือว่าเกิดขึ้นได้ยาก เพราะสูงกว่ากำไรระดับปกติไตรมาสละ 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะสร้างความผันผวนได้
อย่างไรก็ตาม SET ย่อตัวลงมาอาจมีจังหวะรีบาวด์ได้บ้างจากความคาดหวังการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนงวดไตรมาส 4/67 ที่น่าจะเติบโตทั้งเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน (QoQ) และช่วงเดียวกันของปีก่อน YoY จากฐานที่ต่ำ โดยงวดไตรมาส 2/66 อยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท และกำไรงวดไตรมาส 2/67 อยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท
สำหรับในมุม Valuation เบื้องต้นฝ่ายวิจัยฯ ประเมินเป้าหมาย SET Index ที่ 1,490-1,600 จุด บนคาดการณ์กำไรต่อหุ้น (EPS) ปี 2568 จาก Bloomberg Consensus ที่ 98.5 บาทต่อหุ้น ซึ่งอาจมี Downside ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ที่มักถูกปรับลงเฉลี่ย 5.8 บาทต่อหุ้น จึงทำ Sensitivity อ้างอิง P/E ที่ 16.5 เท่า จะได้เป้าหมายดัชนีฯ ในปี 2568
คาด Trump 2.0 ฉุด GDP โลก 0.4-0.6%
นอกจากนี้ประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงการเมืองโลก Trump 2.0 เป็นเรื่องที่นักลงทุนให้น้ำหนักมากขึ้น เนื่องจากผลกระทบต่อภาคการค้าระหว่างประเทศเสี่ยงแพร่กระจายไปทั่วโลก ไม่ใช่แค่จีนประเทศเดียว โดยคาดว่าสหรัฐฯ จะเริ่มปรับขึ้นภาษีนำเข้าในช่วงไตรมาส 3/68 เป็นต้นไป กดดัน GDP โลกปี 2568 หดตัว 0.4-0.6%
DELTA ดิ่งหนัก หวั่น พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม ฉุดกำไร
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า SET Index ภาคเช้าวันนี้ (2 มกราคม) ปรับตัวลง ปิดที่ 1,381.25 ลบไป 18.96 จุด หรือติดลบไป 1.35% โดยแรงกดดันมาจากหุ้นในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มสื่อสาร กลุ่มประกัน รวมถึงหุ้น CPAXT และ PTT
อีกทั้งยังมีความกังวล หลังบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่มีการดำเนินธุรกิจข้ามชาติยังคงมีแนวโน้มเผชิญกับแรงกดดันจากความกังวลต่อกำไรสุทธิในปี 2568 ท่ามกลางอัตราภาษีที่แท้จริงของบางบริษัทที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องมาจาก พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 ที่เริ่มระยะเวลาบัญชีหลังวันที่ 1 มกราคม 2568 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับแก่กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติ (MNEs) ขนาดใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ในไทย ที่มีรายได้ตามงบการเงินรวมของบริษัทแม่ลำดับสูงสุดไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร หรือ 2.6 หมื่นล้านบาท
โดยให้เสียภาษีขั้นต่ำทั่วโลกในอัตราไม่ต่ำกว่า 15% เช่น DELTA ที่เช้านี้ปรับตัวลงไป 7.87% กระทบ SET Index ทางลบ 12 จุด ซึ่งทางฝ่ายได้ปรับลดคาดการณ์กำไรปี 2568 ลง 6.2% จากประเด็นภาษีข้างต้น ประกอบกับ SET Index ยังถูกกดดันจากความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลัง PMI ภาคการผลิตเดือนธันวาคม 2567 ของจีนจากภาครัฐและ Caixin ต่างบ่งชี้ถึงตัวเลขที่แย่ลงจากเดือนก่อนหน้า และกำลังเข้าใกล้ระดับหดตัวหรือต่ำกว่า 50 ด้านปัจจัยติดตามวันนี้ ได้แก่
- PMI ภาคการผลิตเดือนธันวาคม 2567 ของยูโรโซนและสหรัฐฯ ตลาดคาดการณ์ที่ 45.2 และ 48.3 จากเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ 45.2 และ 49.7 ตามลำดับ
- ผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐฯ ตลาดคาดการณ์ที่ 2.22 แสนตำแหน่ง เพิ่มขึ้นจาก 2.19 แสนตำแหน่งในการรายงานสัปดาห์ก่อนหน้า