×

หุ้นไทยเข้าโหมด ‘ตลาดหมี’ เต็มตัว! ต่างชาติเทขาย 13 วันรวด กด SET ดิ่ง 20% จากจุดสูงสุดต้นปีก่อน

10.06.2024
  • LOADING...
หุ้นไทย ตลาดหมี

ดัชนี หุ้นไทย (SET Index) ร่วงสู่ระดับ 1,318.57 จุด ต่ำสุดในรอบ 3 ปี กับอีก 7 เดือน และหากคำนวณจากจุดสูงสุดเมื่อต้นปี 2566 ที่เกือบ 1,700 จุด จะเห็นว่าหุ้นไทยร่วงลงมาแล้วกว่า 20% ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วทำให้หุ้นไทยเข้าสู่ ‘ตลาดหมี’ (Bear Market) อย่างเต็มตัว 

 

มากไปกว่านั้นหากในสัปดาห์นี้หุ้นไทยปิดตัวต่ำกว่าระดับ 1,332.74 สุด จะทำให้หุ้นไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน

 

แรงขายที่เกิดขึ้นตลอด 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนหลักมาจากนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิ 13 วันทำการต่อเนื่อง ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยออกไปแล้วทั้งสิ้น 8.98 หมื่นล้านบาท

 

เศรษฐกิจไทยโตต่ำกดดันตลาดหุ้น

แมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับหุ้นไทยในปัจจุบันส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับในภูมิภาค 

 

สำหรับปีนี้ IMF คาดว่า GDP ไทยจะเติบโต 2.6% เทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกที่น่าจะเติบโต 3.2% ขณะที่กลุ่มประเทศ ASEAN-5 น่าจะเติบโตเฉลี่ย 4.5% ทำให้หุ้นไทยเข้าสู่ Extreme Bear Market หรือภาวะตลาดหมีรุนแรง 

 

นอกจากภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ความน่าสนใจของตลาดหุ้นใดๆ จะมาจากอีก 2 ปัจจัยที่เชื่อมโยงกันคือ มูลค่าของหุ้น (Valuation) และปัจจัยพื้นฐานของแต่ละอุตสาหกรรม 

 

แมนพงศ์กล่าวต่อว่า ตลาดหุ้นไทยในเวลานี้ “มืดมนบางส่วน แต่ไม่ถึงขั้นเลวร้ายไปทั้งหมด”  

 

บางอุตสาหกรรมของไทยยังคงฟื้นตัวกลับมาได้หลังจากเผชิญวิกฤตโควิด เช่น ท่องเที่ยว อาหาร สุขภาพ รวมทั้งอุตสาหกรรมที่มีแบรนด์ที่เติบโตได้ดีในประเทศ และสามารถขยายตลาดไปเติบโตในระดับโลกได้ 

 

แต่สิ่งที่ประเทศไทยยังค่อนข้างขาดคือกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็น New Economy ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องช่วยกันสร้างขึ้นมา

 

ความพยายามของตลาดหลักทรัพย์

ในฐานะตัวแทนของตลาดหลักทรัพย์ฯ แมนพงศ์กล่าวว่า นอกจากปัจจัยเศรษฐกิจแล้ว ความเชื่อมั่นของนักลงทุนก็หดหายไปด้วยเช่นกัน อย่างนักลงทุนบุคคลที่กังวลเรื่องของความไม่เป็นธรรม ขณะที่นักลงทุนสถาบันและต่างชาติกำลังติดตามเรื่องของกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ว่าส่งผลกระทบอย่างไร และเป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือไม่ 

 

สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ พยายามทำในช่วงที่ผ่านมาคือ การปรับปรุงและการสร้างเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือการลงทุน รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลให้ได้มากขึ้น เพื่อให้ผู้ลงทุนนำไปประกอบการตัดสินใจ รวมทั้งการติดตามคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนโดยรวม 

 

ตัวอย่างเช่น ภายในของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีเครื่องมือที่เรียกว่า Financial Health Check สำหรับตรวจสอบคุณภาพ 5 เรื่องหลักของบริษัทจดทะเบียน ได้แก่ 

 

  1. คุณภาพรายได้ 
  2. คุณภาพกำไร
  3. คุณภาพกระแสเงินสด
  4. ความสามารถในการชำระหนี้
  5. วิธีการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ที่จะเข้าลงทุน

 

สภาพคล่องที่หายไปจากหุ้นไทย

ประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ จำกัด กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในเวลานี้เป็นช่วงที่รู้สึกได้ว่าสิ้นหวัง สังเกตได้จากมูลค่าการซื้อขายที่ต่ำสุดในรอบ 5 ปี ประมาณวันละ 4 หมื่นล้านบาท 

 

“ตอนนี้เป็นสถานการณ์ที่แย่ที่สุดตั้งแต่เคยทำงานมา เพราะขาลงในอดีตอย่างน้อยจะมีพื้นที่ในการฟื้นตัว มีแรงซื้อเข้ามาบ้าง แต่ปัจจุบันไม่มี ทำให้หุ้นลงเยอะหรือซึมลง” 

 

เหตุผลสำคัญในสถานการณ์นี้คือ ‘ขาดสภาพคล่อง’ ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์ช่วงโควิด ซึ่งนักลงทุนไทยแห่เข้ามาลงทุนในตลาด สะท้อนจากปริมาณบัญชีหุ้นที่เพิ่มขึ้นจากก่อนโควิดจำนวน 1.5 ล้านบัญชีมาเป็น 3 ล้านบัญชี พร้อมกับความคาดหวังว่าหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นต่อ แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น จนนักลงทุนบางส่วนขาดทุนหุ้นค้างมาจนถึงปัจจุบัน และอีกส่วนหนึ่งคือแรงซื้อที่หายไปจากการยกเลิกกองทุน LTF 

 

นอกจากนี้ปัจจัยเรื่องการเมืองที่ส่งผลให้งบประมาณรัฐบาลล่าช้าร่วม 7 เดือน ทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันดอกเบี้ยนโยบายที่สูงขึ้นในไทยทำให้ ‘ส่วนต่างของผลตอบแทนจากความเสี่ยงของตลาด’ (Market Risk Premium) ต่ำลง

 

“ปัญหาในเชิงโครงสร้างของไทยลึกมาก เรามีปัญหาในทุกๆ ภาคส่วน โดยเฉพาะเรื่องของศักยภาพในการแข่งขัน ศักยภาพในการส่งออก ศักยภาพในการผลิต ทำให้ดูแล้วมืดไปหมด”​

 

ในขณะที่หุ้นไทยกำลังซบเซา เศรษฐกิจไม่ดี เงินลงทุนจะไหลจากที่ที่แย่ไปยังที่ที่ดี โดยเฉพาะธุรกิจเทคโนโลยีหลังจากกระแสของ AI ปะทุขึ้นมา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising