×

‘หุ้นไทย’ แพงสุดรอบ 30 ปี ‘วีไอ-นักวิเคราะห์’ ประสานเสียง ดัชนียังไปได้ต่อ

29.11.2020
  • LOADING...
‘หุ้นไทย’ แพงสุดรอบ 30 ปี ‘วีไอ-นักวิเคราะห์’ ประสานเสียง ดัชนียังไปได้ต่อ

ตลอดทั้งเดือนพฤศจิกายน 2563 เรียกได้ว่าตลาดหุ้นไทยเริ่มร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ปรับตัวลดลงอย่างหนัก เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นปัจจัยลบที่ตลาดหุ้นทั่วโลกต้องเผชิญ โดยข่าวดีเริ่มมีมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน จากเหตุการณ์สำคัญระดับโลก คือ 1. การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 และ 2. การค้นพบวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 

 

ปัจจัยนี้ได้ส่งผลผลักดันให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นจากระดับ 1,200 จุด สู่ระดับ 1,430 จุด เทียบเท่า P/E ประมาณ 28.4 เท่า ซึ่งเรียกได้ว่าสูงสุดในรอบ 30 ปี นับจากช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2533 ที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีค่า P/E ที่ 28-29 เท่า

 

จึงเป็นที่มาของความกังลว่า ระดับดัชนีในปัจจุบันนี้ถือว่าแพงไปหรือไม่ หากเทียบกับปัจจัยพื้นฐานหรือประสิทธิภาพในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

 

THE STANDARD WEALTH ได้รวบรวมความคิดเห็นจากนักลงทุนในตลาดหุ้นและนักวิเคราะห์ สรุปได้ว่า

 

  • ยอมรับว่าหุ้นไทยค่อนข้างเต็มมูลค่าพื้นฐานแล้ว
  • แต่ยังเชื่อว่ามีโอกาสปรับตัวขึ้นได้อีก เป้าหมายระยะสั้นคือกลับไปที่จุดเดิมก่อนเผชิญโควิด-19
  • มีความกังวลต่อโครงสร้างธุรกิจของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจจะปรับตัวไม่ทันโลกหลังโควิด-19

 

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ในฐานะ Value Investor กล่าวว่า ความถูกหรือแพงของดัชนีตลาดหุ้นไทยนั้น หากประเมินในมิติของ P/E ก็ต้องยอมรับว่าระดับดัชนีที่ระดับ 1​,430 จุด ซึ่งเทียบเท่าค่า P/E 27-28 เท่า ก็ถือว่าค่อนข้างสูงและเต็มมูลค่าพื้นฐานแล้ว 

 

อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าดัชนีจะสามารถปรับเพิ่มขึ้นได้อีก เนื่องจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 

  1. สภาพคล่องทั่วโลกที่ยังสูงและมุ่งแสวงหาผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่มี Potential 
  2. อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่น่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำ 
  3. ตลาดหุ้นไทยยังตามหลัง (Laggard) เมื่อเทียบตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน 

 

“ถ้ามองที่ระดับดัชนี ตอนนี้ตลาดหุ้นไทยยังต่ำกว่าระดับปลายปีที่แล้ว ก่อนที่ตลาดทุนจะเผชิญกับโควิด-19 อยู่ถึง 10% การเพิ่มขึ้นรอบนี้เรียกได้ว่าเป็นการรีบาวด์ระยะสั้น และส่วนตัวมองว่ามีโอกาสที่ดัชนีจะกลับไปสู่จุดก่อนเจอโควิด-19 หรือประมาณ 1,580 จุดได้ในเร็วๆ นี้ หรือราว 2-3 เดือน”

 

ส่วนในระยะยาว ประเมินว่าภายใน 2-3 ปี จากนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทยน่าจะกลับไปที่ระดับ 1,800 จุดได้ โดยอาศัยพื้นฐานเดิมที่ผลักดันตลาดหุ้นไทยเรื่อยมา ทั้งเรื่องฟันด์โฟลว และการเติบโตของผลกำไรบริษัทจดทะเบียน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากชวนให้ขบคิดคือ โครงสร้างเศรษฐกิจ สังคมไทย และประเภทธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนในตลาดที่อาจจะไม่ใช่ปัจจัยบวกอีกต่อไป โดยจะเห็นได้ว่าบริษัทจดทะเบียนที่เป็น Top 10, Top 20 ของตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันยังคงเป็นบริษัทเดิม ที่ส่วนใหญ่ทำธุรกิจที่เอนไปทาง Old Economy 

 

“จึงน่าขบคิดว่า เมื่อดัชนีปรับขึ้นไปถึงระดับที่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของประเทศ หรือของบริษัทจดทะเบียนในตลาดแล้ว เราจะมีเครื่องจักรใดมาช่วยขับเคลื่อนดัชนีได้อีก เพราะการซื้อขายหรือการลงทุนในตลาดหุ้นนั้น เป็นการลงทุนบนความคาดหวัง” 

 

วีระพงษ์ ธัม นายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า หากประเมินค่า P/E ตลาดหุ้นตอนนี้ ส่วนตัวมองว่าไม่แพง เพราะเป็นการซื้อขายบนพื้นฐานกำไรที่เกิดขึ้นแล้ว 4 ไตรมาส 

 

เขาประเมินว่า การที่ดัชนีปรับขึ้นรอบนี้ก็ตอบรับกับความคาดหวังของนักลงทุนที่มีต่อหุ้นกลุ่มต่างๆ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนราคาลดลงอย่างหนัก มาปัจจุบันราคาก็เริ่มขยับขึ้น และกลุ่มที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ราคาก่อนหน้านี้จึงไม่ค่อยได้รับผลกระทบนัก แต่ปัจจุบันก็เริ่มถูกขาย

 

ปัจจัยสำคัญคือ การฟื้นตัวจากโควิด-19 ว่าจะเป็นไปตามคาดการณ์หรือไม่ ซึ่งข่าวสารข้อมูลก็อัปเดตตลอดเวลา เช่นเดียวกับความคาดหวังและพฤติกรรมของนักลงทุน 

 

“ปีนี้เป็นปีที่อารมณ์นักลงทุนแปรปรวนที่สุด เพราะปัจจัยและความไม่แน่นอนต่างๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ส่วนตัวมองว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยน่าจะกลับไปที่จุดเดิม คือระดับ 1,500-1,600 จุดได้ เพราะปัจจัยพื้นฐานเราเหมือนเดิม” 

 

ทั้งนี้ อยากให้นักลงทุนมองระยะยาวไปจนถึงช่วงเวลาที่เราสามารถจัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แล้ว ซึ่งจะเป็นโลกที่ New Normal กลายเป็นเรื่องปกติ รวมถึงเกิด New Landscape ในภาคธุรกิจอีกมากมาย ซึ่งจะเป็นเทรนด์ธุรกิจแห่งอนาคต โดยนักลงทุนควรจะเริ่มมองหาบริษัทหรือหุ้นที่จะได้รับอานิสงส์โดยตรงจากอนาคตนั้นได้แล้ว 

 

“ส่วนตัวก็มองหาหุ้นที่ได้รับประโยชน์จาก New Normal และ New Landscape ในประเทศไทย แต่ก็ยังไม่พบหุ้นที่สามารถปรับตัวได้เร็วและมุ่งไปสู่เทรนด์อนาคตแบบ 100% เท่าที่มีในไทยส่วนมากจะเป็นการขยับตัวเข้าสู่เทรนด์อนาคตมากกว่า ซึ่งถือว่ายังไม่ใช่การ Transform ที่รวดเร็ว” 

 

นักวิเคราะห์มองดัชนีไปต่อ

 

สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า หากมองเฉพาะค่า P/E ก็ต้องยอมรับว่าค่อนข้างแพง เพราะค่า P/E ที่เริ่มสูงสะท้อนว่ากำไรอาจจะเพิ่มขึ้นไม่ทัน อย่างไรก็ตาม ค่า P/E ก็สะท้อนความคาดหวังของนักลงทุนเช่นกันว่ามองกำไรในปีหน้าว่าจะฟื้นตัวจากปีนี้ โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการคลี่คลายของสถาการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 

 

“ตลาดหุ้นจะมีนักลงทุนที่หลากหลาย สำหรับกลุ่มที่ดูโมเมนตัม ก็จะดูกระแสข่าว ดูฟันด์โฟลว กลุ่มนี้ก็จะลงทุนบนความคาดหวัง ส่วนกลุ่มนักลงทุนที่ดูมูลค่าเหมาะสมก็จะดู P/E ประกอบ ที่ดัชนีขึ้นรอบนี้ ก็เพราะนักลงทุนเริ่มมองไปที่อนาคตที่เป็นเทรนด์ของการฟื้นตัว” 

 

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังได้อานิสงส์จากฟันด์โฟลวที่เริ่มไหลเข้าลงทุนในเอเชียใต้ โดยที่ได้รับแรงเข้าซื้ออย่างชัดเจนคือตลาดหุ้นไทยและอินโดนีเซีย เมื่อประเมินจากกระแสเงินลงทุนแล้ว เชื่อว่ายังจะเข้ามาอีกระยะหนึ่ง หรือถึงไตรมาส 1/64 โดยลักษณะจะเป็นการเข้าซื้อมากกว่าขาย 

 

สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า หากประเมินจาก Earning Yield Gap (EYG) แล้ว จะพบว่าหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจเข้าลงทุนอยู่ โดยผลตอบแทนจากพันธบัตร 10 ปีอยู่ที่ 1.4% เทียบกับผลตอบแทนจากกำไรต่อหุ้นแล้ว จะมี Gap อยู่ที่ 3.7% โดยจุดที่ดัชนีน่าจะเต็มมูลค่าหากเทียบกับ EYG ก็คือระดับ 1,450 จุด 

 

ต่างชาติเห็นโอกาสลงทุนตลาดเกิดใหม่ 

 

James Sullivan จาก JPMorgan มองเห็นโอกาสการลงทุนแบบระยะกลางในภูมิภาคอาเซียน โดยล่าสุดได้อัปเกรดการลงทุนในอินโดนีเซียและไทยด้วยเหตุผลที่ว่า ก่อนหน้านี้มีการลงทุนใน 2 ประเทศดังกล่าวในระดับที่น้อยมาก

 

“เรากำลังมองหาโอกาสในตลาดเกิดใหม่ที่สินทรัพย์ภายใต้การบริหารกว่า 6.5 แสนล้านดอลลาร์จะเข้าลงทุน โดยในตลาดอาเซียน นี่แทบจะเป็นปีแรกในรอบหลายปีที่นักลงทุนให้น้ำหนักการลงทุนน้อยมาก จึงมองว่าอาเซียนเป็นตลาดที่น่าสนใจ”

 

จากมุมมองของเศรษฐกิจทั่วโลก สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ การฟื้นตัวมี 2 แบบ คือการฟื้นตัวภายใต้ข้อจำกัด และการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยจากการติดตามข้อมูลทางเศรษฐกิจพบว่า ภาคบริการมีข้อจำกัดการฟื้นตัวอย่างมาก ขณะที่ภาคการผลิตทั่วโลกกลับมาดีมาก จึงเป็นโอกาสในการมองหาตลาดที่ประสิทธิภาพเติบโตเหนือกว่าเศรษฐกิจโดยรวม

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

FYI
  • Earning Yield Gap (EYG) คือ ส่วนต่างระหว่าง Earning Yield ของตลาดหุ้น เทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว (Government Bond Yield) ซึ่งมักจะใช้พันธบัตรอายุ 10 ปี

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X