×

‘หุ้นไทย’ 1 เดือน ร่วง 5% หนักสุดในโลก กูรูชี้เป็นโอกาสทยอยสะสม

โดย THE STANDARD TEAM
20.10.2020
  • LOADING...
‘หุ้นไทย’ 1 เดือน ร่วง 5% หนักสุดในโลก กูรูชี้เป็นโอกาสทยอยสะสม

ดัชนี SET ร่วงกว่า 5% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา หนักสุดเทียบกับดัชนีหุ้นหลักทั่วโลก 44 ดัชนี ด้านนักวิเคราะห์มองเป็นโอกาสซื้อสะสมในกรอบ 1,150-1,200 จุด

 

ข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ investing.com ในวันที่ 20 ตุลาคม 2563 เทียบกับดัชนีหุ้นหลักๆ อีก 44 ดัชนี ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่าตลาดหุ้นไทย (SET) ปรับตัวลดลงมากที่สุดประมาณ -5.4% ในขณะที่ตลาดหุ้นใกล้เคียงกันอย่าง อินโดนีเซีย (IDX Composite) และ ฟิลิปปินส์ (PSEi Composite) เพิ่มขึ้น 1.7% และ 3.4% ตามลำดับ ส่วนตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน คือ เกาหลีใต้ (KOSPI) และ รัสเซีย (MOEX) ลดลง 1.3% และ 2.3% ตามลำดับ

 

สำหรับ 1 เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 2.49 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันที่ขายออก 1.37 หมื่นล้านบาท ขณะที่นักลงทุนรายย่อยและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ เป็นฝ่ายซื้อสุทธิ 3.54 หมื่นล้านบาท และ 3.29 พันล้านบาท

 

ส่วนการเคลื่อนไหวล่าสุดวันนี้ (20 ตุลาคม) ดัชนี SET ปิดที่ 1,210.67 จุด เพิ่มขึ้น 1.92% จากวันก่อนหน้า

 

สุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า นักลงทุนต่างชาติลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทยมาสักระยะหนึ่งแล้ว และเมื่อเผชิญกับปัจจัยการเมืองในประเทศ ทำให้หุ้นไทย Underperform เมื่อเทียบกับต่างประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม ภาพการลงทุนโดยรวมในเอเชียเป็นลักษณะของการ Wait and See โดยเฉพาะผลการเลือกตั้งสหรัฐ ซึ่งหาก โจ ไบเดน เป็นฝ่ายชนะ จะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นเอเชีย เนื่องจากนโยบายที่ต้องการหาพันธมิตรทางเศรษฐกิจมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องของวัคซีนที่น่าจะเป็นปัจจัยบวกในระยะถัดไป

 

“แรงกดดันจากปัจจัยการเมืองนั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นผลกระทบในเชิง Sentiment มากกว่าเชิง Fundamental นอกจากนี้ปัจจัยอื่นที่เข้ากดดันคือ การขายสุทธิของนักลงทุนสถาบันและต่างชาติ รวมถึงการกลับมาใช้เกณฑ์ Short Sell ปกติ ทำให้ยอด Short Sell เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา”

 

‘หุ้นไทย’ 1 เดือน ร่วง 5% หนักสุดในโลก กูรูชี้เป็นโอกาสทยอยสะสม

 

นักวิเคราะห์ชี้โซนเข้าลงทุน ระหว่าง 1,150-1,200 จุด

อาทิตย์ จันทร์สว่าง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี เปิดเผยว่า โดยภาพรวม Fund Flow ในกลุ่ม TIP คือ ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ยังคงเป็นภาพของการไหลออก แต่ในเอเชียบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน เริ่มเห็น Fund Flow ไหลกลับเข้าบ้างแล้ว หนุนให้ดัชนีของกลุ่มประเทศเหล่านี้สามารถกลับมายืนอยู่ได้ในระดับเดียวกันกับช่วงก่อนโควิด-19 แพร่ระบาด

 

ปัจจัยหลักที่หนุนให้ Fund Flow ไหลเข้าประเทศเหล่านั้นคือหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งเป็นไปตามกระแสการลงทุนของโลกในปัจจุบัน สำหรับตลาดหุ้นไทยมีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีอยู่บ้าง แต่เป็นลักษณะของการรับจ้างผลิต (OEM) และไม่มีแม้แต่บริษัทเดียวที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม

 

“จริงๆ แล้ว Fund Flow ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยนับแต่ปี 2556 รวมกว่า 9 แสนล้านบาท และจนถึงปีนี้ มีเพียงปี 2559 เพียงปีเดียวที่นักลงทุนต่างชาติเป็นฝ่ายซื้อสุทธิราว 7.7 หมื่นล้านบาท และในปีนี้จะเห็นว่าหุ้นในกลุ่ม SET50 ของไทย มีเพียงแค่ 3 บริษัทเท่านั้นที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก ขณะที่หุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กซึ่งมีสัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติน้อย ปรับตัวขึ้นได้ดีกว่าชัดเจน”

 

สำหรับหุ้นในกลุ่ม SET50 ทั้ง 3 บริษัท ที่ยังคงเป็นบวก ได้แก่ บมจ.คาราบาว กรุ๊ป (CBG) เพิ่มขึ้น 33.93%, บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) เพิ่มขึ้น 14.81% และ บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) เพิ่มขึ้น 8.64%

 

อย่างไรก็ตาม หากดัชนีลดลงต่อเนื่องเข้าสู่ระดับ 1,150-1,200 จุด เป็นระดับที่เหมาะสมต่อการทยอยเข้าซื้อ หลังจากที่เราประเมินไว้ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมว่าดัชนีจะถูกปัจจัยการเมืองกดดันให้ลดลงมาอยู่ในระดับนี้ ซึ่งเป็นระดับที่รับรู้ปัจจัยลบไปค่อนข้างมากแล้ว

 

“คงจะตอบได้ยากว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นจะจบเมื่อใด แต่หากดูจากสถิติในอดีต จะเห็นว่าดัชนีหุ้นไทยมัก Underperform หุ้นต่างประเทศราว 10-15% โดยใช้ระยะเวลาจนถึงจุดพีกประมาณ 4-5 เดือน ซึ่งปัจจุบันหุ้นไทย Underperform หุ้นต่างประเทศแล้ว 11% หลังจากที่ปัจจัยการเมืองเริ่มร้อนแรงตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จึงมองว่าด้วยระดับดัชนีที่ต่ำกว่า 1,200 จุด เป็นระดับที่ทยอยเข้าซื้อได้”

 

สำหรับปัจจัยหนุนในระยะถัดไปคือ การพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งน่าจะเริ่มรู้ผลการทดลองในเฟส 3 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะสร้างความหวังให้กับนักลงทุน และทำให้นักลงทุนกล้าเข้ามาซื้อหุ้นมากขึ้น และด้วยแนวโน้มที่เงินเฟ้อจะพลิกจากติดลบมาเป็นบวกเล็กน้อย ทำให้ธีมการลงทุนจะเปลี่ยนมาหาหุ้นใหญ่อย่าง กลุ่มปิโตรเคมีและน้ำมัน ขณะที่หุ้นกลุ่มท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัวได้ โดยมีกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจ ได้แก่ บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL), บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC), บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) และ บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL)

 

ทั้งนี้ เราประเมินดัชนีปลายปี 2563 ที่ระดับ 1,400 จุด โดยเชื่อว่าดัชนี SET ไม่น่าจะลดลงไปต่ำกว่า 1,150 จุด รวมถึงไม่น่าจะทำจุดต่ำสุดใหม่อย่างแน่นอน เพราะภาพในปัจจุบันเริ่มสะท้อนให้เห็นว่ากำไรต่อหุ้นของตลาดในปีหน้าจะฟื้นตัวได้ 

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising