×

เปิดสถิติหุ้นไทยหลังสงกรานต์ ปีนี้ส่อดิ่งหนักจากพิษโควิด-19 ระลอกใหม่

16.04.2021
  • LOADING...
เปิดสถิติหุ้นไทยหลังสงกรานต์ ปีนี้ส่อดิ่งหนักจากพิษโควิด-19 ระลอกใหม่

นับตั้งแต่ย่างก้าวเข้าสู่เดือนเมษายน ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET) ให้ผลตอบแทนกลับมาติดลบที่ -2.9% โดยดัชนีลดลงจากระดับ 1,587.21 จุด มาอยู่ที่ระดับ 1,541.12 จุด แต่หากย้อนดูช่วง 2 วันทำการแรกของเดือน ดัชนี SET วิ่งขึ้นไปแตะระดับ 1,600 จุด นับเป็นระดับเดียวกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อนที่จะย่อตัวลงแรงในช่วงก่อนหยุดยาวสงกรานต์ 

 

สำหรับสถิติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ดัชนี SET ให้ผลตอบแทนเป็นบวกในเดือนเมษายนได้ถึง 3 ปี ซึ่งเกิดขึ้นในช่วง 3 ปีหลังสุดนี้ แต่หากดูเฉพาะช่วงหลังสงกรานต์จนถึงสิ้นเดือนเมษายนพบว่า ดัชนี SET ให้ผลตอบแทนเป็นบวก 4 ปี จาก 5 ปีหลังสุด

 

สถิติของดัชนี SET เดือนเมษายน 

 

ปี 2559 SET -0.22%

ปี 2560 SET -0.56%

ปี 2561 SET +0.22%

ปี 2562 SET +2.13%

ปี 2563 SET +15.61%

 

สถิติของดัชนี SET หลังสงกรานต์จนถึงสิ้นเดือนเมษายน

 

ปี 2559 SET +1.39%

ปี 2560 SET -1.46%

ปี 2561 SET +0.73%

ปี 2562 SET +0.79%

ปี 2563 SET +3.61%

 

อาทิตย์ จันทร์สว่าง นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี เปิดเผยว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดัชนี SET มักจะให้ผลตอบแทนเป็นบวกสำหรับเดือนเมษายน แต่เมื่อเข้าสู่เดือนพฤษภาคมแล้วกลับให้ผลตอบแทนติดลบเป็นส่วนใหญ่ 

 

แม้ว่าช่วงเดือนเมษายนจะเป็นช่วงที่หุ้นไทยขึ้นเครื่องหมาย XD โดยจะเริ่มจากหุ้นกลุ่มธนาคาร ซึ่งในปีนี้จะเริ่มเห็นตั้งแต่วันที่ 20 เมษายนเป็นต้นไป ในเบื้องต้นประเมินว่า อาจจะกระทบต่อดัชนี SET ราว 5-6 จุด ซึ่งไม่ได้มีนัยสำคัญมากนัก 

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ช่วงหลังสงกรานต์ของปีนี้อาจจะแตกต่างออกไป เนื่องจากประเด็นเรื่องโควิด-19 ซึ่งล่าสุดกลับมาระบาดอีกครั้ง และการที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ต่อวันเพิ่มขึ้นจากราว 500 คนต่อวัน ไปเป็นกว่า 1,000 คนต่อวัน อาจทำให้ตลาดเกิดการขายอย่างตื่นตระหนก (Panic Sell) ออกมาได้ จากความเสี่ยงทั้งในส่วนของจำนวนเตียงที่อาจไม่พอรองรับผู้ป่วย และการที่รัฐบาลอาจประกาศล็อกดาวน์ตามมาอีกครั้ง 

 

“เรื่องของจำนวนเตียงและความเสี่ยงในการล็อกดาวน์ยังเป็น 2 ประเด็นสำคัญที่กดดันตลาดอยู่ อย่างไรก็ตาม หากดัชนี SET ลดลงต่ำกว่า 1,550 จุด มองว่าเป็นจุดที่ทยอยซื้อได้” 

 

สำหรับหุ้นกลุ่มที่น่าสนใจคือ กลุ่มน้ำมัน โรงกลั่น และปิโตรเคมี ซึ่งผลประกอบการไตรมาสแรกน่าจะออกมาดี เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มธนาคารที่ผลประกอบการจะค่อยๆ ดีขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน และยังมีแรงหนุนจากการปรับเกณฑ์คำนวณดัชนีใหม่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ 

 

ด้าน ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า หลังจากผ่านช่วงวันหยุดยาว นักลงทุนคงกลับมาลงทุนอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หากยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีเพียงพอ อาจเห็นภาพรวมตลาดซึมลง และการฟื้นตัวอาจเป็นเพียงบางกลุ่มที่มีปัจจัยหนุน

 

ทั้งนี้ มองว่าหุ้นที่น่าจะโดดเด่นที่สุดคือกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี จากผลประกอบการไตรมาสแรกที่น่าจะโดดเด่นอย่างมาก หนุนจากกำไรพิเศษในส่วนของสต๊อกน้ำมันและความต้องการที่ฟื้นตัว 

 

ถัดมาคือกลุ่มโรงพยาบาล หลังจากที่ภาครัฐมีแนวโน้มจะให้เอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนได้เอง ทำให้หุ้นในกลุ่มนี้กลับมามีสีสันอีกครั้ง เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มที่ขนส่งวัคซีนที่น่าจะกลับมาคึกคักเช่นกัน 

 

ด้าน บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ระบุว่า ท่ามกลางความผันผวนที่เกิดจากแรงขายหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศ หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เรามองว่าไม่น่าจะมีหุ้นกลุ่มใดที่ดีดสวนตลาดขึ้นได้แรง แต่อาจมีบางกลุ่มที่ปรับลงน้อยหรือยืนอยู่ได้ ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มที่ยังมีปัจจัยชี้นำจากต่างประเทศ อย่างเช่น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เดินเรือ ปิโตรเคมี ถุงมือยาง ขณะที่กลุ่มพลังงานอาจต้องรอราคาน้ำมันดีดตัวขึ้นไปมากกว่านี้ 

 

ทั้งนี้ แรงขายที่เกิดขึ้นก่อนวันหยุดยาวเป็นการคาดหวังสถานการณ์การแพร่ระบาดหลังสงกรานต์ที่ต่างมองว่า จะทวีความรุนแรงขึ้นจนนำไปสู่การชะลอตัวของการบริโภคในประเทศ และการหดตัวเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 นี้ ส่วนในแง่การลดลงของดัชนี SET ส่วนหนึ่งค่อยๆ รับข่าวแต่ยังไม่หมด โดยประเด็นที่จะทำให้ดัชนีเกิดการรีบาวน์กลับยังไม่มี จึงอาจเห็นดัชนีลดลงไปต่อได้ ก่อนที่จะเริ่มเห็นการประกาศงบของกลุ่มธนาคาร

 

โดยภาพรวมประเมินว่า ควรจะรอให้ดัชนีปรับลดลงมารับข่าวลบที่เกิดขึ้นมากกว่านี้ และรอให้สถานการณ์การแพร่ระบาดคลายตัวลง ซึ่งยังต้องใช้เวลา อย่างไรก็ดี มองว่าการปรับตัวลงของดัชนีไม่น่าจะหลุด 1,500 จุด 

 

ในเชิงกลยุทธ์ ควรรอให้ดัชนีลดลงมาที่กรอบต่ำกว่า 1,550 จุด จึงทยอยซื้อคืนได้ ซึ่งน่าจะเริ่มเห็นช่วงสัปดาห์หน้าไปจนถึงปลายเดือนนี้ สำหรับหุ้นกลุ่มที่คาดว่าจะโดดเด่นคือกลุ่มโรงพยาบาล จากความต้องการใช้บริการตรวจโควิด-19 และดัชนีกลุ่มที่ยังขึ้นน้อยเทียบ SET รวมถึงกลุ่มอาหารและกลุ่มปิโตรเคมี

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising