ตลาดหุ้นไทยยังไม่ฟื้น หลังจากที่ดัชนี SET ไหลลงอย่างต่อเนื่องในช่วงเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา ลดลงไปกว่า 170 จุด ทำจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปีที่ระดับ 1,387.6 จุด หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 จะเห็นว่ามูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ของหุ้นไทยลดลงไปมากถึง 3.4 ล้านล้านบาท มาเหลือ 17.1 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ดัชนี SET เป็นดัชนีหุ้นหลักที่อ่อนแอมากที่สุดในโลก ติดลบไป 16.5% มากกว่าอันดับ 2 อย่างดัชนี Hang Seng ที่ติดลบไป 14.1% จากการจัดอันดับของเว็บไซต์ investing.com
ทั้งนี้ หากดัชนี SET ยังคงร่วงลงต่อเนื่องจนต่ำกว่าระดับ 1,360 จุด จะทำให้หุ้นไทยจะเข้าสู่ ‘ตลาดหมี’ (Bear Market) ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ดัชนีลดลงมากกว่า 20% จากจุดสูงสุดที่เกิดขึ้นล่าสุด หรือที่ราว 1,700 จุด
ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า หากดัชนี SET ร่วงลงไปถึง 1,360 จุด เชื่อว่ามีโอกาสที่ตลาดจะฟื้นตัวกลับ แต่จะเป็นการฟื้นเพื่อลงต่อ
“ตอนนี้เป็นช่วงที่ต้องระมัดระวังกับการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะหุ้นสหรัฐฯ ที่มี Downside สูงกว่า 20% การฟื้นตัวของหุ้นจะไม่เหมือนกับ 12-13 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเคยเป็นช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำทั่วโลก ตอนนี้เงินไม่ได้ไหลกลับมาที่ตลาดหุ้นทั้งจำนวนอีกแล้ว”
ก่อนหน้านี้ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวได้แรงหลังจากโควิด เพราะธนาคารกลางทั่วโลกอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ แต่รอบนี้ธนาคารกลางแต่ละประเทศไม่ได้ไยดีกับตลาด และยังมุ่งใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดต่อไป ทำให้ไม่มีเงินใหม่เข้ามาในตลาดหุ้น
นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในปีหน้า ทำให้หุ้นสหรัฐฯ มีโอกาสจะปรับฐานได้มากกว่า 20% และจะกดดันตลาดหุ้นทั่วโลก
ภาดลมองว่า GDP สหรัฐฯ น่าจะผ่านจุดพีคในไตรมาส 3 ซึ่งน่าจะขยายตัวได้ 4-5% จากไตรมาสก่อน แต่มีความเสี่ยงสูงที่ไตรมาส 4 จะหดตัวจากนี้ และช่วงไตรมาสแรกของปีหน้าก็มีความเสี่ยงที่จะหดตัวเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกัน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เกิด Technical Recession
อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอย่างมากในสหรัฐฯ ทำให้การบริโภคจะได้รับผลกระทบ ปัจจุบันยอดหนี้บัตรเครดิตของสหรัฐฯ แตะ 1 ล้านล้านดอลลาร์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากราว 15% มาเป็น 22% ทำให้การบริโภคใกล้จะหดตัว ขณะที่ตัวเลขการผลิตและภาคอสังหาริมทรัพย์อ่อนแออยู่ก่อนแล้ว
ลดสัดส่วนหุ้นเหลือไม่เกิน 50%
ภาดลแนะนำว่า ขณะนี้นักลงทุนควรมีสัดส่วนหุ้นไม่เกิน 40-50% อีกราว 40% ควรพักไว้ในพันธบัตรระยะสั้น และอีก 10% ลงในทองคำ จนกว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเริ่มส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ย ค่อยโยกเงินลงทุนมาที่พันธบัตรระยะยาว
“หุ้นจะน่าสนใจก็ต่อเมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลงมาสักระยะหนึ่ง”
ส่วนหุ้นที่ยังสามารถถือติดพอร์ตได้จะเป็นกลุ่ม Defensive ได้แก่
- กลุ่มสื่อสาร ด้วยรายได้ที่ค่อนข้างแน่นอนและการแข่งขันราคาลดลง
- กลุ่มโรงพยาบาล เป็นกลุ่มที่นักลงทุนมักจะมองหาในภาวะ Recession
- กลุ่มโรงไฟฟ้า หลังจากราคาลดลงมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจ
หุ้นอินเดีย เวียดนาม และจีน อาจเป็นทางรอด
จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุนสายงานวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ความน่าจะเป็นที่หุ้นไทยจะเข้าสู่ตลาดหมีน่าจะมีประมาณ 30-40% กดดันจากการที่รายได้ของบริษัทจดทะเบียนไทยที่ยังไม่มีแนวโน้มจะฟื้นตัว ทำให้ตลาดมีความเสี่ยงจะไหลลงได้ต่อเนื่อง
หากจะเห็นหุ้นไทยฟื้นได้เร็วอาจจะต้องเห็นเงินดอลลาร์อ่อนค่า ทำให้กระแสเงินลงทุนไหลกลับเข้าตลาดหุ้น อีกปัจจัยหนึ่งคือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยที่จะช่วยดึงความเชื่อมั่นนักลงทุน
จิติพลมองว่า หากมองภาพรวมตลาดหุ้นโลก อินเดีย เวียดนาม และจีน เป็นตลาดที่ยังพอมีแนวโน้มการเติบโตให้เห็นอยู่ และน่าจะเป็นตลาดที่ฟื้นตัวได้เร็วกว่าเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ
“ตอนนี้ความเสี่ยงจะเกิด Recession สูงขึ้นมากในปีหน้า หากไม่เห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป แต่ปีหน้าสหรัฐฯ จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี อาจจะเข้ามาเป็นปัจจัยบวกได้บ้าง”