×

‘หุ้นไทย’ ส่อรีบาวด์แค่ช่วงสั้น หลัง กนง. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด แต่ความเสี่ยงเงินเฟ้อยังไม่หมดไป

10.08.2022
  • LOADING...
หุ้นไทย

เมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (10 สิงหาคม) คณะกรรมการนโยบายการเงิน ( กนง. ) มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.75% ถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 3 ปี 8 เดือนของประเทศไทย 

 

การปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็นระดับเดียวกับที่ตลาดคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้ ในขณะที่ดัชนีหุ้นไทยเริ่มรีบาวด์กลับขึ้นมาในช่วงบ่ายจากช่วงเช้าที่ติดลบราว 10 จุด มาปิดตลาดที่ระดับ 1,617 จุด ลดลง 1.59 จุด หรือ 0.10% ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวมกว่า 67,116 ล้านบาท 

 

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า การขึ้นดอกเบี้ยตามคาดที่ระดับ 0.25% ถือเป็นปัจจัยบวกในระยะสั้น จากมุมมองที่ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงใช้นโยบายที่ไม่ได้เข้มงวดมากนัก แต่หลังจากผ่านไปสักระยะหนึ่ง เชื่อว่าตลาดจะเริ่มรับรู้ 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 

 

  1. เงินเฟ้อที่น่าจะยังอยู่ในระดับสูง เพราะการขึ้นดอกเบี้ย 0.25% อาจจะสกัดเงินเฟ้อลงมาได้ยาก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) มีแนวโน้มจะอยู่ในระดับสูงต่อไป ทำให้แนวโน้มของตลาดในระยะถัดไปอาจจะไม่ดีนัก 

 

  1. ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯ จะยังคงกว้างขึ้น ในส่วนนี้จะเห็นว่าค่าเงินบาทอ่อนค่าทันทีหลังประกาศดอกเบี้ยช่วงบ่าย และการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในอัตราที่มากกว่าจะทำให้ค่าเงินและกระแสเงินลงทุน (Fund Flow) จะเป็นปัจจัยกดดันตลาดในระยะถัดไป 

 

“โดยสรุปแล้วการขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ครั้งนี้ น่าจะเป็นบวกในระยะสั้น แต่ระยะกลางถึงยาวไม่ดีนัก” 

 

สำหรับผลกระทบต่อหุ้นในแต่ละกลุ่ม มองว่าไม่ได้มากนัก เพราะดอกเบี้ยปรับขึ้นตามคาด สำหรับกลุ่มไฟแนนซ์ที่ถูกกดดันก่อนหน้านี้ อาจจะเริ่มคลายความกังวล เพราะดอกเบี้ยที่ขึ้นระดับนี้ไม่ได้ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงนัก ขณะที่กลุ่มธนาคารที่ถูกเก็งกำไรก็น่าจะเป็นเพียงระยะสั้น 

 

ส่วนค่าเงินบาทที่เริ่มแข็งค่ากลับมา อาจจะเห็นการกลับมาอ่อนค่าไปที่ 36 บาทต่อดอลลาร์อีกครั้ง ทำให้ต้นทุนการนำเข้าจะยังคงสูงและกดดันต่อเงินเฟ้อ 

 

ในเชิงกลยุทธ์การลงทุน มองว่า SET ยังมีแนวต้านสำคัญบริเวณ 1,630 จุด และเป็นลักษณะของการสลับกลุ่มเล่น ส่วน Fund Flow ที่ไหลเข้ามาตามโมเมนตัมของเงินบาท วันนี้อาจเป็นการนับหนึ่งสำหรับการวกกลับ 

 

“ต้องจับตาดูว่าเงินทุนที่ไหลเข้ามาเปิดสถานะ Long ใน Futures ก่อนหน้านี้ จะเริ่มมีการปิดสถานะไปบ้างหรือไม่ ซึ่งเงินทุนที่ไหลเข้าช่วงนี้เป็นลักษณะของ Hot Money สะท้อนจากเงินทุนที่ไหลเข้าพันธบัตรระยะสั้นเกือบ 1 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา” 

 

ด้าน สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า ในระยะสั้นอาจเห็นแรงขายออกมาในหุ้นกลุ่มธนาคาร เนื่องจากการส่งผ่านดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอาจจะทำไม่ได้ทั้งหมด ในช่วง 1 สัปดาห์หลังจากนี้คงต้องติดตามว่าแต่ละธนาคารจะตอบสนองต่อประเด็นนี้อย่างไร 

 

ทั้งนี้ เราประเมินแนวโน้มแบ่งออกเป็น 3 ความเป็นไปได้ คือ 

 

  1. แบงก์ปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม 0.25% 
  2. แบงก์ปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม 0.125% 
  3. แบงก์ไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเลย 

 

“เราให้น้ำหนักกับความเป็นไปได้ที่ 2 และ 3 โดยให้น้ำหนักกับสถานการณ์ที่ 3 มากที่สุด โดยคาดว่าแบงก์อาจจะรอดูไปอีก 4 เดือน ไปจนถึงเดือนมกราคมปีหน้า ทำให้หุ้นแบงก์ในระยะสั้นจะ Underperform ตลาด แต่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์อาจจะได้ประโยชน์ทางอ้อม” 

 

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาดูคือ ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ หากออกมาต่ำกว่า 8.5% จะทำให้หุ้นทั้งโลกวิ่งกลับ โดยเฉพาะกลุ่มเติบโตสูง สำหรับหุ้นไทยในระยะสั้นแนะนำหลีกเลี่ยงกลุ่มธนาคารและไฟแนนซ์ที่หนี้เสียอาจจะเพิ่มขึ้นจากความเสี่ยงเศรษฐกิจ ส่วนกลุ่มเปิดเมืองน่าจะโดดเด่นขึ้นมามากที่สุด 

 

ในมุมของ เบญจพล สุทธิ์วนิช หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ บล.เอเชีย เวลท์ มองว่า หลังการขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. อาจเห็น Sell on Fact ในกลุ่มแบงก์ ส่วนภาพรวมตลาดในระยะถัดไปมองว่ายังมีความเสี่ยงในเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย และความเสี่ยงใหม่เรื่องความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวัน 

 

“กลยุทธ์การลงทุนช่วงเดือนสิงหาคม เราปรับเพิ่มน้ำหนักพอร์ตหุ้นขึ้นจาก 50% เป็น 60% โดยเน้นไปที่ 3 กลุ่มหุ้น คือกลุ่มโรงไฟฟ้า โรงพยาบาล และกลุ่ม Anti-Commodities ซึ่งกลุ่มเหล่านี้สามารถที่จะถือในระยะกลางข้ามไปจนถึงปีหน้าได้ หากความเสี่ยงต่างๆ ยังไม่เปลี่ยนไปนัก” 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising