ตลอดเดือนเมษายนที่ผ่านมา ภาวะการลงทุนโดยรวมไม่ว่าจะเป็นตลาดทุน หรือตลาดเงินต่างก็ได้รับผลกระทบในเชิงลบทั้งสิ้น เหตุผลหลักก็มาจากการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทุกประเทศทั่วโลก ในวันที่ 2 เมษายน โดยไทยถูกเรียกเก็บสูงถึง 36% แต่ความโกลาหลครั้งใหญ่ก็เกิดตามมาคือการตอบโต้กลับจากจีน กลายเป็นสงครามการค้าครั้งใหม่
ภาวะการลงทุนต้องเผชิญกับความผันผวนต่อการประกาศสงครามการค้าของสหรัฐฯ และการตอบโต้ที่รุนแรงของจีนต่อสหรัฐ ส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงเช่น หุ้น เพื่อลดความเสี่ยง (Sell-off & Risk-Off) อย่างไรก็ตาม หลังจากตลาดหุ้นโลกปรับตัวลงอย่างรุนแรง ก็กลับฟื้นตัวขึ้น ขานรับ ต่อการประกาศของ ประธานาธิบดี “ทรัมป์” ในการสั่งประกาศเลื่อนเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กับประเทศต่างๆ เป็นเวลา 90 วัน ยกเว้นจีน ทำให้ตลาดหุ้นไทย และตลาดภูมิภาคเกิด Relief Rally
อย่างไรก็ตาม การตอบโต้ระหว่าง สหรัฐ และ จีน ยังคงดำเนินต่อไปอย่างรุนแรง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ยังคงประกาศเพิ่มการเรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจากจีน สู่ระดับ 125% และ 145% ท่ามกลางการตอบโต้กลับที่แข็งแกร่งจากจีน และความตึงเครียดต่อสงครามการค้าได้มีสัญญาณอ่อนลงอีกครั้ง หลังจากที่สหรัฐได้ประกาศยกเว้นภาษีตอบโต้สำหรับสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และชิ้นส่วนอื่นๆ เซมิคอนดักเตอร์ เป็นการชั่วคราว และ รัฐมนตรีคลังสหรัฐและประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ส่งสัญญาณอาจลดอัตราเรียกเก็บภาษีจากจีนลงในระยะถัดไป แต่จะไม่เป็น 0% ทำให้บรรยากาศดีขึ้น โดยตลาดคาดหวังว่าจะสามารถเจรจากันได้ในที่สุด
ส่วนน้ำมันซึ่งชะลอตัวลงจากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มถดถอย ก็ยังถูกกดดันเพิ่มจากการเพิ่มกำลังการผลิตจากกลุ่ม OPEC+ ฉุดราคาน้ำมันตลาดโลกร่วง ท้ายสุดคือ ทอง ซึ่งได้ปรับขึ้นไปเกือบถึงระดับ 3,500 เหรียญต่อออนซ์ สะท้อนความกังวลต่อการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก
สำหรับในประเทศไทย ก็ต้องบอกตรงว่าภาพเศรษฐกิจในประเทศอ่อนแอลงเป็นอย่างมาก ตัวช่วยคือการท่องเที่ยวก็ดูท่าทางจะไม่ค่อยดีเพราะนักท่องเที่ยวลดลงไปมาก ข่าวลบอีกข่าว คือ Moody ปรับลดแนวโน้ม Credit Rating ประเทศไทยเป็น “เชิงลบ” จากเดิม “มีเสถียรภาพ” แต่ยังให้อันดับความน่าเชื่อถือไทยที่ Baa1 เหมือนเดิม ส่วนปัจจัยบวกในประเทศไทย มาจากตัวเลขการส่งออกเดือน มี.ค. ที่ยังคงเติบโต +17.8% ซึ่งสูงสุดในรอบ 36 เดือน และ ปัจจัยบวกในวันสุดท้ายของเดือน จาก การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ออกมาลดดอกเบี้ยลง 0.25% เหลือ 1.75% ตามคาด ทำให้บรรยากาศการลงทุนฟื้นตัวขึ้น
สำหรับแนวโน้มเดือน พฤษภาคม ก็ต้องบอกว่าพอจะมีข่าวดีอยู่บ้าง คือ การจัดตั้งกองทุน Thai ESGX จำนวน 37 กองทุน จาก 19 บลจ. ดีเดย์เสนอขายพร้อมกันเมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา วงเงินลดหย่อนภาษีสูงสุด 5 แสนบาท และ วันที่ 13 พฤษภาคม การเปิดให้โอน LTF เพื่อดึงเม็ดเงินใหม่ 1.5-2 หมื่นล้านบาท – LTF กว่า 1.5 แสนล้านบาท ตามที่สมาคมบลจ.คาดว่าจะมีรีเทิร์นไม่ต่ำกว่า 10% ท้ายสุดคือ ความชัดเจนจากการออก พรบ.เงินกู้เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท เพื่อพยุงเศรษฐกิจ มองยังเป็นปัจจัยบวกกับตลาดหุ้นไทย
พอร์ตการลงทุนเดือน พฤษภาคม หุ้นไทย SET Index อยู่ในระดับที่ต่ำมากยังมองเป็นระดับที่น่าสนใจ พอร์ตการลงทุน ยังคงหุ้นไว้ที่ 50% เป็นสหรัฐฯ 15% ส่วน ยุโรป และญี่ปุ่น รวมกัน 10% เวียดนาม อินเดีย ไทย รวมกันไม่เกิน 20% และจีน 5% ตราสารหนี้และตลาดเงิน 40% แบ่งเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 15% ตราสารหนี้ระยะกลางของเอกชนที่อยู่ในระดับ Investment Grade 15% และตลาดเงิน 10% ที่เหลือลงทุนในทอง น้ำมัน และรีทส์ รวมกันเป็น 10%
ภาพ: OMG_Studio / Shutterstock