ความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทยเช้านี้ (13 มิถุนายน) ดัชนี SET เปิดการซื้อขายที่ 1,611.84 จุด ลดลง 20.78 จุด หรือ -1.3% ตามทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่สำคัญทั้ง 3 ตลาด ได้แก่ Dow Jones, S&P 500 และ Nasdaq ดิ่งลง 2.7%, 2.9% และ 3.5% ตามลำดับ ขณะที่ตลาดหุ้นสำคัญๆ ในเอเชียเช้านี้ต่างปรับตัวลงประมาณ 1-2% โดยเฉลี่ย
การดิ่งลงของตลาดหุ้นไทยวันนี้เป็นจุดต่ำสุดในรอบกว่า 3 สัปดาห์ โดยปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งลง เป็นผลจากตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคมพุ่งแตะระดับ 8.6% สูงสุดในรอบ 40 ปี ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ลดลงจาก 6.2% เป็น 6% ยังมากกว่าที่ตลาดคาดกันไว้ที่ 5.9%
ด้วยเงินเฟ้อที่ยืนอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องทำให้นักลงทุนทั่วโลกเริ่มกลับมากังวลต่อภาวะ Stagflation ซึ่งเป็นภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตต่ำหรือติดลบ ในขณะที่ภาวะเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง สถานการณ์นี้เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2516-2526 โดยมีจุดเริ่มต้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า ปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกมีหลายปัจจัยที่คล้ายกับปี 2516-2526 ได้แก่
- ราคาอาหารและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง
- อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง สะท้อนจากการปรับประมาณการ GDP โลกลงจากหลายหน่วยงาน
- ความอ่อนแอของเสถียรภาพทางการเงินของประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนา โดยเฉพาะภาระหนี้สินที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศต่อ GDP ที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่ค่าเงินของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบตึงตัวของประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่
อย่างไรก็ดีเราประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันจะไม่รุนแรงเหมือนปี 2516-2526 เนื่องจาก
- ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญต่อเสถียรภาพทางการเงินมากขึ้น และเปลี่ยนมุมมองต่อภาวะที่เงินเฟ้อสูงจะทำให้มีการจ้างงานมากขึ้น โดยหันมากำหนดอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายแทนที่จะผูกอัตราเงินเฟ้อเข้ากับอัตราการว่างงาน
- อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันยังคงกระจุกตัวในราคาอาหารและพลังงานเป็นหลัก ขณะที่ในปี 2516-2526 อัตราเงินเฟ้อมีการกระจายไปในหลายกลุ่มสินค้าและบริการ
- เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นทำให้สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตในสินค้าบางชนิดมาชดเชยการขาดแคลนได้ง่ายกว่าในอดีต
จากปัจจัยข้างต้น บล.หยวนต้า ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นบวกต่อกลุ่มประกันและธนาคาร ขณะที่แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อ โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรเป็นบวกต่อพลังงานต้นน้ำและผู้ผลิตอาหาร เช่นเดียวกับค่าแรงขั้นต่ำมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นเป็นลบต่ออุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ขณะที่ทองคำเริ่มมีความน่าสนใจในการเข้าสะสมมากขึ้น
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP