ตลาดหุ้นไทยช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาค่อนข้างซบเซาลงอย่างมาก โดยเฉพาะช่วง 7 วันทำการแรกของเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 3.78 หมื่นล้านบาท ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของ 6 เดือนก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ หากมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยของหุ้นไทยในเดือนนี้ยังคงอยู่ในระดับนี้ จะเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 8 ปี นับแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2558 ซึ่งมีมูลค่าเฉลี่ย 3.62 หมื่นล้านบาทต่อวัน
สำหรับ 6 เดือนแรกของปี 2566 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยของหุ้นไทยอยู่ระหว่าง 4.59-6.81 หมื่นล้านบาท โดยเดือนเมษายนเป็นเดือนที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่ำสุด ส่วนเดือนมกราคมเป็นเดือนที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยสูงที่สุด
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า มูลค่าการซื้อขายที่ลดลงของหุ้นไทยสะท้อนถึงการหายไปของนักลงทุนรายย่อย เนื่องจากการเก็งกำไรที่ทำได้ยากขึ้น ขณะที่สัดส่วนของการซื้อขายด้วยระบบซื้อขายอัตโนมัติปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาเป็นเกือบ 40% ส่งผลให้ความผันผวน ทั้งกรอบการแกว่งตัวของดัชนีและหุ้นรายตัวแคบลง
“ต้องยอมรับว่ารายย่อยของไทยในอดีตเป็นนักเก็งกำไร แต่ภาวะปัจจุบันทำให้การเก็งกำไรยากขึ้น ขณะเดียวกันสภาพคล่องที่ลดลงสะท้อนจากปริมาณเงิน M2 ที่ขยายตัวไม่ถึง 2% ต่ำสุดในรอบ 20 ปี บ่งชี้ว่าเงินไม่สะพัดในระบบเศรษฐกิจจริง ทำให้เงินในตลาดหุ้นหายไปเช่นกัน”
สำหรับปัจจัยเรื่องโครงสร้างตลาดที่กลุ่มของ Algo Trading เข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น ขึ้นอยู่กับผู้กำหนดนโยบายอย่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าจะดำเนินการอย่างไร ส่วนปัญหาเรื่องสภาพคล่องที่ลดลงน่าจะเริ่มดีขึ้นได้หากเริ่มเห็นการกลับทิศของนโยบายการเงินของไทยมาเป็นการลดดอกเบี้ย
“หลังจากที่ตลาดหุ้นไทยเอื้อให้ Algo Trading เข้ามามากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมดัชนี SET ถึงแกว่งออกข้างมา 3-4 ปี ด้วยต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้การซื้อแบบ Algo Trading หรือ Robot ต่างๆ ทำกำไรได้ด้วยการขยับเพียง 1 ช่องราคา”
สำหรับนักลงทุนรายย่อยหากจำเป็นต้องอยู่กับหุ้นไทยต่อไปคงต้องเปลี่ยนพฤติกรรมไปถือหุ้นระยะกลางถึงยาวมากขึ้น เพราะการสู้กับ Robot ด้วยต้นทุนที่สูงกว่าจะเสียเปรียบ
“หากยังต้องอยู่กับตลาดหุ้นไทยก็คงทำได้แค่เปลี่ยนพฤติกรรม ตอนนี้อาจต้องลดหุ้นเก็งกำไร และหันไปหาหุ้นพื้นฐาน รวมทั้งลดรอบของการซื้อขายลง ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนด้วย แต่หากเป็นนักลงทุนที่ต้องใช้วิธีการเก็งกำไรจริงๆ คงต้องย้ายไปยังตลาดที่ผันผวนสูงกว่า ปัจจุบันจะเห็นว่ามี 3 ประเทศที่ผันผวนสูงและเหมาะกับการเก็งกำไรมากกว่าคือหุ้นเทคสหรัฐฯ หุ้นเวียดนาม และหุ้นเทคจีน”
อย่างไรก็ดี ณัฐชาตมองว่าช่วงไตรมาส 4 น่าจะเริ่มเห็นการซื้อขายที่ฟื้นตัวได้บ้าง หลังจากที่ข่าวร้ายต่างๆ เริ่มหมดไป และเริ่มเห็นความชัดเจนของการจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยของทั้งสหรัฐฯ และไทย ทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนเริ่มกลับมาและการยอมรับความเสี่ยงที่มากขึ้น แต่สำหรับไตรมาส 3 น่าจะยังซบเซาต่อไป
ด้าน สมชาย กาญจนเพชรรัตน์ กรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจหลักทรัพย์รายย่อย บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการซื้อขายด้วย Robot ในบางวันเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 40% ของมูลค่าการซื้อขาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายโดยนักลงทุนต่างชาติ
ในสภาวะปัจจุบันการซื้อขายของกลุ่ม Robot ยังช่วยให้ตลาดพอจะมีสภาพคล่องอยู่บ้าง แต่ข้อเสียคือในกลุ่มเก็งกำไร ผู้ที่ใช้ Robot จะได้เปรียบกว่าในเรื่องความเร็ว
สำหรับนักลงทุนรายย่อย ปัจจุบันต้องยอมรับว่าเก็งกำไรได้ลำบากมากขึ้นท่ามกลางตลาดหุ้นขาลงและมูลค่าการซื้อขายโดยรวมที่น้อยลง นอกจากนี้อาจจะเสียเปรียบในแง่ของการขายชอร์ตที่ยากกว่า โดยเฉพาะผู้ที่มีเงินทุนน้อย ทำให้เสียเปรียบรายใหญ่หรือสถาบัน
“วิธีการในตอนนี้คือควรขายหุ้นที่ไม่ดีทิ้งไปก่อน และหันไปหาหุ้นพื้นฐานดี ซึ่งราคาต่ำกว่ามูลค่า”
ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่จะช่วยให้การซื้อขายในหุ้นไทยกลับมาคึกคักอีกครั้งคือเรื่องการเมืองที่ได้บทสรุป เพราะช่วงที่ผ่านมาปัจจัยการเมืองส่งผลให้เงินทุนไหลออก