×

‘การบริหารจัดการ’ บทเรียนสำคัญของวงการกีฬาไทยในปี 2023

28.11.2023
  • LOADING...
วงการกีฬาไทย

‘เกมอุ่นเครื่องระหว่างท็อตแนม ฮอตสเปอร์ กับเลสเตอร์ ซิตี้ ถูกยกเลิกการแข่งขัน’  

 

‘ต้านไม่ไหว! ทีมชาติไทยอุ่นเครื่องพ่ายจอร์เจียขาดลอย 0-8’

 

‘ระทึก! หลังคาอินดอร์สเตเดียม กกท. หัวหมาก ถล่ม ก่อนเปิดแข่งขันบาสเกตบอลคนพิการ ไร้คนเจ็บ’

 

‘พล.ต.อ. สันต์ ศรุตานนท์ ลาออกนายกสมาคมกรีฑาฯ รับผิดชอบเอเชียนเกมส์’ 

 

เป็นข่าวใหญ่ที่เกิดขึ้นในปี 2023 ของวงการกีฬาไทย และอีกหลายเหตุการณ์ที่มีความเชื่อมโยงกันเพียงหนึ่งเดียวคือ เรื่องของการบริหารจัดการของวงการกีฬาไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งผลงานของนักกีฬาในสนามไปจนถึงผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศในแง่ของการเป็นเจ้าภาพจัดอีเวนต์ระดับโลก 

 

โดยบทเรียนที่เกิดขึ้นในปีนี้มีอะไรบ้าง เราไปย้อนรอยกัน 

 

สนามกีฬาหลักของประเทศระบายน้ำฝนไม่ทัน จนแมตช์อุ่นเครื่องต้องยกเลิก 

 

 

เริ่มต้นจากเกมอุ่นเครื่องระหว่างท็อตแนม ฮอตสเปอร์ กับเลสเตอร์ ซิตี้ ถูกยกเลิกการแข่งขัน วันนั้นตัวผมเองก็อยู่ในสนาม 

 

สิ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดคือ ความจริงจังของทั้งสองสโมสรในการเตรียมพร้อมก่อนเปิดฤดูกาลฟุตบอลยุโรป 2023/24 โดยเฉพาะฝั่งของท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ภายใต้การคุมทีมของกุนซือป้ายแดง อังเก ปอสเตโคกลู ที่พาลูกทีมลงซ้อมอย่างหนักท่ามกลางสายฝนตั้งแต่ 1 วันก่อนแข่ง 

 

พอมาถึงวันแข่ง หลายฝ่ายยังคงกังวลกับฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง จนสุดท้ายก็เกิดสิ่งที่ไม่เคยเกิดมาก่อนในอาชีพนักข่าวกีฬาของผม คือการได้เห็นแมตช์ใหญ่ระดับโลกที่มาอุ่นเครื่องที่ไทยต้องเลื่อนเวลาออกสตาร์ทการแข่งขัน

 

 

ภายในสนามเต็มไปด้วยความกังวลและความวุ่นวาย เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการแข่งขันและโค้ชของทั้งสองสโมสรเดินออกมาโยนลูกฟุตบอลลงน้ำ เพื่อทดสอบสภาพสนามว่าพร้อมสำหรับการแข่งขันหรือไม่ 

 

จนสุดท้ายเมื่อเวลาราว 17.45 น. เพจอย่างเป็นทางการของท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ได้ออกมายืนยันการยกเลิกเกมอุ่นเครื่องกับเลสเตอร์ ซิตี้ แมตช์นี้เรียบร้อยแล้ว และนักเตะทั้งสองทีมก็ได้เดินออกมาขอบคุณแฟนบอลที่เข้ามาให้กำลังใจในสนาม แม้ว่าพวกเขาจะไม่สามารถลงแข่งขันได้ในวันนั้น 

 

หลังจากที่นักเตะทยอยเดินทางออกจากกรุงเทพมหานคร นักข่าวกีฬาไทยหลายคนก็เดินทางตามต่อไปยังสิงคโปร์ที่จัด Festival of Football โดยนำเอาสโมสรชั้นนำของโลกทั้งบาเยิร์น มิวนิก, ลิเวอร์พูล, เลสเตอร์ ซิตี้ และท็อตแนม ฮอตสเปอร์ มาลงแข่งขันในเกมอุ่นเครื่อง

 

บรรยากาศทั่วไปของนักข่าวจากทั่วโลกคือการเกาะติดข่าวสารการแข่งขันภายในสนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ ที่สร้างขึ้นและเปิดใช้สำหรับซีเกมส์ ปี 2015 ที่สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ 

 

สิ่งเดียวที่ทุกคนโฟกัสคือโดมของสนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ ประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศคล้ายกับประเทศไทยที่ต้องพบฤดูฝนและฤดูร้อนเกือบตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงพรีซีซันของสโมสรยุโรปในช่วงกลางปีที่ตรงกับฤดูฝนในภูมิภาค ทำให้สิงคโปร์สร้างสนามที่มีหลังคาพร้อมรับทุกสภาพอากาศ เพื่อให้การแข่งขันสามารถเดินหน้าได้โดยไม่ต้องเลื่อนหรือยกเลิก 

 

 

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้แฟนกีฬาชาวไทยหลายคนตั้งคำถามถึงสภาพของสนามกีฬาหลักภายในประเทศไทยที่ใช้สำหรับการแข่งขันฟุตบอลชาติไทยว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรจะมีสนามที่พร้อมรับมือสภาพอากาศของฤดูฝน เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเสียโอกาสสร้างรายได้เข้าประเทศจากการแข่งขันแมตช์อุ่นเครื่องจากสโมสรระดับโลกในอนาคต 

 

และหากไทยจะสร้างหรือปรับปรุงสนามใหม่ จุดคุ้มทุนคือจุดใดในการเลือกลงทุนครั้งนี้ นี่เป็นโจทย์สำคัญของการบริหารจัดการของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

 

เพราะเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่สนามราชมังคลากีฬาสถานท่ามกลางสายฝน ก็เป็นบทเรียนสำคัญของสโมสรฟุตบอลระดับโลก ที่พวกเขาจะใช้เป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจเลือกไทยเป็นสนามกีฬาสำหรับแมตช์อุ่นเครื่องหรือจัดอีเวนต์ใหญ่ในอนาคต 

 

บทเรียนการเตรียมพร้อม 

 

 

ปี 2023 ถือเป็นปีที่เต็มไปด้วยทัวร์นาเมนต์การแข่งขัน บ้างก็ตามกำหนดการเดิม บางทัวร์นาเมนต์อย่างเอเชียนเกมส์ก็เลื่อนมาจัดปีนี้เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด

 

ทำให้ปี 2023 เป็นปีที่แต่ละสมาคมต้องบริหารจัดการตารางการแข่งขันให้กับนักกีฬาตัวหลักและดาวรุ่ง เพื่อสร้างโอกาสที่ดีให้กับทั้งเป้าหมายความเป็นเลิศและเปิดโอกาสให้เยาวชนได้สะสมประสบการณ์ 

 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในมหกรรมกีฬาอย่างเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ถูกตั้งคำถามอย่างมาก เมื่อไทยส่งนักกีฬาลงแข่งจำนวน 939 คน ถือว่ามากที่สุดจาก 45 ชาติ และมากกว่าเจ้าภาพจีนที่ส่งทั้งหมด 886 คน

 

และผลงานทำได้ 12 เหรียญทอง 14 เหรียญเงิน และ 32 เหรียญทองแดง จบอันดับ 8 ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ก่อนการแข่งขัน 15 เหรียญทอง 

 

โดยมีรายงานว่า สาเหตุที่ตัดสินใจส่งนักกีฬาไทยไปแข่งขันมากที่สุดในเอเชียนเกมส์ครั้งนี้เนื่องจากต้องการให้นักกีฬาได้ประสบการณ์แข่งขันระดับเอเชีย หลังจากที่ต้องหยุดการแข่งขันมาเป็นเวลานานในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด 

 

แต่ในระหว่างการแข่งขัน แม้ว่าไทยจะส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันเป็นจำนวนมาก แต่หลายสมาคมกลับมีรายงานออกมาว่า นักกีฬาคนสำคัญได้รับบาดเจ็บหรือไม่สมบูรณ์ เนื่องจากแข่งขันมาหลายรายการก่อนหน้านี้ 

 

โดยเฉพาะกรีฑาที่ บิว-ภูริพล บุญสอน ดาวรุ่งของวงการกรีฑาโลก ต้องมาได้รับบาดเจ็บจากการแข่งขันซีเกมส์ที่ประเทศกัมพูชาเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ทั้งที่ปีนี้มีโปรแกรมลงแข่งขันทั้งกรีฑาชิงแชมป์เอเชียและเอเชียนเกมส์ จนส่งผลกระทบให้บิวต้องถอนตัวหลายประเภทจากทั้งสองรายการ 

 

 

เช่นเดียวกับวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยที่ส่งแทบจะชุดเดิมลงแข่งขัน ตั้งแต่ชิงซีเกมส์กลางปีที่ผ่านมา, VNL ชิงแชมป์เอเชีย, รายการควอลิฟายไปโอลิมปิกที่ปารีส และเอเชียนเกมส์ จนนักกีฬามีสภาพเหนื่อยล้าอย่างเห็นได้ชัดหลังจบการแข่งขันเอเชียนเกมส์ที่หางโจว 

 

ไปจนถึงฟุตบอลทีมชาติไทยที่เกิดการตั้งคำถามด้านการเตรียมทีมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากแมตช์อุ่นเครื่องที่ทีมชาติชุดใหญ่ได้โอกาสไปเยือนทั้งจอร์เจียและเอสโตเนียถึงยุโรป 

 

 

แต่ชุดที่ส่งไปกลับไม่ใช้นักฟุตบอลที่ดีที่สุด เนื่องจากหลายสโมสรติดภารกิจฟุตบอลถ้วยระดับเอเชีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อมาถึงเกมแรกของฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย กับจีน เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งไทยพ่ายให้กับจีนไป 1-2 ในเกมแรกที่กลับมาลงแข่งที่ราชมังคลากีฬาสถานในรอบ 5 ปี 

 

ถึงแม้ว่าไทยจะกลับมาชนะสิงคโปร์ได้ในเกมที่ 2 แต่สุดท้ายก็เกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อ มาโน โพลกิง ที่เพิ่งฉลองแชมป์อาเซียนสมัยที่ 2 ในฐานะเฮดโค้ชทีมชาติไทยไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ถูกปลดพ้นจากตำแหน่ง และเป็น มาซาทาดะ อิชิอิ เฮดโค้ชชาวญี่ปุ่น เข้ามารับตำแหน่งแทน 

 

โดยมีเกมแรกอย่างเป็นทางการคือการบุกไปเยือนญี่ปุ่นในแมตช์อุ่นเครื่องวันแรกของปี 2024 ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีในการเริ่มต้นใหม่ของฟุตบอลทีมชาติไทยอีกครั้ง ก่อนที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลไทยฯ ในช่วงต้นปีหน้าเช่นเดียวกัน 

 

ลีกอาชีพที่ยึดเป็นอาชีพได้ยากในปัจจุบัน   

 

 

รากฐานของความสำเร็จในวงการกีฬาทั่วโลกมักจะมีส่วนประกอบสำคัญคือ การแข่งขันลีกอาชีพที่แข็งแกร่ง เช่น ฟุตบอลเจลีกของญี่ปุ่น ที่ทำหน้าที่พัฒนานักเตะในประเทศก่อนจะส่งออกไปค้าแข้งในยุโรป จนปัจจุบันทีมชาติญี่ปุ่นเต็มไปด้วยนักเตะชั้นนำที่ค้าแข้งในยุโรป และส่งผลให้ทีมชาติญี่ปุ่นประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในระดับสูง 

 

แต่ในประเทศไทยเองลีกอาชีพกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก เริ่มต้นจากไทยลีก ฟุตบอลที่พบเจอปัญหามูลค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่ช่วงเวลาหนึ่งเคยขึ้นไปสูงถึงปีละ 1,000 ล้านบาท มาเหลือเพียง 50 ล้านบาทต่อ 1 ฤดูกาล ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่สำหรับโมเดลรายได้ของสโมสรฟุตบอลอาชีพที่พึ่งพารายได้หลักมาจากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด  

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่สามารถบอกได้จากเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง แต่มีหลายองค์ประกอบ ทั้งวิกฤตโควิดที่ส่งผลกระทบต่อกีฬาอาชีพอย่างหนัก ความน่าดึงดูดของฟุตบอลลีกอาชีพไทยที่ลดลง ผลงานของฟุตบอลทีมชาติไทยที่ครั้งหนึ่งนักฟุตบอลทีมชาติไทยเคยเป็นเสมือนแม่เหล็กดึงดูดคนดูเข้าสนามในแต่ละสโมสร 

 

แต่วันนี้กระแสที่เคยเกิดขึ้น – เหมือนตอนที่ไทยเคยจัดรถแห่ถ้วยแชมป์อาเซียนไปรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ – ดูเหมือนว่าจะจางหายไปกับกาลเวลา 

 

ซึ่งหากไม่เร่งแก้ไขปัญหาด้านความนิยมของแต่ละสโมสรไปจนถึงทีมชาติไทย สุดท้ายผลกระทบที่เกิดขึ้นก็หนีไม่พ้นผลงานในสนามและความเป็นอยู่ของนักฟุตบอลอาชีพทุกคน 

 

ข้ามมาที่ฝั่งวอลเลย์บอล กีฬาซึ่งมีฐานแฟนคลับจำนวนมากในระดับทีมชาติและสโมสร ก็ประสบปัญหาแฟนกีฬาเข้าสนาม เมื่อพวกเขาตัดสินใจเปลี่ยนมาแข่งขันในระบบสนามกลาง แทนที่จะเป็นระบบเหย้าและเยือน ซึ่งเคยทำให้แฟนกีฬาเข้าชมการแข่งขันได้อย่างคึกคัก 

 

บทเรียนทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากปี 2023 จึงเป็นบทเรียนสำคัญในแง่ของการบริหารจัดการ เพราะนักกีฬาทุกคนที่ลงแข่งขันทุกสนามต่างก็ต้องการชัยชนะ และการเตรียมพร้อมเพื่อชัยชนะที่ดีที่สุดต้องเริ่มต้นเป็นเวลาหลายปีก่อนที่เสียงนกหวีดของการแข่งขันเกมสำคัญที่สุดจะเริ่มต้นขึ้นด้วยซ้ำ 

 

ดังนั้นในปี 2024 ที่มหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างโอลิมปิกจะโคจรกลับมา เช่นเดียวกับรายการควอลิฟายไปฟุตบอลโลก 2026 ของฟุตบอลทีมชาติไทย ไปจนถึงรายการควอลิฟายไปโอลิมปิกของวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย จำเป็นต้องเรียนรู้จากบทเรียนในปีที่ผ่านมา เพื่อให้นักกีฬาตัวแทนของประเทศไทยได้รับการสนับสนุนที่ดีที่สุด และมีความพร้อมที่สุดในการก้าวขึ้นไปแข่งขันบนเวทีโลกต่อจากนี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X