เมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. ของคืนวันที่ 4 มีนาคม มีรายงานผู้คนจำนวนมากพบเห็นลูกไฟปรากฏเหนือท้องฟ้าประเทศไทย
แม้การพบวัตถุดังกล่าวอาจดูอันตราย โดยเฉพาะเมื่อไม่มีการแจ้งเตือนก่อนเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว แต่นี่ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยปกติ โดยโลกเผชิญกับเศษวัตถุขนาดเล็กที่ถูกอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงโลกดึงดูดให้ตกใส่บรรยากาศอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งวัตถุเหล่านี้มีขนาดเล็กมากจนไม่เป็นอันตรายใดๆ ต่อชีวิตบนโลก และมักเผาไปหมดในชั้นบรรยากาศ
ปรากฏการณ์เมื่อคืนวันที่ 4 มีนาคม เป็นที่พูดถึงเป็นวงกว้างบนโลกออนไลน์ ก่อนที่ในเวลา 22.18 น. สมาคมดาราศาสตร์ไทยรายงานว่ากำลังเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีประชาชนถ่ายภาพและวิดีโอการเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวไว้ได้จากหลายมุม
ในเวลาเดียวกัน สำนักข่าว The Reporters ได้สอบถาม ผศ.ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ ประธานศูนย์ดาราศาสตร์โอลิมปิก สอวน. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ให้ความเห็นว่าเป็นดาวตกที่มีส่วนผสมของธาตุแมกนีเซียมที่ทำให้มีสีเขียว
ด้าน กรทอง วิริยะเศวตกุล นักสื่อสารดาราศาสตร์ ชี้แจงว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกับดาวหาง 12P/Pons-Brooks ที่เริ่มมองเห็นได้ผ่านกล้องสองตาในช่วงดังกล่าว เนื่องจากตัวดาวหางได้ตกลับขอบฟ้าไปตั้งแต่ช่วง 20.01 น. และยังอยู่ห่างจากโลกประมาณ 250 ล้านกิโลเมตร
เวลา 23.53 น. โจนาธาน แมคโดเวลล์ นักดาราศาสตร์แห่ง Harvard–Smithsonian Center for Astrophysics ตอบกลับวิดีโอปรากฏการณ์ดังกล่าว “ไม่มีข้อสงสัยเลย มันคือดาวตกดวงใหญ่ ชัดเจนมากๆ”
ทั้งนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าวัตถุดังกล่าวมีที่มาจากดาวเคราะห์น้อย สะเก็ดดาวหาง หรือเทหวัตถุขนาดเล็ก โดยต้องรอการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมอีกครั้ง
ดาวตก เป็นคำเรียกวัตถุจากนอกโลก ที่ตกเข้ามาเผาไหม้ในบรรยากาศโลก และปรากฏเป็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า ในขณะที่คำว่า ลูกไฟ หมายถึงดาวตกขนาดใหญ่ มีความสว่างใกล้เคียงกับดาวศุกร์ ส่วนคำว่า อุกกาบาต คือนิยามของวัตถุจากอวกาศที่เผาไหม้ไม่หมดในบรรยากาศและตกลงสู่พื้นผิวโลก
ภาพ: สปอร์ตไลท์บางปู