×

สว. ชี้ กระบวนการสรรหาประธานศาลปกครองสูงสุดเร่งรีบผิดปกติ ลัดขั้นตอนอย่างไม่เป็นธรรม

โดย THE STANDARD TEAM
29.08.2024
  • LOADING...
ศาลปกครองสูงสุด

วันนี้ (29 สิงหาคม) ที่อาคารรัฐสภา เทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) แถลงสืบเนื่องจากกรณีที่ที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา มีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด ภายหลังนายกรัฐมนตรีเสนอชื่อ ประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ เพื่อให้ สว. พิจารณา ตามที่คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) มีมติเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดนั้น

 

เทวฤทธิ์ได้ยื่นหนังสือถึงประธานกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบดังกล่าว ถึงข้อมูลความผิดปกติของกระบวนการสรรหาประธานศาลปกครองสูงสุดที่ผ่านมา เพราะกระบวนการสรรหาที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นผลมาจากมติของ สว. ชุดพิเศษ 250 คน ที่เร่งรีบทิ้งทวนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หรือ 1 เดือนก่อน สว. ชุดดังกล่าวจะหมดวาระลง

 

ในครั้งนั้นเป็นการลงมติที่ไม่เห็นชอบให้ วิษณุ วรัญญู รองประธานศาลปกครองสูงสุด ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด ทั้งที่ ก.ศป. มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบให้คัดเลือกวิษณุ ที่มีลำดับอาวุโสสูงสุดหลังดำรงตำแหน่งรองประธานตั้งแต่ 19 มกราคม 2560

 

เทวฤทธิ์มองว่ากระบวนการสรรหาและการไม่เห็นชอบวิษณุเป็นประธานศาลปกครองสูงสุดของวุฒิสภาชุดที่แล้วมีความผิดปกติที่พึงพิจารณา เนื่องจากเป็นการเร่งรีบก่อน สว. ชุดพิเศษดังกล่าวจะหมดวาระ และเมื่อพิจารณาตามกรอบเวลาเดิมก็จะต้องเป็น สว. ชุดใหม่พิจารณาในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2567 ซึ่งเป็นไปตามตารางเทียบกระบวนการสรรหา และเห็นชอบ 3 แคนดิเดตประธานศาลปกครองสูงสุด

 

“สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดปกติที่สาธารณชนมองเห็นได้ชัด ผู้พบเห็นก็อดมีความสงสัยในใจไม่ได้ว่ามีอำนาจอะไรเข้ามาแทรกแซงเร่งรีบเพื่อให้แคนดิเดตประธานศาลปกครองสูงสุดถูกตีตกทิ้งทวน สว. ชุดพิเศษนั้น การเดินหน้าให้ความผิดปกตินี้ดำรงอยู่อาจยังผลต่อกระบวนการยุติธรรมต่อจากนี้ รวมทั้งความเชื่อมั่นต่อองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ ที่เผชิญหน้ากับวิกฤตความเชื่อมั่นของประชาชนอยู่ด้วย” เทวฤทธิ์กล่าว

 

เทวฤทธิ์หวังว่ากรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบดังกล่าวจะพิจารณาถึงความผิดปกติในกระบวนการนี้ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ที่ต้องเผชิญกับกระบวนการไม่ปกติ และยังให้โอกาส สว. ได้ใช้ดุลพินิจเห็นชอบจากกระบวนการที่ปกติ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ไม่รับมรดกที่ไม่ปกติจาก สว. ชุดที่แล้ว ที่ขาดเสียไม่ได้คือการให้ความสำคัญกับกระบวนการที่ปกติจะยังเป็นการช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการด้วย

 

กระบวนการสร้างอคติและไม่เป็นธรรม

 

ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่าได้มีบุคคลทำหนังสือยื่นต่อประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยอ้างถึงมติการประชุม ก.ศป. เมื่อวัน 20 ธันวาคม 2566 เสนอชื่อให้ วิษณุ วรัญญู ต่อวุฒิสภา พิจารณาให้ความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด โดยเป็นการรีบเร่งเพื่อให้วุฒิสภาที่เป็นคู่ขัดแย้งมีอคติและมีกระบวนการสร้างข้อมูลที่ไม่ถูกต้องใส่ร้าย วิษณุ วรัญญู ทุกๆ ขั้นตอนของการพิจารณา

 

ท้ายที่สุด วุฒิสภาในชุดเก่าก็ลงมติโดยไม่เห็นชอบให้ วิษณุ วรัญญู ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด โดยการเสนอชื่อดังกล่าวจะแตกต่างกับการเสนอชื่อต่อวุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบในตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดของทุกๆ คราวที่ผ่านมาดังนี้

 

  1. กรณีการเสนอชื่อ วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ก.ศป. วันที่ 16 มีนาคม 2565 ได้มีมติเสนอชื่อให้ วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ เพื่อเสนอต่อวุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด

 

  1. กรณีการเสนอชื่อ ชาญชัย แสวงศักดิ์ ก.ศป. เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 ได้มีมติเสนอชื่อให้ ชาญชัย แสวงศักดิ์ เพื่อเสนอต่อวุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด

 

ดังนั้นในการเสนอชื่อของ วิษณุ วรัญญู ของ ก.ศป. วันที่ 20 ธันวาคม 2566 จึงมีความรีบเร่งผิดปกติวิสัยและไม่เป็นธรรมต่อ วิษณุ วรัญญู เป็นอย่างมาก เพื่อให้วุฒิสภาชุดเดิมซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งพิจารณา โดยที่การเสนอวาระพิจารณาเข้าประชุม ก.ศป. เพื่อคัดเลือกในกรณีดังกล่าว เป็นอำนาจโดยตรงของประธานศาลปกครองสูงสุด วิษณุ วรัญญู ได้พยายามแจ้งข้อมูลความผิดปกติในเรื่องนี้แล้ว แต่ก็ถูกปฏิเสธอย่างรวบรัด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising