วันนี้ (11 เมษายน) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประชาชนที่เดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดในช่วงสงกรานต์ อาจมีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อโควิด-19 ไปยังครอบครัวและผู้คนในชุมชนได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุในบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีการติดเชื้อจากกลุ่มผู้ที่ออกไปนอกบ้าน และนำเชื้อกลับมาสู่คนในบ้าน และมีโอกาสที่จะเสียชีวิตสูงกว่าวัยอื่น ขณะเดียวกัน ตัวผู้สูงอายุเองควรงดออกจากบ้าน ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานและหลังเข้าห้องน้ำ ไม่ใช้มือสัมผัสใบหน้า กินร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว แยกสำรับอาหาร แยกของใช้จำเป็น ควรเว้นระยะห่างจากบุตรหลานและผู้อื่น 1-2 เมตร
ดังนั้น จึงขอให้ลูกหลานที่วางแผนเดินทางกลับบ้าน ให้งดการเดินทางหากพบว่ามีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส เหนื่อยหอบ หรือมีอาการที่พบเพิ่มคือ ตาแดง มีผื่นแดงตามตัว มีน้ำมูก น้ำตาไหล และสำหรับผู้ที่ได้เดินทางกลับแล้วนั้น ขอให้มีการคัดกรองสุขภาพและความเสี่ยงตนเอง โดยมีหลักการประเมินว่า ไม่เข้าไปในสถานที่เสี่ยง ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงในที่คนแออัด เช่น ไม่สวมหน้ากาก ไม่ไปใกล้คนป่วยหรือเสี่ยงเป็นโควิด-19 หากไม่แน่ใจในการประเมินตัวเอง สามารถประเมินผ่านแอปพลิเคชันใดๆ ก็ได้แล้วแต่ความสะดวก
โดยกรมอนามัยแนะนำแอปพลิเคชัน ‘ไทยเซฟไทย’ เป็นเครื่องมือที่มีหลักเกณฑ์รายละเอียดข้อมูลและความรู้ในปัจจุบันครบถ้วน เหมาะอย่างยิ่งในการประเมินตนเองว่ามีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อ เพื่อปกป้องคนในครอบครัวและเพื่อนในที่ทำงานไม่ให้เป็นโควิด-19 ซึ่งหากมีหรือได้ไปในสถานที่เสี่ยงที่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อ จะต้องเฝ้าระวังสังเกตอาการ งดทำงาน หรืองดเดินทางไปในที่สาธารณะ และไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการ พร้อมทั้งเฝ้าระวังอาการอยู่กับบ้าน 14 วัน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
นพ.สุวรรณชัย ล่าวต่อไปว่า ในช่วงเฝ้าระวังอาการ 14 วันนั้น ขอให้ปฏิบัติตัวดังนี้
- วัดอุณหภูมิร่างกายทุกวัน หากพบว่ามีไข้ อุณหภูมิมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการทางเดินหายใจ เช่น ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ เหนื่อยหอบ ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการ โดยแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ หรือแจ้ง 1422 เพื่อประสานการรับตัว
- ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลด้วยการล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำอย่างน้อย 20 วินาที หรือเจลแอลกอฮอล์ ปิดปากปิดจมูกด้วยกระดาษทิชชูทุกครั้งที่ไอ จาม
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดบุคคลอื่นในที่พักอาศัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ และควรอยู่ห่างจากคนอื่นๆ ไม่น้อยกว่า 1-2 เมตร หรือใช้เวลาพบปะผู้อื่นให้สั้นที่สุด
- ให้แยกห้องนอน ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดหน้า ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว จาน ชาม ช้อน แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ โทรศัพท์ รวมทั้งให้แยกทำความสะอาด
- จัดให้มีน้ำดื่มแยกเฉพาะ แยกการกินอาหาร ไม่กินร่วมกับคนในครอบครัว และเก็บล้างภาชนะด้วยน้ำยาล้างจาน ผึ่งหรือตากแดดให้แห้ง
- ให้แยกขยะเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ขยะทั่วไป เช่น ถุงพลาสติก ภาชนะใส่อาหารแบบใช้ครั้งเดียว ขวด เป็นต้น และแยกขยะที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู ซึ่งในแต่ละวันให้เก็บรวบรวมและทำลายเชื้อโดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น และทำลายเชื้อโดยราดด้วยน้ำยาฟอกขาว แล้วมัดปากถุงให้แน่น นำไปทิ้งรวมกับขยะทั่วไป
- ให้แยกการใช้ห้องส้วมกับคนในครอบครัว หากแยกไม่ได้ ควรใช้ห้องส้วมเป็นคนสุดท้าย และให้ทำความสะอาดทันทีหลังใช้ส้วม ให้ปิดฝาทุกครั้งก่อนกดชักโครก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
- กรณีจำเป็นต้องพบปะผู้อื่น ให้ใช้หน้ากากอนามัย ซึ่งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วให้ทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด และทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือล้างด้วยสบู่และน้ำทันที
- งดกิจกรรมนอกบ้าน งดการสังสรรค์ งดไปในที่ชุมชน งดใช้ขนส่งสาธารณะ และติดตามสถานการณ์ข่าวสารอย่างต่อเนื่อง และให้ความร่วมมือปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ขอแนะนำ ‘ไทยประเมินเซฟไทย ครอบครัวปลอดภัย ที่ทำงานไร้โควิด-19’ เป็นเครื่องมือประชาชนดูแลกันเอง ไม่มีการนำไปใช้ติดตามจากภาครัฐ
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล