วันนี้ (21 พฤศจิกายน) พรรคไทยสร้างไทยออกแถลงการณ์เตือนรัฐบาล อย่าแบ่งขุมทรัพย์ใต้ทะเลในอ่าวไทยโดยมีวาระซ่อนเร้น ระบุว่า
ตามที่นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยมีนโยบายเร่งด่วน นโยบายที่ 3 จะเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม รวมทั้งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สรุปว่า พร้อมเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถกผลประโยชน์ทางทะเล หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้เป็นประธาน JTC นั้น
พรรคไทยสร้างไทยรู้สึกกังวลกับความเห็นของประชาชนในภาคส่วนต่างๆ ต่อ ปัญหา MOU 44 ที่ให้ความสำคัญกับอธิปไตยของประเทศและทรัพยากรทางทะเลในอ่าวไทยเป็นอย่างมาก พรรคไทยสร้างไทยเห็นว่าแม้การเจรจาเพื่อแก้ปัญหาและมีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นธรรมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลจะเป็นสิ่งที่ดี แต่จะต้องกระทำโดยสุจริตใจของทั้งสองฝ่ายเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ แต่การดำเนินการในเรื่องดังกล่าวดูเหมือนจะมีความไม่ชอบมาพากลดังต่อไปนี้
- วันที่ 22 สิงหาคม 2567 ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แสดงวิสัยทัศน์ทางการเมือง Vision for Thailand 2024 โดยหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ทักษิณแนะนำรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ให้เร่งดำเนินการคือเรื่องพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีประหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (Overlapping Claims Area: OCA) ซึ่งทักษิณเห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดน แต่เป็นเรื่องของการนำเอาทรัพยากรปิโตรเลียมที่มีอยู่ขึ้นมาใช้ โดยแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างกันฝั่งละ 50% หากไม่เร่งดำเนินการ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่จะใช้ไม่ได้ภายในอีกไม่เกิน 20 ปี
- วันที่ 12 กันยายน 2567 นายกฯ แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยมีนโยบายเร่งด่วน นโยบายที่ 3 ที่จะทำทันทีคือการสำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และการเจรจาประเด็นพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศเพื่อนบ้าน (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านการพลังงาน
- วันที่ 25 ตุลาคม 2567 ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนโดยย้ำว่าเกาะกูดเป็นของไทย อย่าปลุกกระแสคลั่งชาติ ทำร้ายผลประโยชน์ประเทศ และเตรียมนั่งประธานคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ฝ่ายไทย โดยจะดึงสภาพัฒน์และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการ่วมประชุมแบ่งขุมทรัพย์ใต้ทะเล
- ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้นำอาวุโสทางการเมืองซึ่งมีอำนาจสูงสุดทางพฤตินัยของประเทศเพื่อนบ้านคือ สมเด็จฮุน เซน เดินทางมาพบกับทักษิณที่บ้านพัก ซึ่งขณะนั้นทักษิณยังมีสถานะเป็นนักโทษ
จากกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น อาจทำให้ประชาชนเข้าใจไปได้ว่ามีการหารือตกลงในเรื่องดังกล่าว จนนำไปสู่นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลปัจจุบันซึ่งมีนายกฯ เป็นบุตรสาวของทักษิณ
พรรคไทยสร้างไทยจึงเห็นว่ายังไม่ควรมีการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ในทรัพยากรใต้ทะเลขณะนี้ จนกว่าจะพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าทุกอย่างเป็นไปโดยสุจริตใจ ถูกต้อง และเป็นธรรมตามหลักกฎหมายสากล เพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่การตอบสนองผลประโยชน์ของผู้มีอิทธิพลทางการเมืองและกลุ่มทุนนิยมพรรคพวก
ขณะเดียวกัน ขอให้นำพระบรมราชโองการที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2516 ในเรื่องดังกล่าวมาเป็นหลักสำคัญในการกำหนดกรอบนโยบายการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะพระบรมราชโองการนั้นกำหนดเส้นเขตแดนทางทะเลของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านโดยอาศัยมูลฐานกฎหมายระหว่างประเทศไว้แล้ว และการแบ่งปันผลประโยชน์จะต้องกระทำโดยรอบคอบ ไม่กระทบต่ออธิปไตย ทั้งต้องมีความชัดเจน โปร่งใส ว่าเป็นไปโดยสุจริต เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเท่านั้น
นอกจากนั้น หากรัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาราคาพลังงานที่ประชาชนจำต้องแบกรับภาระในอัตราที่สูงกว่าที่ควรจะเป็นเช่นในปัจจุบัน ก็จะต้องเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างค่าพลังงาน ทั้งน้ำมัน ก๊าซ และไฟฟ้า ให้มีราคาถูกลงตามที่ให้คำมั่นไว้กับประชาชนเสียก่อน โดยยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบเร่งเจรจาเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ทางทะเลในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยข้ออ้างที่ว่าจะได้นำทรัพยากรธรรมชาติทั้งน้ำมันและก๊าซมาจำหน่ายให้กับประชาชนในราคาถูก เพราะโดยความเป็นจริงแล้วรัฐบาลจะไม่สามารถกระทำเช่นนั้นได้เลยหากไม่ดำเนินการปรับเปลี่ยนโครงสร้างค่าพลังงาน ทั้งน้ำมัน ก๊าซ และไฟฟ้า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริงในฐานะเจ้าของทรัพยากรของประเทศ ซึ่งขณะนี้กำลังเจ็บปวดและหนักหนาสาหัสกับการที่จะต้องซื้อน้ำมัน ก๊าซ และไฟฟ้า ในราคาแพง ทั้งๆ ที่ทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานของไทยเรามีอยู่มากมายและยังมีเหลือส่งไปขายยังต่างประเทศ ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลเพียงพอที่รัฐบาลต้องทำเพื่อพี่น้องประชาชนมากกว่าทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนและกลุ่มทุนนิยมพรรคพวก