วันนี้ (2 กรกฎาคม) เวลา 10.00 น. ชุมพร พลรักษ์, ประเสริฐ ทองนุ่น, ดร.ประพนธ์ เนตรรังษี, ดร.ณรงค์ รุ่งธนวงศ์ แกนนำพรรคสร้างไทย และ ดร.เกณิกา ตาปสนันทน์ รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้คณะทำงานได้รับมอบหมายจาก คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย ให้เข้าพบ ฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อยื่นหนังสือขอให้เร่งรัดการปรับปรุงพระราชบัญญัติกรุงเทพมหานคร (พ.ร.บ. กทม.) โดยสาระสำคัญคือ การให้คงไว้ซึ่งสภาเขต และตำแหน่งสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) เนื่องด้วยหลังจากการลงพื้นที่สอบถามประชาชนส่วนใหญ่มีความต้องการให้การเลือกตั้ง ส.ข. กลับคืนมา เพราะเป็นผู้แทนที่มีความใกล้ชิด เชื่อมโยงกับพื้นที่ เข้าถึงประชาชน และมาจากการเลือกตั้ง สอดคล้องกับหลักการกระจายอำนาจและหลักการประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิเลือกตัวแทนของตนเข้าไปทำหน้าที่ และที่สำคัญอำนาจหน้าที่ของ ส.ข. ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ
ชุมพรกล่าวว่าประชาชนใน กทม. ทราบกันดีว่า ส.ข. สำคัญเพียงใด เพราะมีที่มาที่ยึดโยงประชาชน มาจากการเลือกตั้ง แตกต่างจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด ประชาชนไม่เคยเห็นหน้า ไม่เคยมาลงพื้นที่ดูแล ที่ผ่านมาเกิดวิกฤตการระบาดของโรคโควิด ประชาชนยิ่งคิดถึง ส.ข. เพราะหลายปีมาแล้วที่ไม่มีผู้แทนท้องถิ่นคอยดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด ซึ่งการผลักดันให้ ส.ข. กลับคืนมารับใช้พี่น้องประชาชนนั้นไม่ยาก โดยในวันนี้พรรคไทยสร้างไทยได้ยกร่างการแก้ไข พ.ร.บ. กทม. มาเสนอแล้ว หากผู้เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญสามารถเร่งเสนอต่อสภาฯ เพื่อแก้ไขให้ทันก่อนที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ซึ่งจะสามารถจัดการเลือกตั้งในคราวเดียวกันได้เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ
“สมาชิกพรรคไทยสร้างไทยเราลงพื้นที่อย่างหนัก ระหว่างการลงพื้นที่ใน กทม. ประชาชนจำนวนมากก็มาสอบถามว่า ส.ข. เขาหายไปไหน จะมีการเลือกตั้งเมื่อไร เราก็มาพิจารณากฎหมายแล้วพบว่า พ.ร.บ. กทม. ฉบับปัจจุบัน ไม่ได้ยกเลิก ส.ข. แต่ ‘แช่แข็ง’ ไว้ โดยให้งดเว้นการเลือกตั้ง ประชาชนชาว กทม. จึงขาดผู้แทนระดับฐานรากที่ดูแลใกล้ชิดมากว่า 7 ปี นอกจากนี้ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวยังกำหนดว่า ‘ให้ดำเนินการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จโดยเร็ว’
ทั้งนี้ การคงไว้ซึ่ง ส.ข. ไม่ได้ขัดหรือแย้งกับกฎหมายฉบับใด ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่นๆ และยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ที่มุ่งส่งเสริมให้มีการกระจายอำนาจและถ่ายโอนภารกิจไปให้กับชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ภาครัฐและระบบบริหารราชการส่วนกลางมีขนาดเล็กลง ที่ผ่านมากระบวนการปรับปรุงกฎหมายล่าช้า และกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก็ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่กว้างขวาง มีผู้แสดงความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงกฎหมายฉบับดังกล่าวน้อยมาก หากเปรียบเทียบกับจํานวนประชากรทั้งกรุงเทพมหานคร จึงขอเรียกร้องให้ทางมหาดไทยเห็นความสำคัญและเร่งรัดแก้ไขด้วย โดยพรรคไทยสร้างไทยจะติดตามอย่างใกล้ชิด” ชุมพรกล่าว
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์