×

ไทยเสี่ยงติดโควิดรอบสี่ ถ้ายังไม่เปลี่ยนนโยบาย

01.07.2021
  • LOADING...
ไทยเสี่ยงติดโควิดรอบสี่ ถ้ายังไม่เปลี่ยนนโยบาย

ก่อนอื่นผู้เขียนขอขอบคุณ คุณเคน นครินทร์ แห่ง THE STANDARD ที่ได้ตีพิมพ์บทความนี้ ซึ่งเกิดจากการที่เราได้พูดคุยกันผ่านทาง LINE แสดงความเป็นห่วงถึงแนวโน้มการระบาดของโรคโควิด รวมถึงมาตรการป้องกันในปัจจุบัน ทำให้คุณเคนได้ชักชวนให้เขียนถึงมุมมองดังกล่าวในบทความนี้ โดยการวิเคราะห์ในบทความนี้ ส่วนหนึ่งได้นำข้อมูลมาจากการนำเสนอประเด็นนี้อย่างต่อเนื่องของ THE STANDARD ผนวกกับการหาข้อมูลและวิเคราะห์ของผู้เขียนเพื่อนำเสนอภายใน บล.ไทยพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม มุมมองที่ผู้เขียนเสนอในบทความนี้เป็นมุมมองของผู้เขียนเอง หาใช่มุมมองของ บล.ไทยพาณิชย์ 

 

ดังที่เราทราบกันดี ในเช้ามืดวันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน ทางรัฐบาลได้ประกาศมาตรการ ‘กึ่งล็อกดาวน์’ ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล รวมถึงใน 4 จังหวัดภาคใต้ คือ  

 

  1. จำกัดการเดินทางระหว่างประชาชนในจังหวัดดังกล่าวไม่ให้ออกนอกพื้นที่โดยง่าย 
  2. ปิดไซต์ก่อสร้าง 
  3. ห้ามกินอาหารในร้านอาหาร 
  4. ให้ห้างสรรพสินค้าปิดทำการเร็วขึ้น และ 
  5. ประกาศสถานที่เสี่ยงต่อการระบาด เช่น โรงภาพยนตร์ สวนน้ำ ศูนย์อาหาร ปิดทำการชั่วคราวภายใน 30 วัน 

 

ด้วยจุดประสงค์เพื่อจะจำกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด ที่ระบาดเป็นวงกว้างขึ้นและมีผู้ติดเชื้อใหม่อยู่ในระดับ 4,000-5,000 รายต่อวัน

 

สำหรับผู้เขียนแล้ว การวิเคราะห์ว่ามาตรการดังกล่าวจะสำเร็จ (ในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อลง) และคุ้มกับต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไปหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 3 ประการ คือ 

  1. สายพันธุ์ของไวรัส 
  2. ประสิทธิภาพและการแจกจ่ายวัคซีน (รวมถึงการตรวจวัดเชื้อ) และ 
  3. ความเข้มข้นของมาตรการ และมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

ในประเด็นของสายพันธุ์ของไวรัส เป็นที่ทราบกันดีว่าการระบาดของไวรัสโคโรนาในประเทศไทยในปัจจุบันเป็นสายพันธุ์ใหม่มากขึ้น โดยการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 6,000 รายในไทย ที่รายงานโดย THE STANDARD เอง พบว่ากว่า 89% เป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ Alpha จากอังกฤษ ประมาณ 1% เป็นสายพันธุ์ Beta จากแอฟริกาใต้ ขณะที่อีกกว่า 10% เป็นสายพันธุ์ Delta จากอินเดีย อันเป็นข้อมูลแบบเดียวกับที่ทางกระทรวงสาธารณสุขประกาศ 

 

จากการวิเคราะห์ความแข็งแกร่งของไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ ของ ศ.ดร.มานพ พิทักษ์ภากร จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (ที่รายงานโดย THE STANDARD) พบว่าสายพันธุ์ Delta มีโอกาสแพร่พันธุ์ได้เร็วมากที่สุดเทียบเท่าสายพันธุ์ Alpha และมีความแข็งแกร่ง (ที่วัดจากการดื้อต่อวัคซีน) ได้ใกล้เคียงกับสายพันธุ์ Beta 

 

นอกจากนั้นงานวิจัยของ ดร.มานพ ยังพบว่าสายพันธุ์ Delta สามารถเพิ่มสัดส่วนการระบาดในสังคมหนึ่งๆ เป็น 2 เท่าทุก ๆ 2-3 สัปดาห์ ซึ่งข้อมูลนี้ตรงกับข้อมูลของ ดร.แอนโทนี เฟาชี ผอ.ศูนย์ศึกษาการแพร่ระบาดและโรคภูมิแพ้แห่งชาติ และที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของประธานาธิบดีสหรัฐฯ 

 

ในประเด็นด้านประสิทธิภาพของวัคซีน งานวิจัยหลากหลายงานบ่งชี้ว่าวัคซีน Pfizer และ Moderna ที่ใช้เทคโนโลยี mRNA มีประสิทธิภาพในการจำกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาได้ดีกว่าวัคซีน AstraZeneca และวัคซีนจากจีน ในขณะที่ WSJ รายงานว่า ในการระบาดรอบใหม่ (ที่เป็นสายพันธุ์ Beta) ของประเทศบาห์เรนที่มีการฉีดวัคซีน Sinopharm เป็นหลัก (ในระดับ 68.8% ของจำนวนประชากร) จำนวนผู้ติดเชื้อมีมากขึ้นสู่ระดับ 3,000 รายต่อวัน ทำให้ทางการต้องฉีดวัคซีน Pfizer เพื่อเป็น Booster และสามารถดึงให้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงมาในระดับ 300 รายต่อวัน ในขณะที่อังกฤษซึ่งฉีดวัคซีน AstraZeneca เป็นหลักนั้น จำนวนผู้ติดเชื้อในปัจจุบันได้พุ่งขึ้นมาสู่ระดับ 2 หมื่นรายต่อวันในปัจจุบัน (หรือเข้าสู่การระบาดรอบที่สี่อย่างแท้จริง)

 

ในส่วนของไทยอาจกล่าวได้ว่าแนวทางการฉีดวัคซีนแบบ ‘ปูพรม’ ของรัฐบาลประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ปัจจุบันการฉีดอยู่ในระดับเกิน 2 แสนรายต่อวัน คิดเป็นผู้ฉีดทั้งหมดเกือบ 10 ล้านราย (ณ วันที่ 1 กรกฎาคม) หรือประมาณเกือบ 14% ของจำนวนประชากร อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน การฉีดเฉลี่ยต่อวันจะอยู่ที่ประมาณ 1 แสน 5 พันรายเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าเป้ารัฐบาลที่เกิน 3 แสนรายต่อวันที่จะทำให้ได้เป้าหมาย 120 วันในการเปิดประเทศที่ประกาศโดยนายกรัฐมนตรี 

 

นอกจากนั้น หากพิจารณาประเด็นการตรวจหาโรคและคัดกรองผู้ป่วยอาจอยู่ในระดับที่ค่อนข้างจำกัดกว่าบางประเทศ เช่น อังกฤษ ที่ทำการตรวจแบบ ‘ปูพรม’ อันนำมาสู่การรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อในระดับสูง (แต่ก็สามารถคัดกรองผู้ติดเชื้อได้ง่ายกว่า) 

 

ในประเด็นความเข้มข้นของมาตรการนั้น อาจกล่าวได้ว่าระดับความเข้มข้นของมาตรการ ‘กึ่ง’ ล็อกดาวน์ครั้งนี้รุนแรงกว่าในมาตการที่ใช้ในการระบาดรอบที่สอง แต่เบากว่ามาตรการรอบแรกมาก โดยหากวัดดัชนีความเข้มข้นของมาตรการล็อกดาวน์ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Thailand’s Oxford Stringency Index) แล้ว จะเห็นว่าการล็อกดาวน์ครั้งแรกมาตรการมีความรุนแรงในระดับ 80% และมีผลทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่วัดโดยดัชนี Google Mobility Index ลดลงในระดับ 60% แต่ก็มีผลทำให้การระบาดลดลงอย่างชัดเจน โดย Peak ของการระบาดรอบแรกอยู่ที่ประมาณ 117 คนต่อวัน ก่อนที่จะลดลงหลังจากล็อกดาวน์ไปแล้วช่วงหนึ่ง ในขณะที่การระบาดรอบที่สองถึงสามนั้นความเข้มข้นอยู่ในระดับต่ำกว่า จึงไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยใหม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญนัก 

 

ในส่วนผลต่อเศรษฐกิจนั้น แน่นอนว่าการล็อกดาวน์ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเป็นส่วนทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/20 หดตัวถึงกว่า 12.1% และทำให้ GDP ทั้งปี 2020 หดตัวกว่า -6.1% อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตัวเลขการประมาณการเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในไตรมาสที่ 2 ที่เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2020 จะหดตัวถึงกว่า 8.1% จะพบว่าการหดตัวจริงต่ำกว่าคาดมาก ซึ่งจากการคำนวณของผู้เขียนเชื่อว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่หดตัวน้อยกว่าการคาดการณ์ ณ ขณะนั้นเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งมาตรการเราไม่ทิ้งกัน คนละครึ่ง และเติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 

 

จากการคำนวณของผู้เขียน ในมาตรการรอบแรก มาตรการกระตุ้นประสบความสำเร็จมาก โดยมีการเบิกจ่ายเม็ดเงินจริงประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ขณะที่ทำให้การบริโภคเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ ธปท. เคยคาดประมาณ 9.4 แสนล้านบาท คิดเป็นตัวคูณ 2.7 เท่า แต่ในรอบที่สอง มาตรการไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก (เนื่องจากระยะเวลาในการวัดผลสั้นไป ประกอบกับเกิดการระบาดรอบสามเพียง 2 เดือนหลังมาตรการกระตุ้นเริ่มเบิกจ่ายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ) โดยใช้เงินไป 3.02 แสนล้านบาท แต่ทำให้การบริโภคเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดเพียง 1.7 หมื่นล้านบาท คิดเป็นตัวคูณ 0.06 เท่า

 

กล่าวโดยสรุป ผู้เขียนเชื่อว่ามาตรการล็อกดาวน์ในปัจจุบันอาจไม่เพียงพอในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อลง และคุ้มกับต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไปจากการล็อกดาวน์เนื่องจาก 

 

  1. การระบาดในรอบนี้ (ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดรอบที่สี่) เป็นสายพันธุ์ Delta ที่แพร่พันธุ์เร็ว และต้านทานต่อวัคซีนสูง ทำให้เป็นไปได้ที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มมากขึ้นในเดือนสิงหาคม 

 

  1. ประสิทธิภาพและการแจกจ่ายของวัคซีนที่ต่ำกว่าเป้า ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากการผลิตและนำเข้าที่ล่าช้า และ 

 

  1. ความเข้มข้นของมาตรการที่ต่ำกว่าการระบาดรอบแรก ขณะที่มาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำอย่างจำกัด

 

ในมุมมองผู้เขียน เชื่อว่าการที่จะคุมการระบาดรอบใหม่ให้อยู่นั้น ต้องเพิ่มระดับมาตรการการล็อกดาวน์ให้เข้มข้นกว่าในปัจจุบันที่มีโอกาสหลุดรอดได้สูง พร้อมทั้งอัดมาตรการการเงินการคลังอย่างเต็มที่ เพื่อจะลดจำนวนผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระดับวันละ 4-5 พันคน และผู้เสียชีวิต 40-50 คนต่อวันลงอย่างมีนัยสำคัญ 

 

ในขณะที่อีกทางเลือกหนึ่งคือไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์ โดยปล่อยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นอย่างปลายเดือนมิถุนายนก่อนการล็อกดาวน์ พร้อมสนับสนุนให้ผู้คนทำ Social Distancing พร้อมเพิ่มความระมัดระวังส่วนบุคคล ขณะที่เร่งการฉีดวัคซีน ตรวจ และคัดกรองผู้ป่วย (และกักตัวในสถานที่พักของผู้ป่วยเอง เพราะระบบสาธารณสุขในปัจจุบันแทบจะเต็มศักยภาพแล้ว) ซึ่งรูปแบบนี้จะเป็นลักษณะเดียวกับแนวทางของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ทำ ซึ่งจะทำให้ผู้ติดเชื้อมากขึ้นกว่าระดับปัจจุบัน แต่ก็ทำให้เศรษฐกิจยังดำเนินไปได้บ้าง 

 

สุดท้าย ทางเลือกสุดหินที่รัฐบาลต้องเลือกคือระหว่างผู้เสียชีวิตที่จะเพิ่มขึ้นจากการไม่ล็อกดาวน์ กับเศรษฐกิจที่จะแย่ลงชั่วคราวหากล็อกดาวน์รุนแรง (แต่มาตรการการเงินการคลังอย่างสุดขั้วจะสามารถช่วยเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง) แต่ถ้าเลือกแบบปัจจุบันที่ไปไม่สุดสักทางแล้ว อาจได้รับผลเสียจากทั้งสองทางเลือกได้ (หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า The worst of both worlds.) 

 

ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่าย ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X