ราคาข้าวไทยพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ดาบสองคม สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยหวั่นราคาพุ่งฉุดความสามารถในการแข่งขัน เหตุคนหันไปซื้อข้าวราคาถูกจากประเทศอื่น รวมไปถึงเวียดนาม
ตามข้อมูลจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย แสดงให้เห็นว่าราคาข้าว Thai White Rice 5% Broken ซึ่งถือเป็นเกณฑ์ราคามาตรฐานของเอเชีย (Asian Benchmark) พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ราว 668-669 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (หรือราว 2.3 หมื่นบาทต่อตัน) ในเดือนมกราคม
กรณีนี้ ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่าปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาข้าวไทยพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์มาจากคำสั่งห้ามส่งออกข้าวของอินเดีย และปัญหาขาดแคลนข้าวเนื่องจากภัยแล้งในอินโดนีเซีย รวมไปถึงการเร่งซื้อข้าวไทยของฟิลิปปินส์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว
โดยในปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียนำเข้าข้าวไทยเพิ่มขึ้นถึง 1,438% กลายเป็นผู้นำเข้าข้าวไทยอันดับ 1 ของปี รวม 1.4 ล้านตัน ในปี 2023 จาก 9.17 หมื่นตัน ในปี 2022 ขณะที่ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวไทยเพิ่มขึ้น 126% อยู่ที่ 4.2 แสนตัน เป็นผู้นำเข้าอันดับที่ 6 ในปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2023 อินเดียได้ออกคำสั่งห้ามส่งออกข้าว (ยกเว้นข้าวขาวบาสมาติ) เพื่อควบคุมราคาข้าวในประเทศ
สำหรับแนวโน้มราคาข้าวไทยในระยะต่อไป ชูเกียรติมองว่าขึ้นอยู่กับคำสั่งห้ามส่งออกข้าวของอินเดียเป็นหลัก โดยหากอินเดียยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกข้าวหลังการเลือกตั้ง อาจส่งผลให้ราคาในตลาดโลกลดลง 50 ดอลลาร์ต่อตันได้เลยทีเดียว
ราคาข้าวไทยพุ่ง ฉุดความสามารถแข่งขัน
แม้ราคาข้าวไทยที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จะเป็นผลดีต่อเกษตรกรไทย แต่ในอีกแง่หนึ่งกลับส่งผลกระทบเชิงลบต่อความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) เนื่องจากทำให้ผู้คนสนใจข้าวจากประเทศอื่นที่มีราคาถูกกว่ามากขึ้น รวมไปถึงเวียดนาม
“ล่าสุดมีการประมูลข้าวในอินโดนีเซียปริมาณ 5 แสนตัน ในวันจันทร์ที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา โดยเวียดนามสามารถชนะการประมูลไปได้ 4 แสนตัน ร่วมกับปากีสถานและเมียนมา ขณะที่ไทยไม่สามารถประมูลได้เลย เหตุเพราะราคาข้าวไทยสูงถึง 690 ดอลลาร์ต่อตัน เทียบกับราคาข้าวเวียดนาม ซึ่งอยู่ที่ 655 ดอลลาร์ต่อตัน (ราคาต่างกันถึง 35 ดอลลาร์)” ชูเกียรติกล่าว
เปิดแนวโน้มส่งออกข้าวไทยปี 2567
สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดการณ์ว่า ในปี 2567 ไทยจะส่งออกข้าวได้ลดลง 13.8% เหลือ 7.5 ล้านตัน จาก 8.7 ล้านตัน ในปี 2566 เนื่องมาจากความเป็นไปได้ที่อินเดียจะยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกข้าว นอกจากนี้ผลผลิตข้าวไทยในปี 2567 ก็คาดว่าจะลดลงจาก 4.4% เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนน้อยลง โดยเฉพาะข้าวนาปรัง
สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยยังเผยปัจจัยและความท้าทายที่มีผลต่อการส่งออกข้าวไทยในปีนี้ ได้แก่
- ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ในปีที่ผ่านมาเงินบาทเคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวน ส่งผลให้ราคาของข้าวไทยมีความเสถียรน้อย เทียบกับค่าเงินดองของเวียดนามที่มีความเสถียรมากกว่า
- ความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทย โดยไทยมีผลผลิตต่อไร่ที่น้อยกว่าเวียดนามถึงเท่าตัว และพันธุ์ข้าวไทยที่ไม่ได้รับการพัฒนา ระบบน้ำที่อ่อนแอ ทำให้ต้นทุนข้าวไทยสูงกว่าข้าวเวียดนาม
- ภาวะแข่งขันด้านราคาข้าวในตลาดโลก เนื่องมาจากราคาข้าวไทยที่สูงกว่าราคาข้าวเวียดนามและอินเดีย
- นโยบายจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดีย ซึ่งต้องจับตาดูนโยบายของรัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม
- ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่อาจส่งผลดีต่อประเทศไทย หากไทยสามารถจำกัดผลกระทบและส่งออกได้เพิ่มขึ้น แต่หากภัยแล้งทำให้ผลผลิตไทยลดลงก็อาจมองเป็นความเสี่ยงได้
เวียดนามจ่อแซงไทย
ในปี 2566 ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก โดยส่งออกข้าวได้ 8.76 ล้านตัน เป็นรองเพียงอินเดียที่ส่งออกได้ 17.5 ล้านตัน แม้ว่าอินเดียสั่งห้ามส่งออกข้าวในปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยมองว่ามีความเป็นไปได้ที่เวียดนามจะแซงไทยในปีนี้ โดยคาดว่าเวียดนามอาจส่งออกข้าวได้ถึง 7.5 ล้านตัน (ใกล้เคียงกับประมาณการส่งออกข้าวไทยในปีนี้ที่ 7.5 ล้านตัน) หลังปี 2566 เวียดนามตามหลังไทยมาติดๆ ด้วยปริมาณการส่งออกข้าว 8.13 ล้านตัน