×

สมาคมค้าปลีกชี้ ‘ผู้บริโภคฐานราก’ กำลังซื้อยังอ่อนแอ ลังเลจับจ่ายและซื้อเฉพาะสินค้าจำเป็น เสนอจูงใจผู้มีกำลังซื้อผ่านการลดหย่อนภาษีเดือน พ.ย. และ ธ.ค.

10.10.2023
  • LOADING...
สมาคมค้าปลีก

ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่น (Retail Sentiment Index) ของผู้ประกอบการค้าปลีกประจำไตรมาส 3 ปี 2566 โดยสมาคมค้าปลีกไทยพบว่า ลดลงมาที่ 46.4 จุด ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 จุด ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ในรอบปี 2566 ปัจจัยฉุดยังคงเป็นปัจจัยเดิมที่รอการเยียวยา ประกอบด้วย กำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ, หนี้ครัวเรือนสูง, ราคาพลังงานและสาธารณูปโภค รวมถึงการท่องเที่ยวที่เป็นช่วงโลว์ซีซัน 

 

ในภาพรวมมีการ ‘ซบเซา 3 เดือนต่อเนื่อง’ ทั้งดัชนียอดขายสาขาเดิม SSSG (Same Store Sales Growth) QoQ, ยอดใช้จ่ายต่อครั้ง (Spending Per Bill หรือ Per Basket Size) และความถี่ในการจับจ่าย (Frequency on Shopping) สะท้อนถึงผู้บริโภคฐานรากกำลังซื้อยังอ่อนแอ โดยลังเลที่จะจับจ่ายและมุ่งเน้นสินค้าที่จำเป็น

 

ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ระบุว่า เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกจำแนกตามประเภทร้านค้าปลีกพบว่า ธุรกิจห้างสรรพสินค้า, แฟชั่น, สุขภาพ-ความงาม, ร้านวัสดุก่อสร้าง-ตกแต่งและซ่อมบำรุง และร้านไอที เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ ส่วนร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตมีการชะลอตัวลง และร้านค้าส่ง, ไฮเปอร์มาร์เก็ต, ภัตตาคาร และร้านอาหาร ยังซบเซา นอกจากนี้เมื่อจำแนกตามภูมิภาคพบว่า กรุงเทพฯ ปริมณฑล เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ ในขณะที่ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึมลึก ส่วนภูมิภาคอื่นๆ ชะลอตัว

 

ขณะเดียวกัน สมาคมค้าปลีกไทยระบุว่า เห็นด้วยกับภาครัฐเกี่ยวกับนโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ซึ่งมาตรการลดค่าไฟและน้ำมัน มาตรการวีซ่าฟรีชาวจีน และการเพิ่มเที่ยวบินถือว่าเป็นมาตรการที่มาถูกที่ถูกเวลา อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้ค้าปลีกไทยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมที่จะช่วยขับเคลื่อนภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งเชื่อมโยงกับภาคค้าปลีกและบริการ ดังนี้

 

  1. มาตรการกระตุ้นการจับจ่ายเพื่อจูงใจกลุ่มที่ยังมีกำลังซื้อ โดยการลดหย่อนภาษีประจำปีระหว่างเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม เพื่อไม่ให้เกิดการชะลอการจับจ่าย ในส่วนของนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ขอเสนอให้เพิ่มการหารือร่วมกับภาคเอกชนและสมาคมต่างๆ เพื่อให้การดำเนินนโยบายเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

 

  1. เปิดตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพ ด้วยการเร่งเจรจา FTA Thai-EU ให้เร็วที่สุด และสนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกเขตเสรีการค้าอื่นเพิ่มเติม เช่น BRICS เพื่อให้เกิดการลงทุนและเกิดการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง

 

  1. แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคค้าปลีก-บริการ ด้วยการเพิ่มการจ้างงานให้หลากรูปแบบ และพัฒนาทักษะแรงงาน เช่น การจ้างงานอิสระ การจ้างงานประจำรายชั่วโมง โดยคำนึงถึงอุปสงค์และอุปทานในตลาดแรงงานเป็นหลัก และไม่จำกัดสิทธิเฉพาะสัญชาติ รวมถึงการกำหนดค่าจ้างตามระดับคุณวุฒิวิชาชีพที่สอดคล้องกับระดับสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เพื่อเพิ่มผลิตผลต่อแรงงานแทนการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ

 

  1. ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย ไม่ซับซ้อน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ มากกว่าการพักชำระหนี้เพียงอย่างเดียว

 

  1. สร้างความแข็งแกร่งให้กับ Soft Power ไทย ด้วยการสนับสนุนสินค้าไทยผ่านการจัดตั้งโครงการ Thailand Brand เพื่อเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าของ SMEs ไทย ปีละ 2 ครั้ง ในทุกช่องทางของร้านค้าทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อเพิ่มการจับจ่ายโดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเริ่มต้นเร่งด่วนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

 

  1. สนับสนุนให้จังหวัดภูเก็ตเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านการค้าเต็มรูปแบบ ทั้งด้านไลฟ์สไตล์, กีฬา, เอ็นเตอร์เทนเมนต์ และช้อปปิ้ง

 

“เชื่อว่าแม้ภาพรวมค้าปลีกและบริการในปัจจุบันยังอยู่ในช่วงเปราะบาง แต่หากรัฐบาลเร่งเครื่องฟื้นฟูสุขภาพเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องและตรงจุด ประกอบกับทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกัน จะสามารถนำพาให้เศรษฐกิจไทยกลับมามีเสถียรภาพที่มั่นคง และเดินหน้าอย่างเข้มแข็งอีกครั้ง”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising