×

ปฏิรูปตำรวจไทย เริ่มด้วยความเกลียดชัง ลงท้ายด้วยการรอคอย

18.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • คสช. เดินหน้าปฏิรูปตำรวจ ตั้งคณะกรรมการ มีนายทหารเป็นประธาน ร่างกฎหมายอย่างรวดเร็ว คืบหน้าแล้วกว่า 90%
  • ศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข ให้ความเห็นเรื่องการปฏิรูปตำรวจว่า “วันนี้ถ้าการปฏิรูปตำรวจเกิดขึ้นภายใต้การรัฐประหาร การปฏิรูปตำรวจจะกลายเป็นเพียงกลไกของการควบคุม การปฏิรูปตำรวจในยุคแบบนี้จะไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้เลย หรือพูดอีกนัยหนึ่ง การปฏิรูปตำรวจภายใต้การเมืองแบบรัฐประหารเป็นเพียงละครน้ำเน่าชุดหนึ่งเท่านั้นเอง”
  • กรรมการปฏิรูปตำรวจเปิดเว็บไซต์ให้แสดงความคิดเห็น แต่มีผู้ไปตอบน้อยกว่าที่ควร

     ‘ตำรวจ’ อาชีพในฝันของเด็กส่วนใหญ่ในขวบวัยที่ยังไม่รู้จักชีวิตและโลก เราจะพบบทพระเอกของตำรวจในละครโทรทัศน์บ่อยครั้ง แต่ในชีวิตจริงต้องยอมรับว่าภาพลักษณ์ของตำรวจมักเป็นผู้ร้ายในสายตาประชาชน

     งบประมาณตำรวจปีที่ผ่านมาตั้งไว้ประมาณ 1 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่กว่า 75% หมดไปกับเงินเดือนบุคลากร ตำรวจไทยต้องออกเงินซื้ออาวุธปืนประจำกายด้วยตัวเอง หรือแม้แต่พนักงานสอบสวนยังต้องใช้โน้ตบุ๊ก เครื่องปรินต์เตอร์ และกระดาษส่วนตัวเพื่อทำสำนวน ส่วนรถสายตรวจนั้นน้ำมันที่หลวงให้เบิกต่อเดือนใช้วิ่งตรวจได้จริงไม่ถึงสัปดาห์

     ตำรวจไทยจึงต้องอาศัยระบบอุปถัมภ์เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงาน ต้องขอเงินพ่อค้ามาเฟียมาจุนเจือโรงพักหาเลี้ยงลูกน้อง การบริการประชาชนจึงทำได้ล่าช้าติดขัด ตำรวจถูกด่า ถูกมองอย่างไม่เป็นมิตร เป็นปัญหาผูกพันกันยุ่งเหยิง ยังไม่นับปัญหาโครงสร้างภายในทั้งการแต่งตั้งโยกย้ายซื้อขายตำแหน่ง การถูกสั่งการไม่เป็นอิสระของพนักงานสอบสวน รวมถึงการถูกการเมืองและผู้มีอิทธิพลแทรกแซง

     ความฝันจะเปลี่ยนแปลงตำรวจ หรือแนวคิดปฏิรูปตำรวจ จึงไม่ใช่ของใหม่อะไร คิดทำกันมานานแล้วแต่ไม่เคยสำเร็จเห็นผล

     มาถึงยุครัฐบาล คสช. ที่ชูธงเดินหน้าปฏิรูปทุกอย่างตั้งแต่ทางเท้ายันโครงสร้างประเทศ (ยกเว้นกองทัพ) ‘ตำรวจ’ ก็ไม่ตกขบวนปฏิรูปกับเขาตามระเบียบ

     คสช. มีแนวคิดปฏิรูปตำรวจตั้งแต่ช่วงแรกที่เข้าสู่อำนาจ เห็นได้จากการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็มีข้อเสนอปฏิรูปตำรวจเป็นวาระใหญ่ รัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งถูกคว่ำไป มาจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งบังคับใช้ในปัจจุบันก็บัญญัติชัดเจนให้มีการปฏิรูปตำรวจ เป็นที่มาของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งมี พล.อ. บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีต ผบ.สส. เป็นประธาน ทำหน้าที่เขียนกฎหมายกำหนดทิศทางการปฏิรูปตำรวจไทย สาระสำคัญที่ถกเถียงในกรรมการชุดนี้วนอยู่กับ 3 เรื่องหลักของตำรวจที่เถียงกันมานานคือ

  1. เรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย
  2. การกระจายอำนาจตำรวจไปยังส่วนอื่นๆ เช่น ส่วนภูมิภาค
  3. การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา สาระหลักอยู่ที่เรื่องการทำงานของพนักงานสอบสวน

 

     แต่หากย้อนกลับมาถามคำถามพื้นฐานที่มักไม่ค่อยถามกันคือ ‘การปฏิรูป’ คืออะไร? เงื่อนไขสู่ความสำเร็จมีอะไรบ้าง? มีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่การปฏิรูปตำรวจไทยจะสำเร็จได้ในยุครัฐบาลทหารคสช.?

     เราได้คำตอบของคำถามพื้นฐานเหล่านี้ในห้องประชุมขนาดเล็กของโรงแรมย่านพญาไท ที่งานเสวนาปฏิรูปตำรวจ-เสียงคนนอกและคนในองค์กร จัดโดย มูลนิธิฟรีดริช เอแบร์ต (FES) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย ศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง และอดีตคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ซึ่งพาเราย้อนไปทำความเข้าใจกับคำถามข้างต้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

     งานเสวนานี้มีขึ้นช่วงเช้าของวันที่ 18 ตุลาคม ช่วงเวลาเดียวกับที่คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจประชุมนัดสำคัญกันอยู่ที่รัฐสภา

 

 

การปฏิรูปคืออะไร ทำอย่างไรถึงสำเร็จ?

     ศ.ดร. สุรชาติ เปิดประเด็นด้วยความหมายของการเปลี่ยนแปลงในทางรัฐศาสตร์ว่ามี 2 ทาง คือ การเปลี่ยนแปลงในลักษณะ ‘การปฏิรูป’ กับ ‘การปฏิวัติ’

     โจทย์ใหญ่คือ การเปลี่ยนแปลง 2 แบบนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงทั้งรูปแบบ เนื้อหา และตัวแสดง เพราะนักปฏิวัติแตกต่างจากนักปฏิรูป แม้เป้าหมายปลายทางจะเหมือนกันนั่นคือความเปลี่ยนแปลง แต่กระบวนการขั้นตอนและจุดจบไม่เหมือนกันเลย

     คำว่า ‘การปฏิวัติ’ ความหมายคำนี้ต่างจากที่ใช้ในสังคมไทย เพราะ ‘รัฐประหาร’ ไม่ใช่การปฏิวัติ เป็นเพียงการยึดอำนาจโดยทหารเท่านั้น

     รูปแบบการปฏิวัติที่พูดถึงคือการเปลี่ยนแปลงด้วยความรุนแรง เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน และอุดมคติของนักปฏิวัติคือสังคมใหม่จะเกิดไม่ได้ถ้าไม่ล้างสังคมเก่า

     ความยากลำบากของนักปฏิวัติคือต้องประกาศสงครามกับรัฐ ซึ่งหลักประกันของความสำเร็จมีอย่างเดียวคือการระดมมวลชนเข้าร่วมต่อสู้ หรือ สงครามมวลชน

     วันนี้การปฏิวัติเป็นเรื่องที่อยู่ไกลตัว แต่สังคมที่เคยผ่านการปฏิวัติไม่มีการพูดเรื่องปฏิรูปตำรวจ สังคมที่จบลงด้วยการปฏิวัติพูดเรื่องเดียวคือการปฏิวัติตำรวจ เพราะโครงสร้างองค์กรตำรวจจะถูกเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง

     ขณะที่การปฏิรูป นักปฏิรูปคือผู้ที่สู้อยู่กับระบบเดิม หรือพูดง่ายๆ คือ พวกเขาฝันถึงสังคมใหม่ภายใต้ความล้มเหลวของสังคมเดิม นี่คือโจทย์ที่ยุ่งยากที่สุด นักปฏิรูปจะต้องมีความสามารถทางการเมืองมากกว่านักฏิวัติ และต้องหาหนทางรอดจากการทำลายโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยม รวมถึงจะต้องเข้มแข็งพอจากการยั่วเย้าด้วยอำนาจเงินทองจากผู้มีอำนาจ

     นักปฏิรูปต้องเก่งพอที่จะประคองไม่ให้สังคมที่พวกเขาทำการปฏิรูปนั้นล้มลงเสียก่อน เพราะถ้าล้มลงก่อนสังคมนั้นจะจบลงด้วยการปฏิวัติ

     แต่ในสภาวะอย่างนี้ปัญหาใหญ่คือทำอย่างไรเราจะมีชนชั้นนำที่มีวิสัยทัศน์ ชนชั้นนำที่มีอำนาจแต่ขาดวิสัยทัศน์นั้นเป็นปัญหาใหญ่

     ในสภาพสังคมปัจจุบันนี้เราจะเผชิญกับคนบางกลุ่มที่มีข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปแต่ไม่ต้องปฏิรูป พวกเขาเรียกร้องให้คงสภาพเดิมภายใต้เสื้อคลุมของการปฏิรูป โจทย์ใหญ่ของการปฏิรูปวันนี้คือทำอย่างไรไม่ให้การปฏิรูปเป็นเรื่องของการสร้างภาพ-หาเสียง

     ข้อมูลภาพใหญ่แบบนี้ เตือนใจเราว่า การปฏิรูปเป็นเรื่องใหญ่และอาจจะใหญ่กว่าที่เราคิด ทำอย่างไรที่เราจะผลักดันประเด็นการปฏิรูปของเราเดินไปข้างหน้าให้ได้

 

จุดเริ่มต้นของการปฏิรูปตำรวจไทย มาจากความเกลียดชัง

     จุดเริ่มต้นของข้อเสนอปฏิรูปตำรวจเป็นผลจากกระแสโลกหลังสิ้นสุดสงครามเย็นและการสิ้นสุดของกระแสภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ พาโลกมาสู่การปฏิรูปภาคความมั่นคง ซึ่งก็คือทหารและตำรวจ ซึ่งในสังคมไทยเปิดเวทีพูดคุยเรื่องนี้อยู่บ้าง เราจึงเห็นข้อเสนอปฏิรูปตำรวจในสังคมไทยมานานแต่ไม่สามารถขับเคลื่อนให้เกิดผลได้

     การปฏิรูปตำรวจในปัจจุบันของสังคมไทย มีผลพวงจากการล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งภายใต้ข้อเสนอ ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ สิ่งที่เราเห็นภายใต้ข้อเสนอเช่นนั้น สิ่งที่ถูกเรียกร้องจึงไม่ต่างอะไรจากละครการเมือง ท้ายที่สุดไม่มีความชัดเจนว่าปฏิรูปก่อนเลือกตั้งคืออะไร ความชัดเจนมีเพียงการล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้วตั้งรัฐบาลรัฐประหารขึ้นแทน

     ถ้าเป็นแบบนี้คำตอบที่ชัดเจนคือ การเรียกร้องปฏิรูปตำรวจที่เกิดขึ้นในกระบวนการเช่นนี้ เป็นการเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยไม่มีความชัดเจนว่า ท้ายที่สุดบรรดาผู้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจนั้นต้องการอะไร หรือทั้งหมดเป็นการเรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจที่ผ่านความโกรธและความเกลียดชัง เพราะในสถานการณ์ขณะนั้นตำรวจไม่ได้เข้าร่วมต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

     ถ้าเป็นแบบนี้สิ่งที่เป็นความอันตรายคือทำอย่างไรให้เรื่องการปฏิรูปตำรวจไม่เป็นไปด้วยความสะใจ ทำอย่างไรที่จะให้เป็นการปฏิรูปตำรวจอย่างแท้จริง การปฏิรูปที่เริ่มต้นด้วยความเกลียดชังนั้นจบลงด้วยความแตกแยกและล้มเหลวเสมอ

 

การปฏิรูปโดยรัฐบาลรัฐประหาร คือละครน้ำเน่า

     ศ.ดร. สุรชาติ กล่าวต่อว่า การปฏิรูปจะเกิดขึ้นไม่ได้หากสถานการณ์การเมืองไม่ปกติ ด้วยประสบการณ์ในชีวิตเขาไม่เคยเชื่อว่ารัฐประหารจะเป็นปัจจัยนำพาความสำเร็จให้เกิดการปฏิรูปในสังคมไทย การเมืองที่ไม่ปกติไม่สามารถสร้างความชอบธรรมเพียงพอที่จะสนับสนุนให้เกิดการปฏิรูป หรืออีกนัยยะหนึ่งคือ การปฏิรูปจะทำไม่ได้เลยถ้าการเมืองไร้ความชอบธรรม

     “วันนี้ถ้าการปฏิรูปตำรวจเกิดขึ้นภายใต้การรัฐประหาร การปฏิรูปตำรวจจะกลายเป็นเพียงกลไกของการควบคุม การปฏิรูปตำรวจในยุคแบบนี้จะไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้เลย หรือพูดอีกนัยหนึ่งการปฏิรูปตำรวจภายใต้การเมืองแบบรัฐประหารเป็นเพียงละครน้ำเน่าชุดหนึ่งเท่านั้นเอง” ศ.ดร. สุรชาติ กล่าว

 

ปฏิรูปตำรวจจะสำเร็จ ต้องรอความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

     ศ.ดร. สุรชาติ กล่าวว่า ถ้าการปฏิรูปตำรวจจะเกิดขึ้นได้จริง ข้อเรียกร้องต้องไม่ต่างจากการปฏิรูปกองทัพ คือการปฏิรูปทหารต้องสร้างทหารอาชีพ ส่วนการปฏิรูปตำรวจต้องสร้างตำรวจอาชีพ ถ้าไม่เริ่มจากจุดนี้เราจะตอบอะไรไม่ได้เลย

     ข้อถกเถียงหลายอย่างไม่ใช่ประเด็นที่เป็นสาระหลัก เพราะโจทย์ใหญ่ที่สุดคือการปฏิรูปต้องสร้างองค์กรที่เป็นวิชาชีพให้เกิดขึ้น

     ในสภาวะของการสร้างตำรวจอาชีพ สิ่งที่ต้องคิดต่อคือทำอย่างไรที่จะสร้างประสิทธิภาพ ความรับผิดชอบต่อชุมชน การปฏิบัติที่อยู่ในกรอบของนิติรัฐ การเคารพสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังมีรายละเอียดเรื่องการเลื่อนยศ การปรับย้ายที่เป็นธรรม รวมถึงจะต้องยุติปัญหาใหญ่ที่สุดคือ ‘ส่วยโยกย้าย’ เพราะเป็นจุดเริ่มของการทุจริตในองค์กรตำรวจ

     เราอาจต้องคุยต่อถึงปัญหาสวัสดิการองค์กรตำรวจ ชีวิตจริงของตำรวจไทยทุกคนต้องจ่ายเงินของตัวเองซื้ออาวุธประจำกาย ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำให้ได้คือทำอย่างไรที่วันหนึ่งเราจะต้องนำสิ่งที่เป็นศักดิ์ศรีและความเคารพที่มีต่อตำรวจในสังคมกลับคืน

     ข้อถกวันนี้วนอยู่เพียงจะแยกงานสอบสวนออกจากตำรวจหรือไม่ และการกระจายอำนาจของตำรวจ ทั้งที่ความจริงการกระจายอำนาจของตำรวจเริ่มไม่ได้ในสังคมปัจจุบัน ถ้าจะกระจายอำนาจตำรวจต้องเปลี่ยนโครงสร้างของการกระจายอำนาจทางการเมืองทั้งระบบก่อน

     วันนี้การปฏิรูปต้องเดินให้ได้มากกว่าการถูกด่าที่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่คำถามสำคัญคือภายใต้เงื่อนไขการเมืองที่เราเห็น เราจะผลักดันโจทย์การปฏิรูปตำรวจอย่างไร แต่ส่วนตัวคิดว่าโจทย์ชุดนี้ไม่ได้อยู่กับรัฐบาล แต่อยู่กับรัฐบาลเลือกตั้งปกติ

     “โจทย์ของคณะกรรมการปฏิรูปชุดนี้เหมือนเรานั่งรอการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย และท้ายที่สุดหวังว่าการเปลี่ยนแปลงชุดนี้จะก่อให้เกิดการปฏิรูปตำรวจที่แท้จริง” ศ.ดร. สุรชาติ ทิ้งท้าย

 

ประชุมกรรมการปฏิรูปตำรวจ คืบหน้าไปแล้ว 90%

     ภาพตัดไปที่การประชุมคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจที่รัฐสภา จากการเปิดเผยของ พล.อ. บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานการประชุมนั้นพบว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปสำคัญเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจในเรื่องต่างๆ แล้ว ทั้งการบริหารงานบุคคล การแต่งตั้งโยกย้าย คืบหน้าไปกว่า 90% ส่วนเรื่องภารกิจและอำนาจหน้าที่ รวมถึงเรื่องสืบสวนสอบสวน สำเร็จไปแล้ว 80% ต่อไปจะเดินหน้าหาข้อสรุปเรื่องการถ่วงดุลอำนาจระหว่างพนักงานสอบสวนกับอัยการ

     สำหรับขั้นตอนการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ เมื่อร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจออกมาแล้ว ต้องเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

กระบวนการทั้งหมดนี้ พล.อ. บุญสร้าง คาดว่า 1 เม.ย. 2561 จะได้กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปตำรวจออกมาใช้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

     นั่นหมายความว่าอีกไม่กี่เดือนคณะกรรมการชุดนี้จะร่างกฎหมายแล้วเสร็จ ซึ่งถือว่าประชุมกันถี่และทำงานรวดเร็วมาก แต่คำถามคือนอกจากเชิญบุคคลสำคัญ อาทิ สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. และคนในวงการตำรวจร่วมประชุมรับฟังความเห็นแล้ว กรรมการชุดนี้เคยรับฟังความเห็นของประชาชนทั่วไปบ้างหรือไม่

 

 

เปิดเว็บไซต์รับฟังความเห็น แต่ไม่มีใครเห็น

     THE STANDARD ตรวจสอบข้อมูลพบว่า คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น 4 เวที ใน 4 ภาค เริ่มต้นที่ภาคกลางวันที่ 24 สิงหาคม มีผู้ร่วมเวที 200 คน ปิดท้ายด้วยภาคอีสานจัดเวทีในวันที่ 21 กันยายน ที่โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น

     ขณะที่คณะกรรมการชุดนี้ยังเปิดเว็บไซต์ www.thaipolicereform.org และเฟซบุ๊กรับฟังความคิดเห็นปฏิรูปตำรวจ thaipolicereform รวมถึงตู้ ปณ.193 รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน

     จากการตรวจสอบเว็บไซต์ thaipolicereform.org เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2560 พบว่ามีหัวข้อให้แสดงความคิดเห็นอยู่ 2 เรื่อง คือ ทำอย่างไรจึงจะได้ตำรวจในฝันที่ท่านต้องการ? และตำรวจในฝันของประชาชนควรเป็นอย่างไร? โดยหัวข้อแรกมีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็น 35 ความเห็น ส่วนอีกหัวข้อมี 26 ความเห็น

     ส่วนเพจเฟซบุ๊ก รับฟังความคิดเห็นปฏิรูปตำรวจ มีผู้กดไลก์ 994 คน มีผู้กดติดตาม 1,023 คน เนื้อหาส่วนใหญ่ในเพจคือการเชิญชวนให้คนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นที่เว็บไซต์

     ขณะที่หลังการประชุมวันนี้ (18 ต.ค.) พล.อ. บุญสร้าง กล่าวว่า จากนี้ในเวลาเดือนกว่าๆ ต้องไปรับฟังความเห็นเรื่องใหญ่ๆ จากประชาชน เพราะต้องการเหตุผลในการปรับแก้ ยืนยันว่าฟังเสียงประชาชนมากกว่าอยู่แล้ว แต่หากเสียงตำรวจมีเหตุผลมากกว่า ก็อาจทำตามที่ตำรวจให้เหตุผล ยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงในวงการตำรวจจะต้องเกิดขึ้น ทั้งหมดกำลังทำเพื่อประชาชนที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องดูแลตำรวจด้วย เพื่อให้มีประสิทธิภาพไปดูแลประชาชน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X