วันนี้ (30 ธันวาคม) พล.ต.ท. อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รายงานผลการดำเนินคดีความผิดอาญา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 26 ธันวาคม 2567 รวมทั้งหมดกว่า 500,000 คดี จับกุมได้ 479,516 คดี คิดเป็นร้อยละ 93 แบ่งเป็น
- คดีอาญา 5 กลุ่ม ทั้งหมด 218,421 คดี จับกุมได้ 196,148 คดี ผู้ต้องหา 237,223 ราย
1.1 ประเภทคดีความผิดอุกฉกรรจ์และสะเทือนขวัญ 2,280 คดี จับกุมได้ 2,158 คดี ผู้ต้องหา 3,003 ราย คิดเป็นร้อยละ 95
1.2 ประเภทคดีความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย และเพศ 16,618 คดี จับกุมได้ 15,790 คดี ผู้ต้องหา 21,273 ราย คิดเป็นร้อยละ 95
1.3 ประเภทคดีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ 42,330 คดี จับกุมได้ 39,308 คดี ผู้ต้องหา 47,297 ราย คิดเป็นร้อยละ 93
1.4 ประเภทคดีที่น่าสนใจ 32,582 คดี จับกุมได้ 17,514 คดี ผู้ต้องหา 21,238 ราย คิดเป็นร้อยละ 54
1.5 ประเภทคดีที่รัฐเป็นผู้เสียหาย 124,611 คดี จับกุมได้ 121,378 คดี ผู้ต้องหา 144,412 ราย คิดเป็นร้อยละ 97
- การปราบปรามยาเสพติด นโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งศูนย์อำนวยการปราบปรามยาเสพติด ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมด 249,029 คดี จับกุมได้ 241,607 คดี ผู้ต้องหา 250,878 ราย ในจำนวนนี้เป็นการจับกุมข้อหาความผิดร้ายแรง 34,959 คดี ยึดทรัพย์ 118,836 รายการ มูลค่า 13,000 ล้านบาท ออกหมายจับ 1,362 หมาย ดำเนินคดีฟอกเงิน 208 ราย ยึดของกลางยาเสพติด ยาบ้า 1,026 ล้านเม็ด, ไอซ์ 33,136 กิโลกรัม, เฮโรอีน 1,955 กิโลกรัม, ยาอี 203,692 เม็ด, เคตามีน 5,000 กิโลกรัม และอื่นๆ
- คดีความผิดเฉพาะทาง เช่น ความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ จับกุมได้ 8,050 คดี ผู้ต้องหา 9,422 ราย
- การปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและการพนันออนไลน์ ถือเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนดำเนินการอย่างจริงจังในทุกมิติ รับแจ้งความออนไลน์รวม 305,762 เรื่อง ความเสียหาย 35,416 ล้านบาท ขออายัดบัญชี 336,943 บัญชี อายัดได้ 7,326 ล้านบาท
สถิติประเภทคดีที่เกิดสูงสุด ได้แก่ หลอกซื้อขายสินค้าหรือบริการ (ไม่เป็นขบวนการ), หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ, หลอกให้กู้เงิน, หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center) โดยระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 30 พฤศจิกายน 2567 จับกุมได้ 33,280 คดี ผู้ต้องหา 33,635 ราย ออกหมายจับ 871 หมาย แยกเป็น
4.1 การหลอกลวงออนไลน์ทางด้านการเงิน 2,901 คดี ผู้ต้องหา 2,896 ราย
4.2 การหลอกลวงจำหน่ายสินค้าออนไลน์และสินค้าผิดกฎหมาย 4,858 คดี ผู้ต้องหา 4,973 ราย
4.3 การเผยแพร่ข่าวปลอมและความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 6,117 คดี ผู้ต้องหา 5,857 ราย
4.4 การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและสตรีทางอินเทอร์เน็ต และค้ามนุษย์ 340 คดี ผู้ต้องหา 445 ราย
4.5 การพนันออนไลน์และอาชญากรรมข้ามชาติอื่นๆ 15,395 คดี ผู้ต้องหา 15,885 ราย
4.6 ความผิดประเภทซิมผี บัญชีม้า 3,669 คดี ผู้ต้องหา 3579 ราย
- คดีอื่นๆ จับกุมได้ 431 คดี ผู้ต้องหา 826 ราย
พล.ต.ท. อาชยน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมและคดีที่ประชาชนให้ความสนใจที่สำคัญ ได้แก่
- คดีฉ้อโกง บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด มีผู้เสียหายแจ้งความ 10,352 ราย ยอดความเสียหายเกือบ 3,000 ล้านบาท ออกหมายจับและจับกุมตัวผู้ต้องหา 18 ราย พร้อมยึดอายัดทรัพย์สินหลายรายการ
- คดีฉ้อโกงทอง บริษัท เคทูเอ็น โกลด์ จำกัด (คดีทองแม่ตั๊ก) รวบรวมพยานหลักฐาน ออกหมายจับและจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ 2 ราย ยึดอายัดรถยนต์หรู 6 คัน และเงิน 20 ล้านบาท รวมทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น 70 ล้านบาท พบเป็นผู้เสียหาย 3,827 ราย ความเสียหาย 130 ล้านบาท
- คดีฉ้อโกงประชาชน จับกุมยูทูเบอร์นัตตี้ ออกหมายจับผู้ต้องหา 2 ราย รวม 15 หมายจับ มีผู้เสียหาย 6,000 ราย มูลค่าความเสียหาย 2,000 ล้านบาท ประสานขอความร่วมมือตำรวจต่างประเทศและตำรวจสากล นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 รายกลับมาดำเนินคดีในประเทศได้สำเร็จ
- คดีไฟไหม้รถบัสนักเรียน แจ้งข้อกล่าวหากลุ่มผู้ต้องหา 3 ราย ได้แก่ คนขับรถ เจ้าของรถ และผู้ประกอบการ ในความผิดกระทำการโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส และไม่หยุดแสดงตัวต่อเจ้าพนักงาน และสืบสวนขยายผลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรายอื่น เช่น ผู้ดัดแปลงติดตั้งถังแก๊ส และผู้ตรวจสภาพ
- เปิดยุทธการปราบปรามผู้มีอิทธิพล และจัดตั้งศูนย์ปราบปรามผู้มีอิทธิพล มือปืนรับจ้างและผู้ร้ายรายสำคัญ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอร.ตร.) ปฏิบัติการตรวจค้นจับกุมแก๊งอาชญากรรม, เงินกู้นอกระบบ, ผู้มีอิทธิพล, ฮั้วประมูล, บุกรุกที่สาธารณะ 2 ยุทธการ ได้แก่ ยุทธการ ‘พิทักษ์ประชาราษฎร์ 767’ ตรวจค้น 183 จุด 200 เป้าหมาย จับกุมผู้ต้องหา 87 ราย พร้อมอาวุธปืน 880 กระบอก, อาวุธสงคราม, เครื่องกระสุน 6,946 นัด, ยาบ้า 7,726,626 เม็ด และอื่นๆ จำนวนมาก โดยเป็นคดีที่สำคัญ เช่น แก๊งฮั้วประมูลกำนันนก และแก๊งยาเสพติดจิ๊บ ไผ่เขียว อยุธยา
และยุทธการ ‘CIB ขยี้อิทธิพล’ ตรวจค้น 118 จุด 121 เป้าหมาย จับกุมผู้ต้องหา 102 ราย พร้อมอาวุธปืน, เครื่องกระสุน, ยาเสพติด และของกลางอื่นๆ อีกหลายรายการ โดยเป็นคดีที่สำคัญ เช่น กลุ่มขบวนการโจรกรรมรถทั่วประเทศ, ลักลอบค้าสัตว์ป่า จังหวัดราชบุรี, ตลาดที่มีคนต่างด้าว พื้นที่เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร และยุทธการปราบปรามผู้มีอิทธิพลพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดอื่นๆ
พร้อมกันนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดสวัสดิการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการตำรวจ ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินโดยเร่งรัดแก้ไขปัญหาในกลุ่มสีแดง (ถูกฟ้อง) และกลุ่มอื่นๆ ในภาพรวม รวมทั้งปลูกฝังความรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับการบริหารการเงินและวินัยทางการเงิน รวมทั้งความรู้เรื่องการลงทุนและการออมให้แก่ตำรวจตั้งแต่เป็นนักเรียนตำรวจ และบรรจุลงในหลักสูตรต่างๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีข้าราชการตำรวจและลูกจ้างสมัครเข้าร่วมโครงการ 11,810 ราย แก้ไขหนี้สินสำเร็จ 7,835 ราย เป็นเงิน 10,804 ล้านบาท
พล.ต.ท. อาชยน ระบุว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมุ่งมั่นขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลและปรับวิธีคิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เร่งปราบปรามอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างจริงจังต่อเนื่อง โดยเฉพาะคดียาเสพติด อาชญากรรมออนไลน์ ฉ้อโกงประชาชน ผู้มีอิทธิพล ฯลฯ เน้นการปฏิบัติหน้าที่ตามยุทธวิธีตำรวจ หลักกฎหมาย สุจริต โปร่งใส เพื่อให้ความผาสุกเกิดแก่ประชาชนต่อไป