วานนี้ (12 พฤศจิกายน) เวลา 10.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นของนครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา) แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบปะหารือกับ เออร์วิง แทน รองประธานบริหารฝ่ายปฏิบัติงานทั่วโลก และว่าที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล หรือ WD ณ โรงแรมเบเวอร์ลี วิลเชอร์ โฟร์ซีซันส์ โดยมี มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะ เข้าร่วมด้วย
นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีที่ได้พบกับ เออร์วิง แทน พร้อมเน้นย้ำว่า WD เป็นบริษัทพันธมิตรด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของไทย ซึ่งไทยยินดีที่ได้ทราบว่า เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา WD ได้รับอนุมัติการขยายการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI จึงขอยืนยันว่าไทยพร้อมที่จะหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือเพิ่มเติมกันต่อไป
โอกาสนี้ทั้งสองฝ่ายหารือแนวทางการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องการผลักดัน ขณะเดียวกันยังเน้นย้ำถึงความต่อเนื่องในนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ การอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ และการส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยเฉพาะด้านดิจิทัล ฉะนั้นขอยืนยันว่าไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมบทบาทความร่วมมือกับภาคเอกชนครอบคลุมทุกมิติ
นอกจากนี้ยังหารือเกี่ยวกับแผนการลงทุนในไทยในอนาคตของ WD โดยนายกรัฐมนตรีสอบถามแผนการลงทุนในไทยเพิ่มเติมและรับฟังข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการดำเนินธุรกิจต่อไป
พบค่ายหนังยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ
จากนั้น เวลา 10.30 น. นายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงรับรองเพื่อสร้างเครือข่าย (Networking Reception) กับ ชาร์ลส์ เอช. ริฟกิน ผู้บริหารบริษัท Motion Picture พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทภาพยนตร์ชั้นนำของสหรัฐฯ และบริษัทสร้างภาพยนตร์อื่นๆ ประกอบด้วย Walt Disney, HBO, Warner Bros., Amazon, GMM Studios, NBCUniversal Media, LLC, Netflix, Sony Pictures Entertainment และ Paramount Pictures ณ โรงแรมเบเวอร์ลี วิลเชอร์ โฟร์ซีซันส์
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการถ่ายทำภาพยนตร์ว่าเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่จะส่งเสริม Soft Power ของไทย ซึ่งไทยสามารถเรียนรู้จากสหรัฐฯ ซึ่งมี Soft Power ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า เมื่อปีที่ผ่านมามีการถ่ายทำภาพยนตร์กว่า 450 เรื่องจาก 40 ประเทศในประเทศไทย สร้างรายได้ประมาณ 190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งผู้สร้างภาพยนตร์สหรัฐฯ เป็นกลุ่มนักลงทุนอันดับหนึ่ง โดยมีภาพยนตร์ 34 เรื่องที่ถ่ายทำในไทย
รัฐบาลส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย โดยไทยทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย เช่น เพิ่มสิทธิประโยชน์ในรูปแบบของการคืนเงินสูงสุดที่อัตราร้อยละ 30 และไม่กำหนดเพดานคืนเงินสูงสุดต่อโครงการด้วย
จากนั้น เวลา 11.30 น. นายกรัฐมนตรีเปิดเผยถึงการหารือกับภาคเอกชนในนครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ว่าหารือกับบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล หรือ WD ซึ่งมีโรงงานอยู่ที่ประเทศไทยแล้ว 2 แห่ง ประกอบด้วยพระนครศรีอยุธยาและปราจีนบุรี ซึ่งเรื่องฮาร์ดไดรฟ์เป็นหลัก และมีลูกค้าอย่าง Google, Microsoft และ Amazon
การเดินทางมาครั้งนี้ WD ผลักดันเรื่องพลังงานสะอาดเพิ่มมากยิ่งขึ้น จึงถือเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยที่จะประสานงานและส่งเสริมตรงนี้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก WD ตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2030 จะเดินหน้าใช้พลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้นจาก 50% กลายเป็น 100% ทางบริษัทจึงขอความร่วมมือรัฐบาลไทยและ BOI ให้สนับสนุนในเรื่องนี้
จึงเชื่อว่าเรื่องนี้จะเกิดโอกาสการสร้างรายได้ใหม่ๆ เกิดโอกาสการจ้างงาน และเกิดงานใหม่ๆ ให้กับคนไทยแน่นอน แต่การที่จะให้คนไทยไปทำงานในบริษัทเหล่านี้จะต้องส่งเสริมต่างชาติในเรื่องของภาษาและทักษะด้วย เพื่อให้ตอนเข้าไปทำงานจะปรับตัวง่ายขึ้นและสื่อสารได้ ฉะนั้นต้องพูดคุยกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ต่อเพื่อให้เรามีศักยภาพที่เพียงพอ
นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า พูดคุยกันถึงเรื่องอัปสกิลและรีสกิลด้วย โดยไทยบอกไปแล้วว่าต้องการจะขับเคลื่อน 2 สิ่งนี้เพื่อพัฒนาบุคลากรในประเทศ ซึ่งไทยมีนโยบาย Soft Power ที่ทำเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะอยากให้คนไทยมีทักษะการทำงานเกี่ยวกับสาขาเทคโนโลยี, AI และการวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นต่อจากนี้จะประสานให้ความรู้ และทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ ของประเทศไทย เปิดศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D Center) ร่วมกัน เพื่อสร้างงานและสร้างอาชีพให้กับคนไทย
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังเปิดเผยต่อว่า พูดคุยกับบริษัท Motion Picture และบริษัทอื่นๆ เช่น HBO, Amazon, Netflix, Disney และ Universal Studios ซึ่งบริษัทเหล่านี้ลงทุนและถ่ายทำในประเทศไทยอยู่แล้ว โดยปีที่แล้วปีเดียวมีภาพยนตร์มาถ่ายที่เมืองไทยถึง 450 เรื่องจาก 40 ประเทศ ขณะที่สหรัฐอเมริกาที่เดียวมีจำนวน 34 เรื่อง จึงถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก
วันนี้ไทยประกาศว่ารัฐบาลมีมาตรการให้สิทธิประโยชน์ในเรื่องของ Cash Rebate กับภาคเอกชน กล่าวคือเมื่อมาถ่ายทำในประเทศไทยจะได้รับเงินคืน โดยไทยเพิ่มสิทธิประโยชน์ในรูปแบบของการคืนเงินสูงสุด 30% จากเดิม 20% และเมื่อคุยกับทุกๆ บริษัทก็พบว่าทุกคนดีใจมาก เพราะแทนที่จะไปถ่ายทำในประเทศอื่นใกล้ๆ เรา กลายเป็นมาลงทุนในประเทศไทยแทน
ทางบริษัทต่างๆ จึงตื่นเต้นมากในเรื่องนี้ และระบุว่าจะกลับไปบอกคนในธุรกิจของเขาว่าประเทศไทยมีนโยบายนี้และผ่านแล้ว เพื่อที่ทุกคนจะได้มาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นอีก ซึ่งฟังแล้วก็น่าดีใจ เพราะเขารู้สึกว่าเป็นเรื่องดี ขณะเดียวกันตนก็เชื่อว่าเรื่องนี้จะเพิ่มโอกาสให้กับคนไทยด้วย เพราะจะเกิดการจ้างงานมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนอยากเห็น
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังระบุว่า รัฐบาลพยายามจะสร้างอีโคซิสเต็มในเรื่องของภาพยนตร์เหล่านี้ โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเขียนบท การถ่ายทำ และทุกอย่างที่เกี่ยวกับการถ่ายทำภาพยนตร์ทั้งหมด เพื่อให้ทำงานเป็นระบบมากยิ่งขึ้น โดยจะพยายามร่วมมือกันให้คนไทยมีความรู้และมีอาชีพ เพื่อให้สามารถแข่งขันบนเวทีโลกได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า พูดคุยกันถึงมาตรการลดขั้นตอนทางกฎหมายต่างๆ เพื่อให้เกิดความสะดวกและเป็นแรงจูงใจในการลงทุนเพิ่มมากขึ้นด้วย โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีกล่าวยืนยันว่าการเดินทางมาเยือนลอสแอนเจลิสในครั้งนี้ รัฐบาลขับเคลื่อนไปหลายอย่าง เช่น การดึงดูดการลงทุน และยกระดับการพัฒนาศักยภาพของคนไทย ด้วยเหตุนี้จึงรู้สึกว่าการมาตอกย้ำในเรื่องการลงทุนด้วยตัวเองทำให้ภาคเอกชนมั่นใจว่าเรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน