วันนี้ (9 ตุลาคม) เวลา 11.50 น. ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติ (National Convention Centre: NCC) เวียงจันทน์ สปป.ลาว แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 45 (แบบไม่เป็นทางการ) โดย จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีเห็นพ้องและมีความกังวลที่โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อนมากขึ้น และความมั่นคงของภูมิภาคอาเซียนกำลังถูกหล่อหลอมโดยปัจจัยภายนอกมากขึ้น การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจและความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกทำให้ขาดความไว้วางใจ ควบคู่ไปกับความเป็นพหุภาคีนิยมและภูมิภาคนิยมอ่อนแอลง
โดยอาเซียนต้องมุ่งมั่นในการเสริมสร้างประชาคม รักษาและคงความเป็นอาเซียนที่แข็งแกร่งและเป็นหนึ่งเดียว รวมถึงทำให้กรอบการทำงานที่อาเซียนเป็นผู้นำมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับพันธมิตรภายนอก ผ่านการหารือและความร่วมมือแบบครอบคลุมภายใต้มุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก
ทั้งนี้อาเซียนจะต้องมีจุดยืนที่เป็นหลักการแต่ไม่เลือกข้างในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคและประชาชน ขณะที่การแข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจ ทะเลจีนใต้ถือเป็นจุดความขัดแย้ง ไทยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจ หลีกเลี่ยงการกระทำที่ยั่วยุ และร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์เพื่อแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติ
ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะสรุปการเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct: CoC) ที่มีประสิทธิผลและเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุดตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในระหว่างนี้จะต้องรับรองเสรีภาพในการเดินเรือและการบินเหนือทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าสำคัญที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยมีความกังวลเช่นเดียวกันกับทั่วโลกเกี่ยวกับสถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงวิกฤตด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา ไทยสนับสนุนความพยายามทั้งหมดในการบรรลุข้อตกลงการหยุดยิง การปล่อยตัวพลเรือนทุกคนอย่างไม่มีเงื่อนไข รวมถึงพลเมืองอาเซียน ตลอดจนการเข้าถึงบริการด้านมนุษยธรรมอย่างไม่มีข้อจำกัด และสนับสนุนการแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติ เพื่อบรรลุแนวทางสองรัฐ (Two-State Solution)
ไทยพร้อมนำสันติภาพกลับสู่เมียนมา
สำหรับประเด็นเมียนมา ไทยให้ความสำคัญสูงสุดในฐานะเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนยาวกว่า 2,400 กิโลเมตร ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งตั้งแต่ผู้พลัดถิ่น การอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย การหยุดชะงักทางการค้าและการดำรงชีวิต ปัญหาสุขภาพของประชาชน ไปจนถึงอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะยาเสพติดและการหลอกลวงออนไลน์ ดังนี้
- ไทยจะทำงานร่วมกับมิตรประเทศในอาเซียนและภายนอกเพื่อเมียนมาที่สงบสุข มั่นคง และเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศในภูมิภาคนี้
- ไทยจะมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในการนำสันติภาพในเมียนมากลับคืนมา โดยจะเพิ่มความร่วมมือทวิภาคีกับเมียนมา และสนับสนุนกระบวนการอาเซียนต่อไป ไทยชื่นชมการทำงานของ สปป. ลาว ในฐานะประธานอาเซียน โดยเฉพาะผู้แทนพิเศษเรื่องเมียนมาของประธานอาเซียน (Special Envoy) อาลุนแก้ว และไทยจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับมาเลเซีย ประธานอาเซียนในวาระต่อไป
- อาเซียนควรเป็นหนึ่งเดียวในการส่งสารถึงทุกฝ่ายในเมียนมาว่า การใช้กำลังทางทหารไม่ใช่ทางออก เป็นเวลาที่ต้องเริ่มพูดคุยกัน ประเทศไทยพร้อมที่จะช่วยเหลือ สิ่งสำคัญคือให้ทุกฝ่ายกลับเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองและหาทางออกทางการเมือง
- อาเซียนควรเร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในระยะสั้นและเร่งการพัฒนาเมียนมาในระยะยาว โดยประเทศไทยได้บริจาคเงิน 290,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้กับศูนย์ AHA เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมา และประเทศไทยพร้อมที่จะช่วยเหลือชาวเมียนมามากขึ้น
ปีหน้าผู้นำสิงคโปร์เยือนไทย ครบรอบ 60 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต
นายกรัฐมนตรียังได้หารือทวิภาคีกับ ลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44-45 เพื่อสานต่อความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนสำคัญในทุกมิติของทั้งสองประเทศ
ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังนี้ โดยประเทศสิงคโปร์เป็นอันดับหนึ่งที่ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในไทย ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัล AI รวมถึง Digital transportation และต้องการให้สิงคโปร์ช่วยสนับสนุน
นอกจากนี้ไทยกับสิงคโปร์ยังมีความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยไทยอยากให้สิงคโปร์สนับสนุนสำหรับการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรและอาหารของไทย เช่น ไข่ออร์แกนิก เนื้อหมู ส่วนในด้านการท่องเที่ยวจำเป็นต้องสนับสนุนและเพิ่มการท่องเที่ยวระหว่างกันให้มากขึ้น รวมถึงความร่วมมือทางการทหาร ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะขยายความตกลงในการฝึกซ้อมของเหล่าทัพร่วมกัน พร้อมทั้งสานต่อความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และปัญหาภัยธรรมชาติ
นายกรัฐมนตรียืนยันกับทางสิงคโปร์ว่า พร้อมให้การต้อนรับประธานาธิบดีสิงคโปร์ในห้วงการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในโอกาสครบรอบ 60 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต ในปีหน้าด้วย
ส่งเสริมอัตลักษณ์อาเซียน
จากนั้นเวลา 13.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น สปป.ลาว นายกรัฐมนตรี ร่วมกล่าวปาฐกถาในการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter – Parliamentary Assembly: AIPA) ถึงความท้าทายที่กำลังเผชิญอยู่ว่า ความพยายามของรัฐบาลเพียงอย่างเดียวไม่สามารถบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นชุมชนที่เจริญรุ่งเรืองและมีประชาชนเป็นศูนย์กลางได้
AIPA ซึ่งเป็นตัวแทนของเสียงของประชาชนอาเซียนจึงมีบทบาทสำคัญในการบูรณาการอย่างกลมกลืน การกำหนดกรอบกฎหมายที่มีประสิทธิภาพเพื่อความยั่งยืนและความมั่นคงของมนุษย์ และการส่งเสริมอัตลักษณ์ของอาเซียน ซึ่งในปี 2025 อาเซียนจะเปิดตัววิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนปี 2045 (ASEAN Community Vision 2045)
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรียืนยันว่าจะสนับสนุน AIPA รวมทั้งการมีส่วนร่วมระหว่าง ASEAN และ AIPA ผ่านสำนักงานเลขาธิการอาเซียน เพื่อการทำงานร่วมกันในช่วงเวลาที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้