เครดิตบูโรเผย หนี้เสียคนไทย (NPL) พุ่งต่อเนื่องถึง 12.2% ทะลุ 1.15 ล้านล้านบาทแล้ว ขณะที่ยอดปล่อยสินเชื่อโดยรวมบวกเพียง 1.3% เท่านั้นในไตรมาส 2 จับตาไตรมาส 3 ยอด NPL อาจแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หากรายได้ประชาชนไม่ฟื้น
วันนี้ (14 สิงหาคม) สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยกับ THE STANDARD เกี่ยวกับภาพรวมสินเชื่อผู้บริโภคไทยในไตรมาสที่ 2 โดยระบุว่า หนี้เสียที่ค้างชำระเกิน 90 วัน (NPL) ในไตรมาสที่ 2 พุ่งต่อเนื่องถึง 12.2% ขณะที่จำนวนสินเชื่อโดยรวมทั้งระบบขยายตัวเพียง 1.3% เท่านั้น
โดยจำนวนสินเชื่อผู้บริโภคโดยรวมทั้งระบบ (Total Consumer Loan) อยู่ที่ 13.63 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพียง 1.3%YoY นับว่าชะลอตัวอย่างมากจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวราว 3% สะท้อนว่าสถาบันการเงินคุมเข้มมาตรฐานการให้สินเชื่อมากขึ้น
ตามรายงานผลการสำรวจภาวะและแนวโน้มสินเชื่อ (Credit Conditions Report) ประจำไตรมาส 2 ปี 2567 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระบุว่า มาตรฐานการให้สินเชื่อภาคครัวเรือนในไตรมาส 2 ปี 2567 เข้มงวดขึ้นในทุกประเภทสินเชื่อ โดยสถาบันการเงินส่วนใหญ่มีความกังวลต่อความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจ และจากความน่าเชื่อถือด้านเครดิตของผู้กู้
คนดิ้นหาสภาพคล่อง ดันสินเชื่อ Nano Finance ดอกสูง พุ่ง 26.8%
สุรพลกล่าวอีกว่า การขยายตัวสินเชื่อเพียงแค่ 1.3% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสินเชื่อ Nano Finance ที่มีดอกเบี้ยสูง ขยายตัวถึง 26.8% สะท้อนว่าผู้คนที่ขาดสภาพคล่องกำลังไม่มีทางเลือก สวนทางกับสินเชื่อรถยนต์ที่หดตัว 3.2% และสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตที่โตไม่ถึง 3%
หนี้เสียคนไทยจ่อทำนิวไฮสูงกว่าช่วงโควิด
หนี้เสีย (NPL) ค้างชำระเกิน 90 วัน ในไตรมาส 2 ของปี 2567 เพิ่มขึ้น 12.2% โดยจำนวนนี้นำโดยหนี้สหกรณ์ที่เพิ่มขึ้น 54.7% ตามมาด้วยหนี้รถยนต์ หนี้บ้าน หนี้ Nano Finance ที่เพิ่มขึ้น 29.7%, 23.2% และ 22.0% ตามลำดับ
สุรพลคาดว่า หนี้เสียที่ตอนนี้ทะลุ 1.15 ล้านล้านบาทแล้ว คาดว่าจะปรับตัวขึ้นต่อเนื่องไปสู่ระดับ 1.2 ล้านล้านบาทในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ซึ่งถือเป็นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากการปรับโครงสร้างหนี้มีแนวโน้มทำได้ยากขึ้น เนื่องมาจากรายได้ของผู้คนเพิ่มไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกขยายตัว 1.5% เท่านั้น ขณะที่ GDP ไตรมาส 2 ซึ่งจะประกาศวันที่ 19 สิงหาคมนี้ หลายฝ่ายรวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่า จะขยายตัวได้ราว 2% ส่วน GDP ทั้งปี 2567 นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักประเมินว่าไม่น่าเกิน 3%
จับตาหนี้เสียบัตรเครดิต
สำหรับหนี้เสียบัตรเครดิต (NPL) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 21.5% ขณะที่ยอดค้างชำระ 31-90 วัน (SM) พุ่ง 31.3% ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ นับว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นอัตราจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต (Minimum Payment) เป็น 8% เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 จากระดับ 5% ในช่วงโควิด
ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ธปท. ประกาศตรึงอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิตที่ 8% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2568 จากเดิมที่กำหนดให้อัตราดังกล่าวกลับสู่เกณฑ์ปกติที่ 10% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568
“เราไม่รู้ว่ามาตรการของแบงก์ชาติที่ให้ตรึงอัตราจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตไว้ที่ 8% จะทำให้หนี้กำลังจะเสีย (SM) ที่ค้างชำระ 31-90 วันของบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นต่อไปในไตรมาส 3 หรือไม่” สุรพลกล่าว