×

เผยคนไทยคิดสั้น พยายามฆ่าตัวตายชั่วโมงละ 6 คน เหตุชีวิตที่เร่งรีบทำให้ขาดการยั้งคิด

10.09.2018
  • LOADING...

วันที่ 10 กันยายนของทุกปี เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ปีนี้สมาคมป้องกันการฆ่าตัวตายนานาชาติ ได้เรียกร้องให้ทุกประเทศรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน และสังคม ร่วมมือกันเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย เนื่องจากเป็นปัญหาที่สามารถป้องกันได้

 

ขณะที่ นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า สถานการณ์ของประเทศไทย ทีมวิชาการได้ประมาณการว่าแต่ละปี มีผู้พยายามทำร้ายตัวเองเพื่อฆ่าตัวตายประมาณ 53,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน กระจายอยู่ทุกชุมชน ส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงาน

 

ในปี 2559 มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จจำนวน 4,131 คน เป็นชายมากกว่าผู้หญิง 4 เท่าตัว อายุต่ำสุด 10 ปี สูงสุด 100 ปี ส่วนใหญ่เป็นโสด ประเทศต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละกว่า 400 ล้านบาท

 

ต้นเหตุที่มักพบได้บ่อยที่สุดมาจาก 5 เรื่อง คือ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล สุรา ยาเสพติด สังคม และเศรษฐกิจ

 

ผู้ชายมักมีปัจจัยความเสี่ยงมาจากปัญหาโรคทางจิต ดื่มสุรา ใช้ยาเสพติด โดยเฉพาะการดื่มสุรามากขึ้นจะมีโอกาสลงมือทำร้ายตัวเองมากกว่าผู้หญิงที่มีปัญหาถึง 2 เท่า

 

ผู้หญิงมักมีสาเหตุมาจากความสัมพันธ์ได้แก่ น้อยใจ ถูกตำหนิดุด่า ผิดหวังจากความรัก

 

“สภาพวิถีชีวิตของคนไทยขณะนี้น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในเขตเมือง ซึ่งจะเริ่มคุ้นเคยกับการดำรงชีวิตแบบเร่งด่วน เร่งรีบ หรือที่เรียกว่า ‘ควิก-ควิก’ (Quick-Quick) ความเคยชินอาจจะมีผลทำให้มีรูปแบบความคิดแบบเร่งรีบอย่างไม่รู้ตัวตามไปด้วย

 

“เมื่อเผชิญกับแรงกดดันความเครียดต่างๆ ผู้ที่มีความคิดแบบนี้ อาจลงมือแก้ปัญหาแบบมุทะลุ หุนหันพลันแล่น มีโอกาสผิดพลาดได้สูง เพราะขาดการไตร่ตรอง ขาดความยั้งคิด” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

 

แม้ว่าปัญหาการฆ่าตัวตายจะเริ่มมาจากปัจเจกบุคคล และมีความยุ่งยากสลับซับซ้อนก็ตาม แต่ก็ไม่ยากเกินแก้ โดยสังคมทุกภาคส่วนทั้งภาคสาธารณสุขและภาคประชาชนต้องร่วมมือป้องกันแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งหลักฐานทางวิชาการทั่วโลกยอมรับว่าเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุด โดยขอให้ร่วมมือกันอัดฉีดวัคซีน 3 ส. ป้องกันปัญหาฆ่าตัวตาย

 

เริ่มจากครอบครัวซึ่งเป็นพลังสำคัญและอยู่ใกล้ปัญหาที่สุด

 

ส. ที่ 1 คือ การมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน (Connect) ไม่ห่างเหินและใกล้ชิดจนเกินไป

 

ส. ที่ 2 ได้แก่ การสื่อสารที่ดีต่อกัน (Communication) โดยบอกความรู้สึกตัวเองอย่างจริงจัง มีภาษาท่าทางที่เป็นมิตรต่อกัน เช่น สบตา ยิ้ม โอบกอด และการสัมผัส จะช่วยให้คนในครอบครัวเกิดพลังที่เข้มแข็งและ

 

ส. ที่ 3 คือ ใส่ใจรับฟัง (Care) คือ มีเวลาให้คนในครอบครัว ทำกิจกรรมร่วมกัน และดูแลช่วยเหลือเมื่อมีปัญหา

 

สำหรับประชาชนทั่วไป การดูแลจิตใจซึ่งกันและกัน ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกันอย่างสม่ำเสมอ รับฟัง ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่กำลังมีปัญหาอย่างใส่ใจ เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถช่วยคนให้พ้นจากห้วงของความทุกข์ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือเรียนมาทางด้านนี้ก็ได้

 

หากยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ แนะนำให้โทรปรึกษาขอความช่วยเหลือได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising