วันนี้ (2 ก.ย.) ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวภาวะสังคมไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 โดยในประเด็นการอ่านหนังสือ พบว่า คนไทยอ่านและใช้เวลาอ่านเพิ่มขึ้น แต่เด็กวัยเรียนยังมีปัญหาอ่านไม่ออกและขาดทักษะด้านการอ่าน
ในปี 2561 คนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปอ่านหนังสือและอ่านบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์คิดเป็นร้อยละ 78.8 หรือ 49.7 ล้านคน และใช้ระยะเวลาในการอ่านเฉลี่ย 80 นาทีต่อวัน
แม้โดยภาพรวมการอ่านของคนไทยจะดีขึ้นทั้งในแง่จำนวนคนอ่านและเวลาที่ใช้ในการอ่าน แต่ยังมีประเด็นที่ต้องเร่งแก้ไข ดังนี้
1. ประชากร 13.7 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 21.2 ไม่อ่าน สะท้อนว่ากิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
2. เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ประมาณ 1.1 ล้านคน หรือร้อยละ 24.8 ไม่ได้อ่าน เพราะถูกมองว่าเด็กเกินไป และ 1.45 แสนคน อ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพียงอย่างเดียว ซึ่งจำเป็นต้องรณรงค์ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจกับพ่อแม่และสังคมให้มากขึ้น เนื่องจากการส่งเสริมการอ่านแก่เด็กที่เหมาะสมตามพัฒนาการจะช่วยสนับสนุนให้เด็กเล็กก่อนวัยเรียนมีโอกาสได้อ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น และการปล่อยให้เด็กอยู่กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากเกินไปอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงหลายด้านโดยเฉพาะต่อพัฒนาการด้านการเรียนรู้
3. เด็กวัยเรียนอายุ 6-14 ปี ประมาณ 5.1 แสนคน หรือร้อยละ 7.3 ยังมีปัญหาอ่านไม่ออกและอ่านไม่คล่อง สะท้อนให้เห็นว่าการจัดการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานยังมีปัญหาที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการแก้ไข ทั้งในด้านหลักสูตรและวิธีการจัดการเรียนการสอน
4. เด็กไทยยังขาดทักษะการอ่าน พิจารณาจากผลการประเมิน PISA 2000 จนถึง PISA 2015 พบว่า ในกลุ่มนักเรียนอายุ 15 ปียังมีปัญหาเรื่องทักษะการอ่าน โดยมีคะแนนเฉลี่ยที่ 409 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ และต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียด้วยกัน ทั้งนี้มีนักเรียนประมาณครึ่งหนึ่งยังมีระดับการรู้เรื่องการอ่านไม่ถึงระดับพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงในการที่จะศึกษาต่อและการเป็นแรงงานที่มีคุณค่าของประเทศ และเกือบไม่มีนักเรียนที่มีทักษะการอ่านถึงระดับสูง
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า