สงครามที่เกิดขึ้นระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสจากปาเลสไตน์เข้าสู่วันที่ 4 แล้ว และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ มีแต่ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และที่น่ากังวลใจและเป็นห่วงที่สุดคือชะตากรรมของพี่น้องคนไทยที่อยู่ในอิสราเอล ทั้งผู้บาดเจ็บ ล้มตาย และถูกจับไปเป็นตัวประกัน
THE STANDARD รวมถึงพี่น้องคนไทยมีความห่วงใยตัวประกันคนไทยทั้ง 11 ราย ซึ่งวันนี้ยังไม่รู้ว่าคนที่ถูกจับไปเป็นตัวประกันเป็นตายร้ายดีอย่างไร ครอบครัวที่รอคอยอย่างมีความหวังที่เมืองไทยได้แต่สวดมนต์ภาวนาขอให้ลูกหลานของตัวเองปลอดภัย
เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 1,500 ราย และเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ทางอิสราเอลได้ประกาศปิดล้อมฉนวนกาซาโดยสมบูรณ์ มีการตัดไฟ ระงับขนส่งเสบียงและอาหาร ขณะที่กลุ่มฮามาสเองออกมาขู่ว่าจะสังหารตัวประกัน 1 ราย ถ้าอิสราเอลบุกโจมตีบริเวณฉนวนกาซา 1 ครั้ง โดยที่ไม่มีการประกาศเตือนก่อน
ดูเหมือนสงครามครั้งนี้จะไม่จบลงง่ายๆ ต่างฝ่ายต่างมีจุดยืนตามที่ตัวเองต้องการ ฮามาสก็ต้องการความเปลี่ยนแปลง โดยใช้การสู้รบในครั้งนี้ให้ประชาคมโลกได้เห็นว่าอิสราเอลทำอะไรกับพวกเขาไว้บ้าง ทางฝั่งของอิสราเอลเองก็ต้องการรักษาอธิปไตยของตัวเองเอาไว้ และมองว่าการเปลี่ยนแปลงยังเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นในขณะนี้
ส่วนท่าทีของประเทศไทยเราจะวางตัวอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น วันนี้จึงได้เชิญนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญมาเล่าให้ฟังว่า ฮามาสกับอิสราเอลจะสงบศึกกันอย่างไร หรือจะยืดเยื้อไปเรื่อยๆ โดยมี จรัญ มะลูลีม อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิรัฐศาสตร์ และอดีตอาจารย์หลายมหาวิทยาลัย มาเปิดมุมมองต่อเหตุการณ์ดังกล่าว
จรัญมองสถานการณ์ 4 วันที่มีการสู้รบกันว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเร็วมากจนไม่ทันได้ตั้งตัว และอีกอย่างที่เป็นคำถามคือ อาวุธเหล่านี้มาจากฮามาสเองหรือผู้อื่น ฮามาสเลือกการสู้รบ เพราะคิดว่ายิ่งเจรจายิ่งสูญเสียดินแดน แต่หันมาต่อสู้แบบอาวุธอาจสูญเสียผู้คน แต่ดินแดนยังอยู่ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลของฮามาสเอง
แต่ตนแปลกใจมากว่าต้องมีความพยายามในการพัฒนาอาวุธจนถึงขั้นนี้ได้ ส่วนเรื่องที่ว่าอิหร่านจะส่งอาวุธเข้ามานั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะระบบการตรวจสอบนั้นอิสราเอลดูแลทุกอย่าง จึงเป็นเหตุผลว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องมีการวางแผนและเตรียมการมาแล้ว แต่ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์นี้ ฮามาสมีเหตุการณ์ที่จะต้องลุกขึ้นมาสู้ ซึ่งเกิดจากการไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกกีดกัน โดดเดี่ยว นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่เกิดการลุกฮือขึ้นมา
ด้านโกวิทได้ขยายความคำว่าฉนวนกาซาว่าเป็นแผ่นดินแคบๆ เล็กมากๆ เล็กกว่าจังหวัดสมุทรสงครามของประเทศไทยเสียอีก ด้านหนึ่งติดกับอียิปต์ อีกด้านติดกับอิสราเอลและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีประชากรอาศัยอยู่ 2.3 ล้านคน ความหนาแน่นเป็นอันดับ 3 ของโลก จึงน่าคิดว่าอยู่ได้อย่างไร และการทำสงครามแบบนี้มันเปลืองและหมดเร็ว ดูอย่างยูเครนที่รบกับรัสเซีย
“ปัญหาการทำสงครามคือการชักใยอยู่ข้างหลังกันมากกว่า ยกตัวอย่างนายกรัฐมนตรีของอิสราเอลกลับออกมาประกาศว่าจะจับมือกับซาอุดีอาระเบีย และตอนนี้เหลือใครที่จะสู้ ซึ่งก็คืออิหร่าน แล้วอิหร่านก็ไม่ใช่อาหรับด้วย เพราะฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นผมว่าทำอย่างไรก็ได้ที่จะเกิดข้อตกลงที่จะจับมือกันระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิสราเอลให้ได้ โดยหลักการแล้วกลุ่มฮามาสพร้อมที่จะรบอยู่แล้ว เพราะสไตล์ของเขาคือการพลีชีพ” โกวิทกล่าว
ทั้งนี้โกวิทยังให้เหตุผลอีกว่า การที่อิสราเอลประกาศจะเอาคืนนั้น มติส่วนใหญ่ของชาวโลกก็อยู่ข้างอิสราเอลเพราะโดนโจมตีหนัก แต่ถ้าจะบุกโจมตีกลับจริงๆ ความหนาแน่นของประชากรในฉนวนกาซาอาจทำให้คนตายเป็นแสน ตนมองว่ามติมหาชนต้องเปลี่ยน เพราะอาจเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไปเลย ถ้าจะโจมตีให้เป็นผุยผงตนเห็นว่าเกินไป
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีคำถามถึงตัวประกันที่ทางกลุ่มฮามาสจับไปว่า เหตุใดต้องจับคนชาติอื่น รวมถึงประเทศไทยด้วย โกวิทให้ความเห็นว่า ก็คงจะจับไปก่อน เพราะจำนวนคนไทยมีอยู่ 30,000 ราย ถือว่าเป็นจำนวนมาก ไปทางไหนก็เจอ
ส่วนจรัญเสริมว่า จริงๆ การจับตัวประกันที่เป็นชาติอื่นเขาจะไม่ทำและจะไม่ฆ่า การกราดยิงอาจเป็นความเข้าใจผิดของทางอิสราเอลเองที่คิดว่าคนเหล่านั้นเป็นกลุ่มก้อนของปาเลสไตน์ ต้องติดตามข่าวนี้ให้ดีๆ เพราะวิธีของฮามาสไม่ใช่แบบนั้น จะต้องแยกว่ากลุ่มกองกำลังที่เข้ามานั้นเป็นของฝ่ายไหน เพราะการต่อสู้ของฮามาสที่ผ่านมาเป็นการต่อสู้ทางทหาร ซึ่งการต่อสู้ของกลุ่มฮามาสมีแนวโน้มว่าสู้เต็มที่ แต่เขาก็รู้ว่าจะถูกตอบโต้เต็มที่เหมือนกัน
“คิดว่าคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันไม่ได้เกี่ยวข้องกับทั้งสองฝ่าย ฮามาสต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อชาวโลกด้วย ผมคิดว่าพอมีหนทาง และคิดว่าตอนนี้กำลังขับเคลื่อนอยู่ด้วย ไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับปาเลสไตน์ที่อยู่ภายใต้ความสูญเสีย เราไม่ควรรีบประณามเหตุการณ์นี้” จรัญกล่าว
ขณะที่โกวิทกล่าวเสริมประเด็นเดียวกันว่า หากจะเป็นห่วงน่าจะเป็นห่วงชาวอเมริกันกับอิสราเอลมากกว่า เพราะน่าห่วงกว่าคนไทยแน่ๆ ส่วนคนไทยมีอยู่จำนวนมาก เมื่อจับได้ก็จับไปด้วย ส่วนเรื่องการไปรับคนไทยกลับมานั้น ตนเห็นใจ เพราะการที่จะส่งคนไปรับเลยยังไม่ปลอดภัย หากบนน่านฟ้าเจอจรวดจะทำอย่างไร จู่ๆ เราจะบินเข้าไปเลยมันทำไม่ได้
ท้ายสุดโกวิทให้ความเห็นเกี่ยวความยืดเยื้อของสงครามฮามาสกับอิสราเอลว่าอาจยืดเยื้อนานเป็นเดือน เพราะมีการระดมพลเป็นแสน หากลุยเข้าไปในปาเลสไตน์คนต้องตายเป็นจำนวนมาก
ส่วนจรัญเป็นกังวลว่า หากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ไม่เข้าไปแสดงปฏิกิริยาว่ามีส่วนร่วมอย่างแท้จริงอย่างออกหน้าออกตา ตนคิดว่าไม่อาจกลายเป็นสงครามขนาดใหญ่ แต่จะยุติเร็วหรือช้านั้นมีประวัติศาสตร์ผ่านมาแล้ว บางครั้งอาจเป็นเดือนหรือระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งตัวประกันเองก็มีส่วนในการที่อิสราเอลจะถล่ม ซึ่งผ่านมา 4 วัน การสูญเสียยังอยู่ที่ 1,000-2,000 ราย ไม่ใช่การสูญเสียวันละ 1,000-10,000 ราย จึงต้องรอดูว่าสถานการณ์สงครามระหว่างฮามาสกับอิสราเอลจะจบลงแบบไหน