เฉพาะในปีนี้ (เดือนตุลาคม 2022) ที่สหรัฐอเมริกามีเหตุกราดยิงไม่ต่ำกว่า 300 คดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในประเทศมีอาวุธปืนกระจายอยู่มาก แม้วันนี้สหรัฐฯ จะประกาศยกเลิกการซื้อขายอาวุธปืนอย่างเสรี แต่เราก็ยังพบว่าประชากรอเมริกันมีอาวุธปืนในครอบครอง 5 กระบอกต่อ 1 คน
พีท-พีรพงศ์ เพิ่มแสงงาม หนึ่งในคนไทยที่ปฏิบัติงานใน Los Angeles Police Department (LAPD) ได้ร่วมถ่ายทอดถึงบทเรียนโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญที่พรากชีวิตเด็กที่ไร้เดียงสาไปจำนวนมาก จนนำไปสู่การปฏิวัติ ปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ของตำรวจในสหรัฐฯ
จากบทเรียนราคาแพง ถูกร้อยเรียงออกมาเป็นหลักสูตรเอาตัวรอดฉบับประชาชน และโปรแกรมการฝึกฝนของเจ้าหน้าที่ LAPD 23 ปีที่ผ่านมาถูกพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การสูญเสียนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญย่อมนำมาซึ่งบทเรียนและการเปลี่ยนแปลง
ย้อนกลับไปเมื่อ ‘22 ปีก่อน’ พีท-พีรพงศ์ เพิ่มแสงงาม เจ้าหน้าที่หน่วย Emergency Services Division, Bomb detection K9 ของ LAPD เล่าว่า
ปี 1999 เกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงเทียบเคียงได้กับเหตุภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อุทัยสวรรค์ จังหวัดหนองบัวลำภู เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งที่รัฐโคโลราโด
วันนั้นมีผู้ต้องหา 2 คนบุกเข้าไปในโรงเรียนพร้อมด้วยอาวุธปืนหลายรูปแบบ ทั้งปืนกล ปืนสั้น ปืนยาว หลังเริ่มก่อเหตุเจ้าหน้าที่สายตรวจได้รับแจ้งและเดินทางมาถึงที่โรงเรียนในไม่กี่นาทีต่อมา แต่ขณะนั้น ‘สายตรวจ’ ยังไม่พร้อมสำหรับเรื่องที่เกิดขึ้น ต้องรอหน่วย Special Weapons and Tactics หรือหน่วย SWAT เข้าไปปฏิบัติการ แม้ตลอดเวลาการรอคอยจะมีเสียงปืนดังออกมาอย่างต่อเนื่อง
พีรพงศ์ขยายความว่า สำหรับสายตรวจในสมัยนั้นยังไม่ได้รับการฝึกฝนให้ปฏิบัติภารกิจดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ แน่นอนว่าพอไม่ได้ฝึกจึงไม่กล้าพอ และท้ายที่สุดเหตุวันนั้นมีเด็กเสียชีวิตจำนวน 16 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 20 ราย
หลังเกิดเหตุ ผู้บัญชาการตำรวจของ LAPD ได้สร้างโปรแกรมที่เป็นยุทธวิธีเฉพาะทางให้สายตรวจทุกคนต้องกลับมาฝึกฝนในทุก 2 ปี โปรแกรมนี้เรียกว่า LETAC (Law Enforcement Tactical Application Course)
ซึ่งมีที่มาจากตำรวจอาวุโสท่านหนึ่งของหน่วย SWAT และตัวของพีรพงศ์เองก็ได้เป็นหนึ่งในผู้ดูแล ช่วยฝึกฝนในโปรแกรมนี้ด้วย ซึ่งจุดประสงค์หลักเพื่อเตรียมพร้อมสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตที่ไม่มีใครล่วงรู้
“ถ้าเกิดเหตุกราดยิงขึ้นมาอีก เราจะไม่รอแล้ว แม้แต่สายตรวจจะต้องสามารถบุกเข้าไปได้เพื่อที่จะไปช่วยชีวิตประชาชน สายตรวจต้องสามารถบุกเข้าไปได้ทันที”
พีรพงศ์กล่าวว่า ในส่วนของชาวอเมริกัน สิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้คือ ตำรวจทำทุกอย่างไม่ได้ ฉะนั้นประชาชนต้องช่วยตัวเองให้ได้ เริ่มจากการเป็นหูเป็นตาให้ตำรวจ เรียกว่า Pre Incident Indicators ถ้าพบสิ่งมีพิรุธต้องแจ้งตำรวจทันที และหลักสูตรเอาตัวรอดอย่าง ‘หนี ซ่อน สู้’ จะต้องมีการฝึกอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ
สำหรับหลักสูตรตำรวจ ถ้าเกิดเรื่องนี้จะทำอย่างไร เช่น ตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ที่เหมือนนำสถานีตำรวจมาตั้งใกล้ๆ ที่เกิดเหตุ และจัดการแบ่งสัดส่วนผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้ชัดเจน เพื่อป้องกันความผิดพลาดและวุ่นวาย
สำหรับประเทศไทย ช่วงหลังเหตุการณ์ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ หลายคนอาจเริ่มได้ยินกับคำว่า ‘หนี ซ่อน สู้’ ในส่วนนี้เราได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจากสหรัฐฯ โดย พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ได้ไปดูงานที่ LAPD ตั้งแต่ช่วง 4-5 ปีก่อน ที่เมืองซานฟรานซิสโก
เมื่อเสรีภาพที่ประชาชนได้รับ อาจหวนกลับมาทำร้ายพวกเขาได้ทุกเมื่อ
“เฉพาะปีนี้มีคดีกราดยิงไม่ต่ำกว่า 300 คดี ไม่ใช่แค่โรงเรียน แต่ในที่สาธารณะก็มีคนเข้าไปยิง”
พีรพงศ์กล่าวว่า เหตุกราดยิงที่สหรัฐฯ เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ปัญหาหลักเกิดจากที่ในประเทศมีอาวุธจำนวนมาก มากเสียจนเป็นปัญหากับตำรวจ นั่นก็เพราะสหรัฐฯ มีรัฐธรรมนูญที่สอง ‘Right to Bear Arms’ หรืออิสรเสรีในการพกปืน
ถ้าถามว่าเรื่องนี้แก้ได้ไหม ‘แก้ไม่ได้’ พีรพงศ์อธิบายว่า ถ้าสหรัฐฯ จะสั่งห้ามการซื้อขายอาวุธปืนพรุ่งนี้ สั่งห้ามทุกคนซื้อปืน เรายังพบว่าชาวอเมริกันยังคงมีอาวุธเฉลี่ย 5 กระบอก ต่อ 1 คนอยู่ดี
พีรพงศ์ยกตัวอย่าง การแก้ปัญหาการซื้อขายปืนจากทางภาครัฐ เช่น ในรัฐแคลิฟอร์เนีย แมกกาซีนปืนจะเปลี่ยนจากที่บรรจุได้ทีละ 15 นัด ให้เหลือเพียง 10 นัด เป็นการตัดโอกาสแทนที่จะยิงรัว 15 นัด และในช่วงเปลี่ยนแมกกาซีนก็หวังว่าเจ้าหน้าที่หรือตำรวจจะเข้าไประงับเหตุได้ ทั้งนี้ การซื้อปืนแม้จะทำได้แต่ก็ไม่ได้ง่าย เพราะผู้ซื้อจะต้องผ่านการตรวจสอบข้อมูลส่วนตัว ประวัติอาชญากรรม อย่างน้อย 10 วันถึงจะได้รับการอนุมัติ
ความสำคัญของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่ต้องป้องกัน-ปราบปรามในเสรีภาพเรื่องปืน
เมื่อสถิติของการเกิดเหตุและค่าเฉลี่ยของอาวุธในประเทศสูงจนเป็นข้อกังวล ฉะนั้นคนที่จะเข้ามาจัดการ ดูแลเรื่องนี้อย่างตำรวจจึงมีบทบาทสำคัญมาก พีรพงศ์กล่าวว่า ที่สหรัฐฯ ถ้าคุณจบโรงเรียนตำรวจมาแล้ว คุณต้องออกปฏิบัติการได้เลย จะไม่มีการนั่งทำเอกสารในสำนักงานเด็ดขาด
นั่นก็เพราะตำรวจ LAPD 1 ราย รัฐบาลต้องเสียเงินในการฝึกอบรมเฉลี่ยคนละ 2 แสนดอลลาร์สหรัฐ ทั้งค่าอาวุธ ค่าเรียน ค่าฝึก จำนวนเงินนี้รัฐต้องจ่ายสำหรับคนคนหนึ่งที่จบออกมา และแม้ว่าคุณจะจบระดับปริญญาตรี โท หรือเอก คุณต้องเป็น Police Officer (สายตรวจ) เพราะงานสายตรวจคือหัวใจของตำรวจ ทุกคนต้องทำอย่างน้อย 2 ปี จากนั้นจึงขยับขยายได้
ก่อนเข้าตำรวจจะมีขั้นตอนทั้งสอบสัมภาษณ์ สอบสมรรถนะ สอบประวัติ นอกจากตรวจว่าผู้สมัครเคยมีคดีความ เคยเป็นคนเกเรหรือไม่ จะต้องตรวจประวัติครอบครัว รวมทั้งประวัติสุขภาพจิตด้วย เพราะถ้ามีใครในครอบครัวมีอาการทางจิต จะสันนิษฐานว่าโรคนั้นอาจเป็นกรรมพันธุ์
“ตำรวจถือปืนแล้วไปยิงกราดคน วันหนึ่งมีอาการทางจิตขึ้นมา กรมตำรวจจะโดนฟ้องร้องเต็มที่หลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐ”
สุขภาพจิตของตำรวจเป็นเรื่องสำคัญ พีรพงศ์กล่าวว่า ที่สหรัฐฯ ตำรวจมีความเครียดจำนวนไม่น้อยกว่าที่ไทย ตัวเลขตำรวจตัดสินใจจบชีวิตตัวเองก็มีมาก อย่าคิดว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศเจริญแล้วไม่มี ตำรวจเห็นมาเยอะ เห็นความทุกข์ของประชาชน เห็นศพ เห็นสิ่งที่สังคมไม่เคยเห็น ตำรวจจะเห็น
ที่ LAPD มีนักจิตวิทยา หน่วยดูแลรักษาสภาพจิตใจเฉพาะ เช่น ถ้าคุณยิงผู้ร้าย หรือต่อสู้ผู้ร้ายจนเสียชีวิต หลังเกิดเหตุคุณจะกลับทำงานไม่ได้ คุณต้องไปหาหมอก่อน เพื่อให้หมอรักษาและยืนยันความปกติ หรือถ้าตำรวจเริ่มมีภาวะซึมเศร้า จะมีแอปพลิเคชันที่ติดต่อหน่วยงานได้ทันที
“ผมเองที่กำลังจะเกษียณในอีก 3 เดือนข้างหน้าก็ต้องไปพบหมอ พูดคุยรับการดูแล เพราะการเป็นตำรวจ เราเป็นผู้ช่วยเหลือมาตลอด วันหนึ่งที่หยุด เราอาจจะเป็นซึมเศร้าได้ เข้าใจง่ายๆ ว่า ถ้าคุณเป็นซูเปอร์แมนมาตลอดชีวิต วันหนึ่งคุณต้องหยุด โลกทั้งใบมันคงจะเงียบน่าดู”
กว่าจะเป็นตำรวจที่สหรัฐฯ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกคนจะผ่านการตรวจอย่างละเอียดถึงเครดิตการเงิน ถ้าเครดิตศูนย์จะเข้าทำงานไม่ได้ เขาจะประเมินทันทีว่าคุณมีสิทธิ์ที่จะคอร์รัปชัน เพราะถ้าคุณไม่รับผิดชอบเครดิตเงินทองคุณ คุณจะมารับผิดชอบชีวิตของประชาชนได้อย่างไร
“แง่ไม่ดีทุกอาชีพมีหมด ไม่ว่าตำรวจไทยหรือสหรัฐฯ แต่จุดมุ่งหมายของตำรวจก็คือช่วยเหลือประชาชน จุดมุ่งหมายของเราคือการเสียสละ”
ปัญหาระหว่างประชาชนกับตำรวจที่สหรัฐฯ มีไม่น้อยไปกว่าที่ไทย พีรพงศ์กล่าวว่า ที่สหรัฐฯ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องการเหยียดสีผิว ตำรวจจะถูกมองว่าปฏิบัติกับคนผิวสีไม่เหมาะสม ใช้ความรุนแรง ทำเกินกว่าเหตุ ส่วนนี้ก็ต้องยอมรับว่าตำรวจบางคนก็มีความคิดแบบนั้น
แต่ทั้งนี้ไม่อยากให้ทุกคนมองตำรวจในแง่ไม่ดี แง่ดีตำรวจเองก็ทำมาเยอะ ตำรวจเสียสละเยอะ ไม่ว่าคุณจะมองตำรวจอย่างไรก็ตาม เราเสียสละจนบางทีเราอาจจะต้องเสียชีวิต เช่น งานของตนที่เข้าไปค้นหาระเบิด เราไม่รู้เลยว่าวันนั้นจะเป็นวันที่…หรือไม่ เพราะมันเสี่ยงมาก
การปฏิรูปตำรวจ พีรพงศ์กล่าวว่า สหรัฐฯ เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะสหรัฐฯ หรือไทย ตนมองว่าตำรวจเหมือนกับระบบเศรษฐกิจ ที่สหรัฐฯ อาจจะปฏิรูปอยู่บ่อยครั้ง แต่เป็นระดับไมโครไม่ใช่แมคโคร ซึ่งโลกเราเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด จึงปฏิเสธไม่ได้ว่างานตำรวจก็ต้องเปลี่ยนแปลง
ในฐานะที่ตัวเองเป็นตำรวจ ต้องอยากให้ประชาชนปลอดภัย ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราที่เป็นผู้ปกป้องต้องสามารถดูแลประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“งานตำรวจบางทีช่วงเสี้ยววินาที คุณต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร สิ่งที่เป็นตำรวจยากที่สุดคือปฏิภาณ ไหวพริบ เสี้ยววินาทีเดียวจริงๆ ที่อาจเปลี่ยนอะไรได้หลายอย่าง”